“ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” ผู้ชนะประมูลชุดตรวจโควิด ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก!! หลายฝ่ายแคลงใจ แม้ยืนยันได้มาตรฐาน EU

จากบทความที่เราเคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับเรื่อง “ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยตัวเองเสี่ยงขาดตลาด ยอดติดเชื้อทำดีมานด์พุ่ง ดันราคาสูงเกินจริง หากรัฐคุมพลาด ราคาตลาดมืดมาแน่!” หากใครยังไม่ได้อ่านตามไปอ่านได้ที่ https://www.facebook.com/361785967223979/posts/4177067482362456/?d=n

จากบทความดังกล่าว จะพบว่า 1 ใน รายชื่อ 5 บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า และวางขายให้คนทั่วไปในร้านขายยาได้ คือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด โดยเป็นการนำเข้าและจำหน่าย SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test Kit (Colloidal Gold Immunochromatography) ซึ่งผู้ผลิตคือ Beijing Lepu Medical Technology Co., Ltd. จากประเทศจีน

ซึ่งตอนนี้เกิดประเด็นร้อนแรงขึ้นมา หลังจาก องค์การเภสัชกรรม (GPO) ได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลราชวิถี ให้ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) จำนวน 8.5 ล้านชุด มูลค่าเฉียด 600 ล้านบาท สำหรับให้ประชาชนใช้ตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยกำหนดให้บริษัทผู้จำหน่าย ATK จำนวน 19 บริษัท เข้าร่วมเสนอราคา

และเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ประกาศรายว่า “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ (ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 400 ล้านบาท) ซึ่งจะทำให้ราคาชุดตรวจ ATK เหลือประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว

อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู หลังจากมีรายงานข่าวว่า อย.สหรัฐฯ ได้สั่งระงับใช้ชุดตรวจ เชื้อไวรัสโควิดทั้ง Antigen Rapid Test Kit และ Antibody Rapid Test Kit ของ Lepu Medical Technology ซึ่งเป็นชุดตรวจที่ “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” นำเข้า

นั่นทำให้องค์การเภสัชำรรม ได้ชะลอการทำสัญญาซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ออกไปก่อนและรอผลตรวจสอบคุณภาพโดยละเอียดเพิ่มเติม

และ “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” ได้ออกมาชี้แจงวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ว่า ในประเทศเยอรมนีและอีกหลายประเทศในยุโรป มีการใช้และวางจำหน่าย ชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) ซึ่งผลิตโดย Lepu Medical Technology ประเทศจีน ได้รับใบรับรองจากสมาคมวัคซีนของเยอรมันนีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับรองมาตรฐานจาก EU และมีการใช้งานเป็นจำนวนมาก

ขณะที่ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทำให้ชุดตรวจของตนไม่ผ่าน FDA สหรัฐฯ สาเหตุเป็นเพราะนโยบายกีดกันทางการค้าจีนสมัยโดนัล ทรัมป์ ส่วนกรณีเรียกคืนสินค้าเพราะเป็นสินค้าลักลอบนำเข้า และมีการทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “บริษัทจะมีการแถลงข่าวโดยนักเทคนิคการแพทย์อีกครั้ง”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าว นั้น ยังไม่ทำให้ประชาชนหายสงสัย เพราะเมื่อดูข้อมูลทางการเงิน และผลประกอบการของ “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” แล้ว ต้องบอกว่า บริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยบริษัทมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ซึ่งในปี 2563 ไม่ปรากฏข้อมูลรายได้ แต่กลับพบว่า มีผลขาดทุนสุทธิ 26,501 บาท มีสินทรัพย์รวม 173,970 บาท (-9.14%)

โดยอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อสินทรัพย์รวมมีค่า 28.38 เท่า (ยิ่งสูงยิ่งมีความเสี่ยง เพราะบริษัทจะไม่สามารถกู้ยืมเงินมาใช้ขยายกิจการได้) เท่ากับว่าเราเริ่มเห็นปัญหาสภาพคล่อง

และย้อนกลับไปในช่วงปี 2562 มีรายได้ 2,218 บาท และขาดทุนสุทธิ 41,653 บาท และปี 2561 มีรายได้ 4,501 บาท และขาดทุนสุทธิ 342,804 บาท

นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบข้อมูลของมูลค่าบริษัทพบว่าติดลบ 4.76 ล้านบาท (-95.28% ของทุน) ข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าบริษัทกำลังประสบกับการขาดสภาพคล่อง

โดย คณะกรรมการ “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” ประกอบด้วยบุคคล 3 ราย คือ นางสาวอนาสตาเซีย สวินต์โซว่า ,นายอเล็กเซ่ กอร์ดีนโก และนางสาวภรภัทร จบศรี

ถึงแม้ การเข้าร่วมประมูล และเป็นผู้ชนะในครั้งนี้ จะเป็นผลดี เพราะในปี 2564 ยอดการแพร่ระบาด และยอดติดเชื้อสูงกว่าปี 2563 เป็นเท่าตัว ซึ่ง “ออสท์แลนด์ แคปปิตอล” จะได้รับประโยชน์จากการขายชุดตรวจ ซึ่งจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น หรืออาจจะสามารถพลิกเป็นกำไรสุทธิได้เลยทีเดียว (หลังจากปี 2563 ประสบกับผลขาดทุนสุทธิ)

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นของคุณภาพชุดตรวจ และฐานะการเงินของบริษัทก็ค่อนข้างเป็นสังคมกำลังจับตามอง และเป็นประเด็นลบต่อบริษัทอยู่ในขณะนี้

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : https://www.gpo.or.th/

Photo By Neirfy

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #โควิด-19 #ชุดตรวจโควิด #COVID