อินเดีย น้ำมันพืชเริ่มขาดตลาด!! หลังสถานการณ์ตึงเครียด ทำยูเครนส่งออกชะงัก คาดทางเปิดน้ำมันไทย พุ่งเป้าครองอันดับหนึ่งส่งออกอินเดีย

ความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทั่วโลกก็ไม่สามารถหนีพ้นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ โดยหนึ่งในนั้นคือ อินเดีย ประเทศที่มีปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชสูง และพึ่งพาการน้ำเข้าน้ำมันพืชเป็นหลัก โดยเฉพาะจากยูเครน และรัสเซีย แต่ด้วยสถานการณ์ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้การค้าน้ำมันพืชในเวลานี้ เรียกได้ว่ากำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤต และอาจทำให้ผู้ค้าในอินเดียต้องแบกรับกับผลกระทบที่ตามมา

 

อินเดีย ถือเป็นประเทศที่มีปริมาณการบริโภคน้ำมันสำหรับประกอบอาหารมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยน้ำมันที่ชาวอินเดียนิยมบริโภคมากที่สุด คือ น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมัสตาร์ด และน้ำมันดอกทานตะวัน ตามลำดับ

 

โดยน้ำมันพืชที่อินเดียนำเข้าจากยูเครน และรัสเซียมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 72% และ 13% ของการนำเข้าทั้งหมด ตามลำดับ คือ น้ำมันดอกทานตะวัน 

 

ซึ่งชาวอินเดียบริโภคน้ำมันดอกทานตะวันราว 2.5 ล้านตันต่อปี แต่กลับสามารถผลิตน้ำมันดอกทานตะวันภายในประเทศได้เพียง 50,000 ตันต่อปีเท่านั้น ทำให้กว่า 90% ของการนำเข้าน้ำมันดอกทานตะวันนั้นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากยูเครน และรัสเซีย 

 

รวมถึงพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันประเภทอื่น ๆ สำหรับบริโภคมากกว่า 60% โดยในปี 2021 อินเดียนำเข้าน้ำมันเพื่อบริโภคราว 13.2 ล้านตันโดยเป็นน้ำมันดอกทานตะวัน ราว 2-2.2 ล้านตัน มากเป็นอันดับ 2 รองจากการนำเข้าน้ำมันปาล์ม

 

โดยตัวเลขปีงบประมาณ 2019-2020 อินเดียนำเข้าน้ำมันดอกทานตะวันราว 2.5 ล้านตัน และปีงบประมาณ 2020-2021 อินเดียนำเข้า 2.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1.89 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ และ 1.96 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ตามลำดับ

 

อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่าจาก สมาคมผู้ผลิตน้ามันพืชแห่งอินเดีย ระบุว่า อินเดียจะมีแนวโน้มความต้องการบริโภคน้ำมันดอกทานตะวันจากยูเครนเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2022 นี้อาจบริโภคมากถึง 1.5-2 แสนตัน 

 

ซึ่งหากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังคงยืดเยื้อ และทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นไปได้ว่าผลกระทบที่มาจะดันราคาน้ำมันดอกทานตะวัน และราคาน้ำมันเพื่อบริโภคอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยอินเดียอาจต้องทำแผนสำรองในการมองหาประเทศคู่ค้าอื่น ๆ เพื่อนำเข้าน้ำมันประเภทอื่นทดแทน

 

ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติ ยูเครนสามารถผลิตเมล็ดทานตะวันได้ราว 17 ล้านตันต่อปี และรัสเซียสามารถผลิตได้ 15.5 ล้านตัน ปัจจุบันมีรายงานว่า ยูเครนไม่ได้ส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันมายังอินเดียเ นับตังแต่เดือนกุมภาพันธ์หลังเกิดสงครามความขัดแย้ง

 

ทางด้านตลาดส่งออกน้ำมันของไทย อินเดีย ถือตลาดส่งออกน้ำปาล์มอันดับหนึ่งของไทย โดยรายงานจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2021 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มให้อินเดียมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นสัดส่วน 78% มูลค่ากว่า 165 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบในช่วงเวลา ซึ่งถึงแม้ภาพรวมการส่งออกนั้นไทยจะได้รับผลกระทบไม่น้อย แต่อินเดียถือว่ายังอัตราการบริโภคที่ขยายตัวสวนกระแสโลก 

 

ทั้งนี้ยังมีปัจจัยบวกมาจากการลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าน้ำมันปาล์มภายใต้ความตกลงการค้าเสรี อาเซียน –อินเดีย (AIFTA) ว่าด้วยเรื่อง การทยอยลดภาษีนำเข้าสินค้าน้ำมันปาล์มให้กับประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันลดลงมาอยู่ร้อยละ 37.5 – 45 จากเดิมร้อยละ 80-90 รวมไปถึงลดอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ จากเดิมร้อยละ 37.5 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 27.5 

 

ซึ่งมาตรการดังกล่าวถือแรงช่วยให้การส่งออกน้ำมันปาล์มของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกทั้งปีระหว่างปี 2562 และปี 2563 ถือว่ามีอัตราการขยายตัวที่ดี เพิ่นขึ้น 18.69% 

 

ทั้งนี้ในอนาคต ความต้องการน้ำมันพืชของผู้บริโภคชาวอินเดียยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และไทยถือว่ามีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และมีศักยภาพการผลิตน้ำมันปาล์มได้อย่างครบวงจร ทั้งในด้านการผลิตอุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) ที่สามารถผลิตวัตถุดิบได้เอง มีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบ และโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ซึ่งสามารถแปรรูปน้ำมันปาล์มในขั้นตอนอุตสาหกรรมกลางน้ำ (Midstream) รวมถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ (Downstream) 

 

ซึ่งถ้าหากไทยยังสามารถคงมาตรฐาน และมีการพัฒนาเพิ่มศักยภาพการผลิตไปได้ต่อเนื่อง ประกอบกับแผนสำรองที่อินเดียกำลังมองหาน้ำมันพืชประเภทอื่นทดแทน การส่งออกน้ำมันปาล์มจากไทยให้กับอินเดีย ก็คงเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่จะเพิ่มยอดการส่งออกน้ำมันปาล์มให้กับอุตสาหกรรมไทย

 

 

 

ข้อมูล ditp / กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ / worldometers