‘สมุนไพร’ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เบนทิศสู่เศรษฐกิจโลก

นาทีนี้อะไรที่ดีต่อสุขภาพ ก็ได้รับความสนใจไปเสียหมด โดยเฉพาะเมื่อพูดถึง ‘สมุนไพร’ อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่ชาวไทยมาตลอด และหลายคนอาจหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้วสมุนไพรอาจไม่ใช่เพียงสินค้าท้องถิ่น มูลค่าต่ำ แต่คือหนึ่งในอุตสาหกรรมทางเศรษฐกิจที่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อีกด้วย

 

‘สมุนไพร’ มีความหมายว่า ผลผลิตจากธรรมชาติที่ได้มาจากพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุจากธรรมชาติ ซึ่งจะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพโครงสร้างภายใน สามารถนำมารักษาโรคต่าง ๆ หรือบำรุงร่างกายได้ และหากมีการนำสมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสม ปรุง และแปรสภาพ จะใช้คำที่เรียกว่า ยาสมุนไพร แทน

 

ซึ่งปัจจุบันสมุนไพรแฝงอยู่สินค้าอุปโภคบริโภคมากมาย ทั้งในรูปแบบเครื่องปรุงเครื่องเทศ แปรรูปเพื่อรับประทานในรูปแบบอาหารเสริม หรือใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องสำอางมากมาย

 

การมองสมุนไพร จึงไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวของคนเมือง สินค้าสำหรับคนมีอายุ หรือสินค้ามูลค่าต่ำอีกต่อไป เพราะทั่วโลกต่างก็มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้อีกด้วย

 

ข้อมูลจาก marketwatch.com รายงานว่า ตลาดสมุนไพรทั่วโลกปี 2021 มีมูลค่ารวมกว่า 7.37 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโต 9.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2028 ด้วยอัตราเฉลี่ยเติบโต 3.2% ต่อปี

 

โดยมีแบรนด์ระดับโลกที่น่าสนใจ และกินส่วนแบ่งตลาดสมุนไพรโลกมากที่สุด คือ McCormick & Company, Inc บริษัทสัญชาติอเมริกา ผู้ผลิตสมุนไพร เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรสต่าง ๆ

 

ซึ่งผลการดำเนินงานของปีที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้รายงานถึงความสำเร็จกับยอดการขายที่เพิ่มขึ้นถึง 13% จากปีที่แล้ว ด้วยมูลค่ากว่า 6.31 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 5.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาประกอบอาหารรับประทานเอง รวมถึงการเข้าซื้อกิจการ Cholula แบรนด์ผู้ผลิตและจำหน่ายซอสปรุงรสสำหรับประกอบอาหาร และ FONA บริษัทผู้วิจัยและพัฒนารสชาติของอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงบทบาทการออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของ McCormick ที่โดดเด่นโดนใจผู้บริโภคออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และการออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่โดดเด่นโดนใจผู้บริโภคออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 2.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.4% (YoY)

 

ทั้งนี้จากการจัดอันดับของ amazon.com สินค้าที่ขายดีที่สุดของ McCormick  คือ ผงพริกไทยขาวป่น เครื่องเทศที่เราคุ้นเคยกันดี และถือเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงช่วยชูรสชาติอาหารให้หอมอร่อยมากขึ้น แต่ยังมีสรรพคุณช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทั้งยังแก้ไข้มาลาเรียได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน และขายดีเป็นอันดับ 2 คือ ผงใบ Marjoram Leaves อาจจะไม่ค่อยคุ้นชินกันในครัวไทยเท่าไรนัก แต่ Marjoram Leaves หรือ ใบมาร์จอแรม เป็นเครื่องเทศและสมุนไพรที่มีสรรพคุณครบครัน ส่วนใหญ่นำไปประกอบอาหารสำหรับครัวฝรั่งเศสและครัวอังกฤษ ใช้เป็นเครื่องเทศหมักให้เนื้อนุ่ม ทั้งยังให้กลิ่นหอมคล้ายใบมินต์แต่มีความละมุนนุ่มนวลกว่า พร้อมมีฤทธิ์ในการลดความดันเลือดต่ำ ช่วยย่อยอาหาร และช่วยให้หลับสบาย

 

ทั้งนี้ในส่วนของตลาดสมุนไพรฝั่งเอเชียก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน มีรายงานจาก prnewswire.com คาดการณ์ว่า ตลาดเครื่องเทศและสมุนไพรของเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มเติบโต และมีสมุนไพรที่เป็นที่ต้องการของโลกอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นใบยี่หร่า พริก พริกไทย ขิง ผักชี กระวาน ออริกาโน ใบไทม์ และโดยเฉพาะเซเลอรี (Celery) หรือขึ้นฉ่ายฝรั่ง ที่นิยมนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มช่วยดีท็อกซ์ร่างกาย และมีสรรพคุณที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และทำความสะอาดเลือดได้ดีอีกด้วย

 

สำหรับตลาดประเทศไทย ก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยข้อมูลจากสมุนไพรสหประชาชาติ ระบุว่า ตลาดสมุนไพรไทยมีมูลค่าตลาดราว 3 แสนล้านบาทต่อปี โดยมูลค่าอันดับ 1 เป็นของกลุ่มเครื่องสำอางที่ 54% ขณะที่บัญชียาหลักของสมุนไพรไทยมีจำนวนน้อยมาก สวนทางกับความต้องการโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยสมุนไพรที่ไทยเรายังมีโอกาสแข่งขันสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ขมิ้นชัน ว่านหางจระเข้ หญ้าหวาน ส้มแขก อบเชย ขิง รวมถึงกัญชง กัญชา ที่มาแรงที่สุดในขณะนี้

 

สำหรับการบริโภคภายในประเทศ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่าสมุนไพร ‘กระชายขาว’ และ ‘ฟ้าทะลายโจร’ มีความต้องการภายในประเทศสูงมาก เนื่องจากมีสรรพคุณยังยั้งเชื้อไวรัส Covid-19 และช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ ทำให้สถานการณ์ในขณะนั้น สมุนไพรดังกล่าวขาดตลาด และมีราคาเพิ่มสูงขึ้น

 

‘กระชายขาว’ หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า กระชายเหลือง สมุนไพรภูมิปัญญาพื้นบ้านคู่ชาวไทย สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายส่วนทั้งเหง้า ราก ใบ มีสรรพคุณทางยาครบครัน จนได้ฉายาในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น ‘โสมไทย’ เนื่องจากมีสรรพคุณ และลักษณะที่คล้ายกัน เช่น ช่วยบำรุงกำลัง และเสริมสมรรถภาพทางเพศ

 

ทั้งนี้ กระชายขาวยังช่วยบำรุงสมอง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนกลางได้ดีมากขึ้น แก้อาการท้องร่วง บำรุงมดลูกของสตรี ควบคุมไม่ให้ต่อมลูกหมากโต รวมถึงมีรายงานการวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สาร Pinostrobin, Pinocembrin, Panduratin A และ Alpinetin ที่พบในกระชายนั้น มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้หลายชนิดอีกด้วย

 

ในส่วนของ ‘ฟ้าทะลายโจร’ เป็นสมุนไพรที่นิยมใช้รักษาโรคไข้หวัดตามตําราแพทย์แผนไทยมาตั้งแต่อดีต ด้วยสารสําคัญทางพฤกษศาสตร์หลากหลายชนิด ทั้ง ไดเทอร์ปีนแลคโตน (Diterpene Lactones) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่สามารถช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ทํางานดีขึ้น รักษาโรคหวัด โรคลําไส้ใหญ่อักเสบ ลดอาการไข้และอาการเจ็บคอ รวมถึงโรคไข้หวัดใหญ่

 

โดยมีการทดลองงานวิจัยจากการรวบรวมของ eto.ku.ac.th รายงานว่า การทดลองประสิทธิภาพของการใช้สารสกัดที่มีส่วนประกอบของฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จํานวน 540 คน เปรียบเทียบกับยาอะแมนตาดีน (Amantadine) ที่เป็นยารักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ผลที่ได้สรุปชัดเจนว่า ผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจรมีอาการดีขึ้นเร็ว และอาการแทรกซ้อนน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาอะแมนตาดีน

 

เป็นการชี้ให้เห็นชัดแล้วว่า สมุนไพรไทยที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น ปัจจุบันมีการทดลอง และสรุปผลวิจัยออกมาอย่างชัดเจน ทำให้ทางด้านรัฐบาลเอง ก็ยังคงการปรับแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้พืชสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจเติบโต และแข่งขันในตลาดได้

 

ทั้งได้มีออกกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาสมุนไพรไทยให้ยั่งยืน หรือแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564 (ฉบับล่าสุด) ที่ทั้งมีการออกข้อกำหนดกฎหมายที่ควบคุมรอบด้าน ประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันด้านสมุนไพร รวมถึงเสริมสร้างกลไกการบริหารงานวิจัยและพัฒนาสมุนไพร

 

โดยมีเป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทางการวิจัย สมุนไพรที่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน พร้อมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยสมุนไพรเพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาทในช่วงระยะเวลา 5 ปี เพื่อท้ายที่สุดแล้วงานวิจัยสมุนไพรที่ครบถ้วนตามห่วงโซ่ของการวิจัยจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในภายภาคหน้า

 

ซึ่งอีกหนึ่งผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดสมุนไพรไทย ก็คงหนีไม่พ้น อภัยภูเบศร ผู้วิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย เจ้าเก่า ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529

 

ปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตแคปซูลสมุนไพรไทย หรือเครื่องดื่มสมุนไพรเท่านั้น ยังมีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์มากมายที่ใช้เป็นเครื่องสำอาง ทั้งแชมพูขิง, สบู่อโรมา หญ้ารีแพร์ กลิ่นกระดังงา, เซรั่มที่มีสารสกัดจากผักเบี้ยใหญ่ และสมุนไพรนานาพรรณ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สำหรับสัตว์เลี้ยง อย่างแชมพูสุนัขตะไคร้หอม อีกด้วย

 

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันทั่วโลกต่างก็ตื่นตัว และเร่งพัฒนาสมุนไพรให้เท่าทันต่อตลาดโลกอย่างไม่หยุดหย่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเองที่หันมาเลือกสินค้าที่มาจากธรรมชาติมากขึ้น และดีต่อสุขภาพ ตลาดสมุนไพรจึงเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ไทยต้องเร่งพัฒนา และต่อยอดเพื่อธุรกิจต่อไป

เขียน ธนัญญา มุ่งสันติ

ข้อมูลอ้างอิง : dtam.moph.go / prnewswire.com / marketwatch.com / ir.mccormick.com