อาหารแช่แข็งใน ‘อิตาลี’ กำลังบูม!! แนะผู้ประกอบการไทยตีตลาดส่งออกเพิ่ม แต่ต้องปรับกลยุทธ์ เน้นสะอาด ปลอดภัย ใช้มาตรฐานสูง

การบริโภคอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโควิด-19 ทำให้ในหลายประเทศมียอดขายอาหารแช่แข็งเติบโตดีขึ้น เพราะผู้บริโภคจะกักตุนสินค้า ลดการออกจากบ้านให้มากที่สุด

โดยเฉพาะในอิตาลี ข้อมูลในปี 2563 ชาวอิตาเลียนบริโภคอาหารแช่แข็งเพิ่มขึ้นสูงมากในระหว่างการแพร่ระบาด เพราะส่วนใหญ่ใช้ชีวิตในบ้าน ทำให้อาหารแช่แข็งกลายเป็นสิ่งสำคัญของผู้บริโภคชาวอิตาเลียน

มีข้อมูลจาก ‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ เปิดเผยตัวเลขการบริโภคอาหารแช่แข็งของชาวอิตาเลียนเพิ่มขึ้น 5.5% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีปริมาณการจำหน่ายรวมทั้งสิ้น 896,034 ตัน และเป็นการบริโภคต่อหัวที่ 15.1 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยต่อปีมูลค่าตลาดเป็นที่คาดการณ์อยู่ที่ประมาณ 4.4-4.7 พันล้านยูโร (ราว 172,584.71 ล้านบาท)

ที่นี้มาดูข้อมูลการค้าระหว่าง ไทย-อิตาลี กันสักหน่อย ในช่วงเดือนมกราคา-มิถุนายน ที่ผ่านมาพบว่ามูลค่าส่งออกโดยรวมของไทยไปอิตาลีฟื้นตัวขึ้นมาที่ 29,690.93 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2563 มีมูลค่า 22,099.23 ล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัวได้ถึง 34.35%

และ 10 อันดับสินค้าที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดมีดังนี้
– เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ สัดส่วน 14.40%
– รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สัดส่วน 9.99%
– ผลิตภัณฑ์ยาง สัดส่วน 7.68%
– อาหารสัตว์เลี้ยง สัดส่วน 6.73%
– หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ สัดส่วน 5.58%
– รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ สัดส่วน 5.27%
– อัญมณีและเครื่องประดับ สัดส่วน 5.07%
– ยางพารา สัดส่วน 4.92%
– ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง สัดส่วน 3.74%
– เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สัดส่วน 3.36%

จะเห็นว่าสินค้าที่ไทยส่งออกไปยัง อิตาลี หนึ่งในนั้นมีอาหารแช่แข็ง และอาหารทะเล เป็นสินค้าอันดับที่ 9 ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาดในอิตาลีที่เติบโตขึ้น

ที่นี้มาดูข้อมูลการส่งออกเฉพาะส่วนของ ปลาหมึก มีชีวิต สด แช่เย็น แช่แข็ง ในช่วงเดือนมกราคา-มิถุนายน กันบ้าง โดยพบว่าที่ผ่านมาพบว่ามูลค่าส่งออกฟื้นตัวขึ้นมาที่ 1,297.42 ล้านบาท จากปี 2563 มีมูลค่า 786.58 ล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัวได้ถึง 64.94%

#แนวโน้มอาหารทะเลสดใสในอิตาลี
และในประเภทสินค้าใน อิตาลี ที่ถูกมองว่ามีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมาก ก็คือ อาหารทะเล โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ถึง 18% เนื่องจากเป็นอาหารที่ได้รับการพิจารณาว่าปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และมีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะปลาชุปเกล็ดขนมปังหรือชุบแป้งทอด ซึ่งเติบโตขึ้น 30.1%

#ตัวเลขเศรษฐกิจอิตาลีเริ่มฟื้น
และเมื่อดูข้อมูลเศรษฐกิจ และโอกาสเติบโตของผู้ประกอบการไทยไปยังตลาดอิตาลี พบว่า ปัจจุบัน (ข้อมูลล่าสุด 3 สิงหาคม 2564) อิตาลี เริ่มมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 68,916,310 โดส

โดยมีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดส (Fully Vaccinated) แล้วทั้งหมด 54.1% (เทียบกับไทยตอนนี้มีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสเพียง 5.5% เท่านั้น) ทำให้เห็นว่าอีกไม่นานชาวอิตาเลียนจะได้ฉีดวัคซีนครบทั้งประเทศ

และการฉีดวัคซีนครบทั้งประเทศนั้น ในอีกมุมหนึ่งอาจจะมองว่า หากคนใช้ชีวิตได้เป็นปกติอาหารแช่แข็งอาจถูกลดปริมาณบริโภคลง แต่เชื่อว่า การเข้ามาของโควิด-19 ก็ได้เข้ามาทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวร

คือคนจะเลือกซื้ออาหารที่ปลอดภัย สะอาด และไว้ใจได้ และองค์กรต่างๆ จะปรับเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านมากขึ้น (ลดต้นทุนของบริษัท) นอกจากนี้หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ก็จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อยอดขายในท้ายที่สุด

นอกจากนี้ อิตาลี เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับ 4 ในยุโรป ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอิตาลีมีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 66 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ GDP ต่อหัว (GDP per Capita) อยู่ที่ประมาณ 30,000 ยูโร (ราว 1,177,011 บาท) โดยข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรของอิตาลีนั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และมีการคาดการณ์ตัวเลข GDP ปีนี้ของอิตาลีโดย Standard&Poor’s ว่าจะมีการเติบโตอยู่ที่ 4.9% ทำให้อิตาลีเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมาก

#ทิศทางอาหารแช่แข็งไทยโตแรง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มองทิศทางการส่งออกอาหารแช่เยือกแข็งในปี 2564 ของไทย ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี มีการวางเป้าหมายการส่งออก 140,256.75 ล้านบาท (เติบโตราว 2%)

โดยมองว่าที่ผ่านมาถึงไทยจะเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนกระทบการสั่งซื้อ แต่ล่าสุด ไทยได้ยกระดับกระบวนการผลิต ด้วยการออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นกับคู่ค้าทั่วโลก

ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ ผู้ประกอบการ ผู้ผลิต และการจัดส่งวัตถุดิบจากเรือ ท่าเรือ เพิ่มความเข้มข้นในการลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ และภารชนะบรรจุ เป็นไปตามมาตรฐาน GMP

และประเทศที่นำเข้าอาหารแช่เยือกแข็งจากไทยมากที่สุด ในปัจจุบัน คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อียิปต์ แคนาดา (อิตาลี ยังไม่ติดอันดับ)

ดังนั้น เราจึงมองว่า ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะขยายตลาดไปสู่อิตาลี มากขึ้น ทั้งจากสินค้าอาหารแช่แข็งของไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารแช่แข็งในอิตาลี ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงก็จะเป็นช่องทางสำหรับการส่งออกของไทยได้มากขึ้น

แต่ผู้ประกอบการในไทยเองต้องเน้นวัตถุดิบที่เป็นจุดแข็งเท่านั้น เช่น อาหารทะเลแช่แข็ง สินค้าอาหารพร้อมทาน รวมถึงต้องเพิ่มมูลค่า (Value) ให้กับสินค้า เช่น ทำบรรจุภัณฑ์ให้ดูดี และการติดฉลากที่ถูกต้องตามข้อกำหนด

ที่สำคัญผู้ประกอบการต้องมีความเข้มงวดในเรื่องของสิทธิแรงงาน เพราะอิตาลี อยู่ในสหภาพยุโรป ที่ได้ให้คำมั่นที่จะให้การเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหัวใจหลักของนโยบายการค้า

และหากไทยตีตลาดอาหารแช่แข็งได้ก็จะส่งผลดีต่อดุลการค้าของไทยไปในตัว โดยข้อมูลล่าสุด เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 ไทยยังขาดดุลการค้ากับอิตาลีอยู่ 199.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6,597.40 ล้านบาท)

ที่มา : https://www.statista.com/topics/5964/key-indicators-of-italy-s-economy/
https://travel.trueid.net/detail/A5GQPOlbYkGX
http://tradereport.moc.go.th/Report/Default.aspx?Report=MenucomTopNCountry&Option=1&Lang=Th&ImExType=1
https://www.tcijthai.com/news/2021/5/current/11629

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC