แกะหมายเหตุงบฯ ‘อนันดา’ พบคดีฟ้องร้องอีกเพียบ!! บรรษัทภิบาลระดับ 5 ดาว กลับเจอบทเรียนราคาแพง ‘แอชตัน อโศก’

กลายประเด็นที่ทำให้คนมีคอนโดต้องขวัญผวาไปตามๆ กัน จากข่าว ‘แอชตัน อโศก’ ตึกสีดำสูง 50 ชั้น 783 ยูนิต ใจกลางอโศก มูลค่าโครงการ 6,481 ล้านบาท ได้ถูกศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างที่ออกให้แก่ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ในเครือของ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาด 5,832.75 ล้านบาท

ที่น่าตกใจที่สุดก็คือ คอนโด ‘แอชตัน อโศก’ สร้างเสร็จและโอนกรรมสิทธิ์มีลูกบ้านอยู่มานานเกือบ 4 ปีแล้ว (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564 มียอดขาย 86% และลูกค้ารับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 85%)

ดังนั้น เท่ากับว่า หากทาง อนันดา แพ้คดีความ คอนโดอาจจะต้องถูกรื้อทิ้งจะมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ไล่เรียงมาตั้งแต่ลูกบ้าน หน่วยงานที่เซ็นอนุมัติการก่อสร้างทั้งหมด

ย้อนกลับไปพูดถึงเรื่องของ ‘แอชตัน อโศก’ ก่อนถูกฟ้องกันสักนิด หากจำกันได้จะเห็นว่าคอนโดดังกล่าว มีเรื่องฟ้องร้องมาตั้งแต่ปี 2559 ก่อนสร้างเสร็จเสียอีก เพราะมีปัญหาในเรื่องทางเข้าออกโครงการ และในช่วงนั้นทาง อนันดา ก็ได้มีการเปิดขายพรีเซลล์ไปแล้วบางส่วน

โดยคดีนี้ยังคงต้องหาบทสรุปกันอีกนานเพราะยังเป็นเพียงแค่ศาลชั้นต้นเท่านั้น ต้องรอการอุทธรณ์ ซึ่งกินเวลาอีกนานทีเดียว (3-5 ปี)

แกะหมายเหตุงบฯ พบคดีรอพิจารณาเพียบ!!
และเมื่อเข้ามาดูข้อมูลของ อนันดา โดยดูจากข้อมูลที่ชี้แจงใน ‘หมายเหตุประกอบงบการเงินรวมของไตรมาส 1 ปี 2564’ จะพบว่า อนันดา มีคดีฟ้องร้องสำหรับตัวบริษัทเอง บริษัทย่อย และกิจการร่วมค้าที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคำร้องอยู่ถึง 8 คดีใหญ่ ๆ ด้วยกัน ไม่รวมคดีแอชตัน อโศก และคดีบางส่วน อนันดา ไม่ได้ตั้งสำรองเอาไว้ เพราะมั่นใจว่าจะเป็นผู้ชนะคดีความ

โดยรายละเอียดของคดีความฉบับเต็มนั้น สามารถเข้าไปอ่านได้ที่ https://www.set.or.th/set/newsdetails.do?newsId=16206869262843&language=th&country=TH

และเราจะนำข้อมูลมาสรุปให้ดูโดยย่อกันดังนี้

1. ในปี 2560 ถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการผิดสัญญาเรื่องความชำรุดบกพร่องในอาคารชุดแห่งหนึ่ง เรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวน 133 ล้านบาท ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แก้ไขความชำรุดบกพร่องและลดค่าเสียหายที่ต้องชดใช้เหลือ 46 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ คดีอยู่ระหว่างศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกา (คดีนี้ได้ตั้งประมาณการหนี้สินบางส่วนไว้เรียบร้อยแล้ว)

2. ในไตรมาส 3 ปี 2561 ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 106 ล้านบาท กรณีผู้ฟ้องมองว่า อนันดา ผิดสัญญาและข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เกี่ยวกับการดำเนินการก่อสร้างสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะของโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งได้ทำสัญญาประนีประนอม เป็นจำนวนเงิน 9 ล้านบาท (บริษัทได้ตั้งประมาณการหนี้สินทั้งจำนวนสำหรับผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากคดีดังกล่าวไว้ในงบการเงิน) ปัจจุบัน บริษัทย่อยอยู่ระหว่างปฎิบัติตามคำพิพากษา

3. เมื่อเดือน กรกฎาคม 2562 โครงการอสังหาริมทรัพย์ ไอดีโอ โมบิ พระราม 4 ซึ่งดูแลบริหารโดยบริษัทย่อยของ อนันดา ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีฟ้องร้องในฐานะผู้ร้องสอดผู้ฟ้องคดี ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางโดยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานรัฐจำนวนสองแห่งเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการฯ รวมถึงเพิกถอนรายงานการประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และบริษัทย่อยในฐานะผู้ร้องสอดได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมและแก้คำคัดค้านคำให้การของผู้ฟ้องคดี ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างศาลปกครองแสวงหาข้อเท็จจริง

4. ในระหว่างไตรมาส 4 ปี 2562 ถูกนิติบุคคลอาคารชุด และเจ้าของห้องชุดในโครงการอาคารชุดแห่งหนึ่งเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินรวม 783 ล้านบาท เกี่ยวกับการโฆษณาและเสนอขายห้องชุด โดยบริษัทเชื่อว่าจะไม่ได้รับความเสียหายจากคดีดังกล่าว จึงไม่ได้บันทึกสำรองสำหรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากคดีไว้ในบัญชี ปัจจุบัน (คดีอยู่ระหว่างนัดพิจารณาสืบพยานของศาลชั้นต้น)

5. วันที่ 31 มีนาคม 2564 กลุ่มบริษัทมีคดีฟ้องร้องอื่นอีกหลายคดี ซึ่งมีค่าเรียกร้องความเสียหายรวมเป็นจำนวน 88 ล้านบาท ซึ่งผลของคดีฟ้องร้องบางคดีข้างต้นและคดีฟ้องร้องอื่น ๆ ยังไม่มีข้อสรุป และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของกลุ่มบริษัทในขณะนี้ ดังนั้น กลุ่มบริษัทจึงไม่ได้บันทึกสำรองสำหรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากคดีดังกล่าวไว้ในบัญชี

6. ระหว่างไตรมาส 4 ปี 2562 การร่วมค้า โครงการ เอลลิโอ เดล เนสท์ อุดมสุข ได้ถูกผู้อยู่อาศัยข้างเคียงโครงการจำนวนหลายรายเรียกร้องให้การร่วมค้าและบริษัทก่อสร้างของโครงการจ่ายค่าเสียหายรวมสองคดีเป็นจำนวนเงินรวม 50 ล้านบาท จากผลกระทบจากการก่อสร้าง ทั้งนี้ บริษัทเชื่อมั่นว่าการร่วมค้าจะไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่ได้บันทึกสำรองสำหรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากคดีไว้ในบัญชี ปัจจุบัน คดีอยู่ระหว่างศาลปกครองแสวงหาข้อเท็จจริง

7. ระหว่างไตรมาส 1 ปี 2563 การร่วมค้าแห่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ไอดีโอ พระรามเก้า อโศก ถูกผู้อยู่อาศัยข้างเคียงฟ้องร้องต่อศาลปกครองโดยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานรัฐเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการฯของการร่วมค้า รวมถึงเพิกถอนรายงานการประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการฯ นอกจากนั้น ยังได้เรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนรวม 162 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่ามีโอกาสที่จะชนะคดีได้จึงไม่ได้บันทึกสำรองสำหรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากคดีไว้ในบัญชี ปัจจุบัน (คดีอยู่ระหว่างศาลปกครองแสวงหา ข้อเท็จจริง)

8. ระหว่างไตรมาส 1 ปี 2564 การร่วมค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ไอดีโอ สุขุมวิท-พระราม 4 ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีฟ้องร้อง เนื่องจากผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องและขอให้ศาลเพิกถอนมติให้ความเห็นชอบ EIA ของโครงการฯ และขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้เลื่อนการประชุมพิจารณารายงาน EIA ทั้งนี้บริษัทเชื่อว่ากิจการร่วมค้ามีโอกาสที่จะชนะคดีได้ จึงไม่ได้บันทึกสำรองสำหรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากคดีไว้ในบัญชี ปัจจุบัน (คดีอยู่ระหว่างศาลปกครองแสวงหาข้อเท็จจริง)

จะเห็นว่ายังมีอีกหลายคดี ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และ อนันดา ไม่ได้ตั้งสำรองเอาไว้ ซึ่งไม่ว่าผลสรุปสุดท้ายของแต่ละคดีจะออกมาเป็นอย่างไร แต่การมีข่าวออกมาในครั้งนี้ ก็มีผลกระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์ และจะลามไปกระทบถึงผลประกอบการ (คนไม่กล้าซื้อคอนโด)

มาดูกันที่ข้อมูล CG Report กันบ้าง
ก่อนจะพูดถึงตัวของ อนันดา มาอธิบายถึง CG (CORPORATE GOVERNANCE) ที่เรียกว่า บรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการ เป็นสัญลักษณ์ 3 เหลี่ยมที่มีให้เห็นในเว็บไซต์ Set หรือ Settrade

ซึ่ง CG เป็นการจัดอันดับ ด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตามมาตรฐานสากล

โดยหลักการแล้วบริษัทที่มีคะแนน CG สูง จะทำให้นักลงทุนมั่นใจว่า บริษัทเหล่านี้มีการบริหารงานอย่างเป็นธรรม มีความโปร่งใส ในทุกๆ ด้าน เช่น การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ถือหุ้น ผู้บริหารต้องมีความซื่อสัตย์ ผู้บริหารจะต้องมองถึงผลประโยชน์ของตัวเองและผู้ถือหุ้นอื่นๆ ไปในแนวทางเดียวกัน

‘อนันดา’ ถือเป็นบริษัทที่มีระดับ CG สูงระดับ 5 ดาว ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดด้วยคะแนน 90-100 คะแนน เรียกว่าอยู่ในระดับดีเลิศ (Excellent)

อย่างไรก็ตาม คดีความในครั้งนี้ หากศาลตัดสินว่า ‘อนันดา’ มีความผิดจริง และยิ่งถ้ากรณีเลวร้ายเป็นเรื่องของการติดสินบนล่ะก็!! (แต่ถ้าไม่ใช่ก็ดีไป) อาจจะนำไปสู่การประเมิน CG ใหม่ เพราะอาจจะไปกระทบต่อคะแนนในหมวดที่ 3 ในเรื่องของ ‘การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย’

ในข้อ 1. การจัดทำรายงานความรับผิดชอบทางสังคม

ข้อ 7. ได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับลูกค้าไว้หรือไม่อย่างไร

และข้อ 12. คณะกรรมการมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชั่น และห้ามจ่ายสินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของบริษัท

นอกจากนี้เป็นที่น่าจับตาอีกว่า ในตลาดยังมีคอนโดของผู้ประกอบการรายใดที่จะถูกตรวจสอบหลังจากนี้ และมีหน่วยงานใดที่พัวพันกับเรื่องดังกล่าวอีก? เพราะคดีความครั้งนี้ถือเป็นแรงกระเพื่อมของตลาดคอนโด

และเท่าที่ดูข้อมูลระดับ CG ในตอนนี้ ยังมีบริษัทอสังหาฯ อีกหลายรายที่คะแนนเต็ม 5 ดาว แต่ยังมีคดีที่ยังอยู่ระหว่างรอพิจารณาคดีอีกจำนวนมาก

นอกจากนี้ เป็นที่จับตาว่า เมื่อมีคดีความใหญ่โตขนาดนี้เกิดขึ้น ถึงแม้จะมีการเปิดขาย และเข้าอยู่คอนโดไปแล้วก็ตาม จะทำให้ตลาดคอนโดเปลี่ยนแปลงไปอีกหรือไม่ เพราะเท่าที่รู้น่าจะมีอีกหลายโครงการ และอีกหลายเจ้าที่มีลักษณะเดียวกัน

และหากต้องจบในแบบเดียวกัน ลูกบ้านจะต้องลำบากหาที่อยู่อาศัยใหม่ หรือแม้แต่คนที่ซื้อเพื่อการลงทุน แทนที่จะได้รับผลตอบแทนเป็นราคาคอนโดที่สูงขึ้น ก็อาจจะได้รับการชดเชยเพียงส่วนหนึ่งซึ่งไม่คุ้มค่ากับเงินลงทุน (เท่ากับมีต้นทุนค่าเสียโอกาส นั่นคือ หากลงทุนประเภทอื่นอาจจะได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่า)

ที่มา : http://www.thai-iod.com/imgUpload/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%20CGR%202019-THAI.pdf

SET

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#ANAN #ANANDA #อนันดา #หุ้น #ตลาดหุ้นไทย #SET #อสังหาริมทรัพย์ #คอนโด #แอชตัน #แอชตันอโศก