อนาคตพลังงานไทย

เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานของผู้คนทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ไม่เว้นแม้กระทั่งเมืองไทย ในขณะที่บ้านเราใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลักราว 70% ของพลังงานรวม แต่อีก 6.5 ปีข้างหน้า แหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศกำลังจะหมดลง และเราต้องนำเข้าพลังงานมากขึ้นกว่าเดิม

ความเสี่ยงครั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ระบุว่า “ไทยจะต้องนำเข้าก๊าซมาผลิตไฟฟ้าด้วยราคาแพงกว่า 2 เท่า”

เพื่อให้อนาคตพลังงานไทยมีความมั่นคง รัฐบาลได้มอบภารกิจให้กระทรวงพลังงานกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานทดแทนจากสัดส่วน 2.73% ในปี พ.ศ. 2558 เป็น 25% ของพลังงานรวม หรือคิดเป็น 19,635 เมกะวัตต์ใน 10 ปีข้างหน้า

จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้ 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลมแบบทุ่งกังหัน และพลังงานชีวมวลในเมืองไทยผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด แจ้งเกิด 37 บริษัทพลังงานทางเลือกที่มีหุ้นเติบโตแบบก้าวกระโดด

หลายบริษัทต่างเสนอแผนธุรกิจไปพลังงานทางเลือก โดยหวังว่าจะสร้างอนาคตที่ดีได้ อาทิ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ. ไทยโพลีคอนส์ ที่เคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างมาก่อน

power_distribution_transmission

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ที่ทำธุรกิจไบโอดีเซลก่อนก็รุกต่อเนื่องกับพลังงานแสงอาทิตย์ ตามด้วย บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่ผันตัวจากผู้จัดจำหน่ายระบบไฟฟ้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างเต็มตัว หรือแม้แต่บริษัท บี.กริม พาวเวอร์ จำกัด ผู้ผลิตไฟฟ้าให้กับนิคมอุตสาหกรรม ยังตัดสินใจปรับแผนธุรกิจขานรับนโยบายรัฐอีกด้วย

มิติของการนำเสนอข้อมูลในนิตยสาร Business+ ฉบับนี้ เราจะได้เห็นแนวโน้มบทบาทของพลังงานทางเลือกที่เด่นชัดมากขึ้น และนั่นย่อมทำให้เกิดมูลค่าของบริษัทที่ลงทุนในธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจพลังงานหลักดั้งเดิมอย่างกลุ่มน้ำมัน โดยเฉพาะบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ นอกจากจะต้องปรับยุทธศาสตร์กันใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าผลกำไรก็มีแนวโน้มจะลดลง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนก็คือ มูลค่าทางธุรกิจของหุ้นกลุ่มนี้ อาจไม่ใช่ขุมทองที่มีมูลค่าเลิศเลอของแบรนด์เกรดหรูเหมือนที่เคยเป็นเช่นในอดีต

แผนสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน โดยกระจายออกไปยังพลังงานทางเลือกอื่น ๆ โดยไม่พึ่ง “วัตถุดิบ” ตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป อาจเป็นทางออกที่ดีในอนาคตสำหรับประเทศไทย

คลิกอ่านคอลัมน์ Cover Story เรื่อง “สายลม แสงแดด อนาคตใหม่ที่ยั่งยืน” ทั้งหมดได้ที่นี่

ขอขอบคุณ ภาพประกอบจาก iqagroup.co.uk