ห้างยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ แสดงจุดยืนชันเจน!! ต้องการสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุค ‘มิลเลนเนียล’

แนวโน้มตลาดสินค้าเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก ‘บริษัท Nielsen’ ผู้นำด้านข้อมูลการตลาดได้ประมาณยอดขายของตลาดสินค้าเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 150 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564 หรือคิดเป็น 22% ของยอดค้าปลีกรวม

โดยพบว่า 48% ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ มีแนวโน้มเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภครุ่นมิลเลนเนียล หรือ เจเนอเรชัน Y จำนวน 75% มีแนวโน้มเปลี่ยนนิสัยการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือยั่งยืน

และในปี 2565 บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกต่างเร่งดำเนินการตามแผนงานด้านความยั่งยืนกันมากขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหม่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีรายได้สูงถึง 93.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 อย่าง ห้าง Target

โดยห้างฯ แห่งนี้ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในเรื่องของผลกระทบที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และต้องการผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์มีคุณสมบัติยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าไปจำหน่ายในห้างฯ ซึ่ง Target เป็นผู้นำตลาดที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมโลก และได้ตั้งเป้าหมายยุทธศาสตร์ Target Forward ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2564 เพื่อการก้าวไปข้างหน้าแบบความยั่งยืน

ล่าสุด ได้เปิดตัวไอคอนรูปสัญลักษณ์ตัวใหม่ Zero ที่มีความหมายว่า “ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์มีคุณสมบัติความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ซึ่งมีเป้าหมายในการช่วยลดปริมาณขยะที่ใช้เพียงครั้งเดียว Zero ทำให้ผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์รักษ์โลกสามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีความยั่งยืนได้สะดวกขึ้น โดยห้างได้จัดกลุ่มสินค้าภายใต้ไอคอน Zero วางจำหน่ายในห้างและทางออนไลน์บนเวปไซด์ www.target.com

โดยผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ Zero ประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ (Reusable) หรือ นำกลับไปเติมใหม่ได้ (Refillable) เพื่อเป็นการช่วยลดขยะโลก หรือ การลดปริมาณขยะพลาสติก (Reduce Plastic) โดยใช้วัสดุรีไซเคิลทดแทนพลาสติกด้วยการใช้กระดาษ เหล็กอลูมินัม และแก้ว ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์กร Forest Stewardship Council หรือ ผลิตภัณฑ์มีการใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างน้อย 30% หรือการใช้น้ำในปริมาณน้อยในกระบวนการผลิตเพื่อช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยที่สุด หรือเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ง่ายเพื่อช่วยลดปริมาณขยะที่ถูกนำไปฝังกลบ

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้า Zero มีจำนวนหลายร้อยรายการ มีทั้งในกลุ่มของใช้ในบ้านผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผม เครื่องสำอาง Personal Care และผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กแรกเกิด แบรนด์สินค้าที่นำร่อง มีแบรนด์ Pacifica, Plus, Burt’s Bees และในเดือนเมษายนจะมีแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาเพิ่ม และในอนาคตห้างจะขยายไลน์และแบรนด์สินค้าที่อยู่ในกลุ่ม Zero ให้มากขึ้น

โดยได้ตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 บรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ของห้างฯ จะเป็นพลาสติกรีไซเคิลประเภทย่อยสลายและนำกลับไปใช้ใหม่ได้ และภายในปี 2573 ห้างจะใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งสิ้น

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ากระแสความความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาแรงในสหรัฐฯ ห้าง Target เป็นผู้นำตลาดค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในเรื่องของผลกระทบที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม และต้องการผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์มีคุณสมบัติยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้าไปจำหน่ายในห้างฯ

ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิต/ส่งออกไทย ที่จะศึกษา พัฒนา และคิดค้นนวัตกรรมสินค้าใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมในด้านการย่อยสลายได้ การนำกลับมาใช้ใหม่ได้และการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในเรื่องตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้เป็นจุดขายและดึงดูดความต้องการซื้อสินค้า BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของไทย เข้าสู่ห้าง Target เนื่องจาก สินค้า BCG จะเป็นสินค้าคู่ควร มีความเหมาะสมและสามารถสนองตอบความต้องการตามนโยบายของ Target Zero

โดยห้าง Target ดำเนินกิจการมานานกว่า 60 ปี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นคร Minneapolis รัฐ Minnesota มีสาขา 2,000 แห่งทั่วประเทศ และมีสำนักงานในต่างประเทศอีก 20 แห่งทั่วโลก มีแบรนด์สินค้าของตนเองมากกว่า 45 แบรนด์ มีพนักมากกว่า 350,000 คน และมีรายได้ 93.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2563 (ข้อมูลวันที่ 11 มีนาคม 2565) ซึ่งห้าง Target มีสำนักงานจัดหาสินค้า หรือ Target Sourcing Services LLC ประจำประเทศไทยที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดต่อประสานงานโดยตรงกับผู้ผลิตไทย ผู้ผลิต/ส่งออกไทยได้ด้วย

ที่มา : Thai Trade Center-Chicago , retailtouchpoints

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ความยั่งยืน #ESG #สิ่งแวดล้อม