ลำปาง ชูมรดกวัฒนธรรมล้านนา ดันท่องเที่ยวเติบโต

พูดถึงลำปาง แวบแรกที่คนจะนึกถึงก็น่าจะเป็นรถม้าและชามตราไก่ แต่ก็ยังมีอีกหลายสถานที่และหลากมิติที่ Business+ อยากจะแนะนำให้ทุกคนได้ไปสัมผัส เขลางค์นคร เมืองรถม้า กันซักครั้ง

ลำปาง หรือ เขลางค์นคร เป็นจังหวัดเก่าแก่ไม่น้อยกว่า 1,300 ปี ตั้งแต่สมัยหริภุญชัยหรือราวพุทธศตวรรษที่ 13 จากการพบเศษกระเบื้อง ภาชนะดินเผา เศียรพระพุทธรูปดินเผาและสถูปต่าง ๆ สันนิฐานว่าจะเคยเป็นเมืองที่โดดเด่นในเรื่องของศาสนา เพราะฉะนั้น วัดและอารามต่าง ๆ จึงควรค่าแก่การไปเยี่ยมชมและศึกษาศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ

ลำปางมากด้วยศิลปะล้านนา

จังหวัดลำปางมี วัดพระธาตุลำปางหลวง พระอารามหลวงประจำจังหวัด ที่งดงามด้วยศิลปะล้านนาสะท้อนความรุ่งเรืองของพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดี นักท่องเที่ยวสามารถนั่งรถม้าชมวัดและบ้านเมืองโดยรอบโดยไม่ต้องเหนื่อยเดิน

วัดพระธาตลำปางหลวง

หรืออีกวัดเก่าแก่อายุนับพันปีอย่าง วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม มีวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย วิหารพระเจ้าทองทิพย์ศิลปะสมัยเชียงแสน และพญาธาตุศิลปะแบบพม่า รวมถึงจิตรกรรมฝาผนังลวดลายทองงดงาม เป็นพิพิธภัณฑสถานล้านนาสูงค่าอีกแห่ง

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม

วัดเก่าแก่ที่ผสมผสานศิลปะล้านนากับศิลปะพม่าที่น่าสนใจอีกที่คือ วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ที่เชื่อกันว่าถ้าใครนับเจดีย์ได้ครบ 20 องค์ ถือว่าเป็นคนมีบุญ

วัดพระเจดีย์ซาวหลัง

หรือจะนั่งรถไกลหน่อยเพื่อไปชมวิวทิวทัศน์ของอำเภอแม่ทะ ที่ วัดพระธาตุดอยพระฌาน วัดที่ตั้งอยู่บนยอดเขาอันเงียบสงบ สามารถชมทะเลหมอกในฤดูฝนและฤดูหนาวได้อีกด้วย

ทิวทัศน์จากวัดพระธาตุดอยพระฌาน

ซึ่งวัดเก่าแก่สวยงามทั้งหลาย ถือเป็นสุดยอดศิลปะล้านนาที่ตกทอดแก่ลูกหลานและชุมชนท้องถิ่น อันจะใช้เป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวในระยะยาว  ซึ่งผู้บริหารกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ได้เตรียมข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบาย 2 เรื่อง คือ การใช้ความเข้มแข็งของภาคเหนือตอนบน เชื่อมโยงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยกระดับการพัฒนาภูมิภาคขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0

และ การชูมรดกวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งจะมีทั้งอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) โครงการเวชนครด้านบริการส่งเสริมสุขภาพ และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพเชื่อมโยงเมืองเก่า สู่การเป็นเมืองจุดหมายปลายทางแห่ง การท่องเที่ยวเชื่อมอารยธรรมล้านนา

เชื่อมโยง EEC ด้วยการร่วมมือกับจังหวัดใกล้เคียง

ในส่วนของโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 จังหวัดลำปางก็ได้มีการจับมือกับเชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน เตรียมพร้อมทั้งในแง่ของการถ่ายทอดความรู้ดิจิทัลให้แก่ชุมชน เพื่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และโลจิสติกสมัยใหม่ จัดตั้งโครงการส่งเสริมพฤติพลังผู้สูงอายุเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี มีความมั่นคงในชีวิต และมีส่วนร่วมกับสังคม

ทั้งการเร่งสร้างผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสนับสนุน EECi รองรับการขยายตัวของผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรม รวมถึงโครงการ Northern Thailand Food Valley Scale Up ยกระดับนอร์ทเทิร์นไทยแลนด์ ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ตลาดสากล ที่ตั้งใจพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมอาหาร และโครงการพัฒนาทักษะแห่งอนาคตของแรงงานในภาคเหนือเพื่อรองรับอุตสาหกรรม New S-Curve

กฟผ. ชวนเที่ยวงานเทศกาลแม่เมาะ

สำหรับการรับมือการท่องเที่ยวฤดูหนาวที่กำลังมาถึง หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดลำปางล้วนเตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นบริการ EGAT Free wifi การรักษาความปลอดภัย งานแพทย์ สุขาภิบาล และบริการยานพาหนะ สำหรับ เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ให้ครบครัน

โดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางได้กล่าวว่าเทศกาลชมทุ่งดอกบัวตองและเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 62 นี้ จะช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวชุมชนและภาพรวมของจังหวัดลำปางเป็นอย่างมาก

โดยภายในงานจะมีกิจกรรม การออกร้าน การแสดง และคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังมาร่วมให้ความสุข ท่ามกลางบรรยากาศเย็นสบายของฤดูหนาว

ทิวทัศน์ที่ กฟผ.แม่เมาะ
ขอบคุณภาพจาก กฟผ.แม่เมาะ www.egat.co.th

งานเทศกาลแม่เมาะ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2562 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด GRENOVATION in the Park เพื่อสื่อให้เห็นถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งด้านการทำเหมืองและการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการดำเนินงานที่ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม

โดยที่ผ่านมางานนี้มีการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งให้ความสนใจเข้าร่วมงานเกือบ 250,000 คน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในจังหวัดลำปางเป็นมูลค่าถึง 200 ล้านบาท

 

แม้จะเป็นเมืองรอง แต่ลำปางก็พร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการเตรียมพร้อมยกระดับในทุกด้าน เพื่อให้ตอบโจทย์การท่องเที่ยวที่หลากหลายและเกิดเม็ดเงินไหลเข้าสู่ชุมชน อันจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางพยุงเศรษฐกิจรากหญ้า และต่อยอดไปจนถึงแผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

เราคงต้องจับตาดูกันว่าลำปางในวันข้างหน้า จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นโฉมหน้าแบบใด