ออมเงินสไตล์ฟรีแลนซ์

“ฟรีแลนซ์” อาชีพที่คนภายนอกมองว่า ทำงานสบาย รายได้งาม ไม่ต้องตอกบัตรเช้าเย็น เป็นนายตัวเอง จะลาพักร้อน หรือลากิจ ลาป่วยก็ไม่ต้องรอใครอนุมัติ

หากมองเพียงเท่านี้อาชีพฟรีแลนซ์น่าจะเป็นอาชีพในฝันของทุกคนเลยก็ว่าได้ แต่หารู้ไม่ว่าข้อจำกัดของการเป็นฟรีแลนซ์คือ “รายได้ที่ไม่แน่นอน”

เมื่อความไม่สม่ำเสมอของรายได้ เป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นการบริหารเงินให้เป็น จึงเป็นการป้องกันสภาวะเงินขาดมือเวลางานไม่เข้าที่ฟรีแลนซ์ทุกคนต้องรู้

ถ้าคุณคือหนึ่งในฟรีแลนซ์ที่กำลังประสบปัญหาสภาพการเงินย่ำแย่ หรือคนที่กำลังจะผันตัวเองมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว แต่แอบกลัวว่าจะประสบปัญหาการเงิน เรามีวิธีบริหารเงินออมสไตล์ฟรีแลนซ์ที่จะช่วยให้คุณร่ำรวยเวลาและร่ำรวยเงินออมอย่างแท้จริง

 

ปฎิวัติความคิด “รายได้ไม่มั่นคงจึงไม่ออม”
การออมเงินไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีเงินมากเท่าไรถึงจะออมได้ ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไร ทำอาชีพอะไรก็สามารถออมได้ทั้งนั้นในจำนวนเงินเท่าไรก็ได้ที่คุณสามารถบริหารจัดการได้ เพียงแต่ต้องออมอย่างสม่ำเสมอและทำให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ยิ่งต้องวางแผนการออมและรัดกุมค่าใช้จ่ายให้มากกว่าคนที่ทำงานประจำ จงบอกตัวเองไว้เสมอว่า ต่อให้คุณหาเงินมาได้มากเท่าไร ง่ายเท่าไร แต่ถ้าไม่รู้จักออมเงินสักวันเงินก็หมด รู้เช่นนี้แล้วเริ่มต้นออมเดี๋ยวนี้เลย

ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง
ในเมื่อคุณต้องการเป็นนายตัวเอง ก็จงตั้งเงินเดือนให้ตัวเองเสียเลย เริ่มจากลิสต์ค่าใช้จ่ายต่อเดือน เช่น ค่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่ารถ ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายต่อวัน ค่าชอปปิง รวมเป็นเงิน 20,000 บาท คุณก็ให้เงินเดือนตัวเอง 25,000 บาท จากนั้นในแต่ละเดือนเมื่อคุณมีรายได้เข้ามาจงกันเงินส่วนหนึ่งเป็นเงินเดือนให้ตัวเองและนำอีกส่วนเป็นเงินออม เช่น รายได้ต่อเดือนของคุณประมาณ 50,000-60,000 บาท จ่ายเงินเดือนให้ตัวเอง 25,000 บาท เงินที่เหลือทั้งหมดคือเงินออม และเลือกเอาเงินไปออมไว้กับธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงๆ แบบที่ฝากเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ใช่ฝากประจำ เพราะแน่นอนว่ารายได้เราอาจไม่เท่ากันทุกเดือน บางเดือนอาจเหลือเก็บมาก บางเดือนอาจเหลือเก็บน้อย แต่ถ้าเราเลือกออมกับบัญชีที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าก็จะช่วยให้เงินที่ออมไว้งอกเงยเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งการที่คุณจะทำข้อนี้ได้จะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง อย่าใจดีจ่ายโบนัสให้ตัวเองทุกเดือนล่ะ ถ้าเผลอเมื่อไรท่อง 3 คำนี้ให้ขึ้นใจ “ออม ก่อน ใช้”

จดทุกรายละเอียด
เมื่อคุณจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การจดรายรับ รายจ่ายอย่างละเอียดทุกวันเพื่อจะได้เห็นถึงนิสัยการใช้เงินของตัวเอง คุณอาจไม่เคยรู้ว่าแต่ละเดือนคุณจ่ายค่ากาแฟเวลาไปนั่งทำงานในคาเฟ่เก๋ๆ เท่าไร หรือหมดเงินไปกับเสื้อผ้าที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใส่มากแค่ไหน ในส่วนของรายรับใครที่มีเงินเข้าหลายทาง การจดบันทึกอย่างละเอียดจะช่วยให้เตือนให้คุณทราบว่าได้รับเงินจากบริษัทไหนแล้ว เช่น บริษัท A จ่ายเงินทุกวันที่ 15 บริษัท B จ่ายเงินทุกวันที่ 20 เป็นต้น

ลด ละ เลิก ก่อหนี้
ไม่ว่าจะเป็นหนี้ระยะสั้น เช่น บัตรเครดิต หนี้จากการหยิบยืมคนใกล้ตัว ไปจนถึงหนี้ระยะยาว เช่น การซื้อที่อยู่อาศัย ซื้อรถยนต์ เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่า รายได้จะเข้ามามากน้อยแค่ไหน และจะยั่งยืนยาวนานพอจะนำมาผ่อนชำระหนี้สิน (กองโต) ได้หรือไม่ แต่อย่าพึ่งน้อยใจไปว่าฟรีแลนซ์จะมีทรัพย์สินไม่ได้ มีได้..เพียงแต่ต้องวางแผนการใช้จ่ายเงินล่วงหน้า และมีแบบแผนการเงินชัดเจน เริ่มต้นจากเรื่องง่ายๆ อย่างการวางแผนการชอปปิงอย่างไรไม่ให้งบบานปลาย

เช่น กำหนดวงเงินในการชอปปิงให้ชัดเจน และคิดก่อนชอปทุกครั้งว่าของที่เราต้องการจำเป็นจริงๆ หรือเราแค่อยากได้ หรือบางครั้งคุณจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิต ต้องมั่นใจว่าเมื่อถึงกำหนดจะมีเงินสดเพียงพอชำระยอดเต็มจำนวนเพื่อจะได้ไม่ต้องมีภาระดอกเบี้ยตามมา เมื่อวินัยการเงินของคุณเริ่มแข็งแกร่ง หากต้องเผชิญหน้ากับสินทรัพย์ชิ้นใหญ่คุณจะวางแผนจัดการหนี้สินได้อย่างง่ายดายขึ้น เช่น เมื่อคุณต้องการซื้อบ้านและจำเป็นต้องยื่นกู้ ซึ่งฟรีแลนซ์มักประสบปัญหาไม่ผ่านการพิจารณา

แต่จริงๆ แล้ว หากคุณมีวินัยในการเก็บออม การยื่นกู้แบงก์ไม่ใช่เรื่องยาก เช่น คุณจะต้องมีเงินในบัญชีคงเหลือมากกว่าเงินที่ขอกู้เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ เช่น หากคุณต้องการกู้เงินวงเงิน 2 ล้านบาท คุณจะต้องมีเงินเก็บไว้ในธนาคารมากกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดเงินที่มีประวัติการฝากอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณมีรายได้ที่แน่นอน และมีความรับผิดชอบมากพอ รวมถึงมีเงินเย็นมากพอให้แบงก์อุ่นใจสำหรับชำระหนี้ วิธีนี้นอกจากจะได้สินเชื่อแล้วยังได้ดอกเบี้ยมาอีกก้อน เอกสารอีกอย่างที่จะช่วยให้สินเชื่อผ่านคือ

ประวัติการเงินในบัญชีที่มีการเคลื่อนไหว 1 ปีขึ้นไป หมายถึงยอดเงินเข้าในบัญชีแต่ละเดือนอย่างสม่ำเสมอ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคุณต้องมีวินัยในการออมเงิน เพราะผลของการออมจะทำให้คุณกลายเป็นคนมีเครดิตที่ดี

 

สร้างหลักประกันให้ตัวเอง
เงื่อนไขอีกอย่างที่ฟรีแลนซ์ต้องยอมรับคือ ไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย เและคุณคงไม่อยากนำเงินเก็บมาเป็นค่ารักษาพยาบาล การแบ่งเบาภาระในอนาคตอย่างหนึ่งคือ การทำประกันชีวิต ปัจจุบันประกันมีให้เลือกหลายแบบ ทั้งแบบเป็นประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ หรือเลือกทำแบบสะสมทรัพย์เพื่อชีวิตในบั้นปลาย และยังนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
เปลี่ยนชีวิตทุกด้านให้เป็นอิสระ
ถ้าใครยังมีความเชื่อว่าจะรวยได้ต้องหาเงินเก่งเท่านั้น คุณจะต้องเหนื่อยกับการหาเงินไปตลอดชีวิต เพราะคนที่จะเป็นอิสระทางการเงิน หรือมีเงินมากพอโดยไม่ต้องดิ้นรนให้เหนื่อยกาย คือคนที่รู้วิธีการออมเงินต่างหาก โดยเฉพาะฟรีแลนซ์ที่ฝันจะมีอิสระภาพทางการเงินควรจะมองหาช่องทางที่จะช่วยให้เงินของคุณงอกเงย โดยที่คุณยังมีอิสระในการใช้ชีวิตและมีความสุขกับการใช้จ่ายเงินที่คุณสามารถบริหารทุกขั้นตอนการเงินได้ด้วยตัวคุณเอง

และหากจะวางแผนการออมเงินก็ควรจะเลือกสถาบันการเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงต่ำ และมีสภาพคล่องสูง อย่างเช่น การทำธุรกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่เป็น Self Service Banging เช่น ME by TMB ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าออมทรัพย์ทั่วไปถึง 5 เท่า ไม่ต้องเสียเงินไปกับค่าธรรมเนียมโอน ฝาก ถอน ผ่านทางเว็บไซต์หรือ Call Center ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ถือเป็นความสะดวกสบายนอกเหนือจากการทำธุรกรรมออนไลน์พร้อม SMS แสดงความเคลื่อนไหวของบัญชีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังอัพเดตยอดเงินในบัญชีได้ตลอดเวลา เป็นการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ที่จะทำให้เงินออมของคุณเพิ่มค่าลงตัวเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานอิสระจริงๆ และมีค่าเท่ากับเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพในอนาคต

… อย่าลืมนะคะ “เงินที่ประหยัดได้คือเงินออมที่งอกเงยนั่นเอง”

 

รัชดา เสริมศิลปกุล ผู้อำนวยการการตลาดและผลิตภัณฑ์ ME