อะไรจะเกิดขึ้น? เมื่อ ‘ยูโอบี’ ซื้อกิจการลูกค้ารายย่อย ‘ซิตี้กรุ๊ป’

ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ จำกัด ประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีเครือข่ายทั่วประเทศ 149 สาขา (ข้อมูลถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564) ซึ่งอยู่ในกลุ่มธนาคารยูโอบี (ธนาคารชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย มีเครือข่ายระดับโลกที่ประกอบด้วยสำนักงานมากกว่า 500 แห่ง ใน 19 ประเทศและเขตการปกครอง ทั้งในเอเชียแปซิฟิก ยุโรปตะวันตก และอเมริกาเหนือ) ได้เปิดเผยข่าวใหญ่ในวันนี้ (14 ม.ค.2565)

เกี่ยวกับการทำข้อตกลงเพื่อเข้าซื้อกิจการลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ซึ่งจะทำคำเสนอซื้อ ธุรกิจลูกค้ารายย่อย รวมไปถึงสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและมีหลักประกัน ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจเงินฝากรายย่อยรวมไปถึงพนักงานธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป (มีพนักงานประมาณ 5,000 คน)

โดยธุรกิจลูกค้ารายย่อยของซิตี้กรุ๊ป มีสินทรัพย์สุทธิ 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 98,637.24 ล้านบาท) และมีฐานลูกค้าราว 2.4 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564) มีรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 ราว 0.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ .
ซึ่งการเสนอซื้อกิจการนี้จะช่วยเพิ่มกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) และผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) ให้กับธนาคารยูโอบีได้ทันที (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกรรมนี้ในครั้งเดียว) และจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและขยายขอบเขตธุรกิจของธนาคารยูโอบีในอาเซียนได้อีกด้วย

เมื่อเราแบ่งลูกค้ารายย่อยตามภูมิศาสตร์ (Retail Customers by Geography) จะพบกว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้เข้ามาขยายฐานลูกค้าในหลายประเทศ

– ในประเทศมาเลเซีย ลูกค้าจะเพิ่มขึ้น 600,000 ราย รวมเป็น 1.5 ล้านราย
– ในประเทศไทย ลูกค้าจะเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านราย รวมเป็น 2.4 ล้าน
– ในประเทศอินโดนีเซีย ลูกค้าจะเพิ่มขึ้น 600,000 ราย รวมเป็น 1.2 ล้านราย
– ในเวียดนาม จะเปิดการเปิดตลาดใหม่ของธนาคารยูโอบี ด้วยฐานลูกค้าของซิตี้กรุ๊ปจำนวน 200,000 ราย

ซึ่งการขยายไปยัง 4 ประเทศนี้ จะส่งผลให้ภายหลังการซื้อกิจการธนาคารยูโอบีจะมีลูกค้ารายย่อยทั้งหมด 5.3 ล้านราย

และหากเรามองการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มลูกค้าภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการ ด้วยการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามระดับเงินฝาก และ/หรือเงินลงทุนจะพบว่า ธนาคารยูโอบี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก สำหรับกลุ่ม Affluent (กลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง มีเงินฝาก 5-10 ล้านบาท หรือบางแห่ง 10 ล้านบาทขึ้นไป) ซึ่งอยู่บนสุดของยอดพีระมิดจะเพิ่มขึ้น 30,000 ราย รวมเป็น 120,000 ราย

ในลูกค้ากลุ่ม Emerging Affluent (กลุ่มเศรษฐีเกิดใหม่) เพิ่มขึ้น 170,000 ราย รวมเป็น 270,000 รายและกลุ่ม Upper Mass (หรือกลุ่มผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการรุ่นใหม่ ที่มีเงินฝากและเงินลงทุนตั้งแต่ 1 – 5 ล้านบาท) ซึ่งเป็นฐานล่างสุดของพีระมิดจะเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านราย รวมเป็น 4.9 ล้านราย

ซึ่งการเพิ่มเข้ามาของกลุ่มลูกค้า Emerging Affluent และกลุ่ม Upper Mass ที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จะทำให้ธนาคารยูโอบีสามารถต่อยอดไปขยายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้อีกมากมาย เพราะกลุ่มลูกค้า 2 กลุ่มนี้เป็นที่หมายตาของธนาคารหลายแห่งอยู่แล้ว

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ธนาคารยูโอบี จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากฐานลูกค้าที่มีอยู่แล้วของซิตี้กรุ๊ป รวมถึงได้บุคลากรและทีมงานที่มีประสบการณ์เข้ามาร่วมงานทันที (จะคุ้มค่าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับมูลค่าการเข้าซื้อกิจการ และการเติบโตในอนาคต)

โดยจะมีการพิจารณาข้อเสนอเงินสดสำหรับการเสนอซื้อกิจการด้วยการคำนวณจากค่าพรีเมียมรวมซึ่งเทียบเท่ากับ 915 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (22,574 ล้านบาท) บวกกับมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของธุรกิจลูกค้ารายย่อยเมื่อการโอนย้ายกิจการเสร็จสมบูรณ์

ซึ่งการเข้าซื้อกิจการในแต่ละประเทศจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จระหว่างกลางปี 2565 ถึงต้นปี 2567

ที่มา : UOB

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
#Businessplus #ธนาคารยูโอบี #ซิตี้กรุ๊ป