‘ร้านขายของชำ’ อาชีพทำเงิน หรือแค่ผู้ประกอบการรายย่อยที่รอวันพ่าย?

หากจะพูดถึงธุรกิจขนาดย่อมที่ทุกคนล้วนผูกพันกันตั้งแต่วัยเด็ก คงหนีไม่พ้น ‘ร้านขายของชำ’ ที่เรามักจะแวะเวียนเข้าไปจับจ่ายสินค้าจิปาถะอยู่เสมอ ตั้งแต่ขนม เครื่องดื่ม เครื่องปรุงอาหาร ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ทำงานบ้าน ซึ่งก็ถือเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นกับชีวิตประจำวันของใครหลาย ๆ คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ห้างสรรพสินค้ายังมีอยู่ไม่มาก และตั้งอยู่ห่างไกลการเข้าถึง

 

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บ้านเมืองที่เจริญขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ ‘ร้านขายของชำ’ ได้โดนลดบทบาทลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มีของให้เลือกสรรอย่างครบทุกความต้องการ ที่มีสาขามากมาย เข้าถึงได้ง่ายกว่าในยุคสมัยก่อน หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อที่เปิดให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง ที่ผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด และมักตั้งอยู่ใกล้กับที่พักอาศัยในระยะที่สามารถเดินไปได้แบบไม่ต้องพึ่งยานพาหนะ ทำให้ผู้คนมีตัวเลือกในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งถือเป็น ‘โจทย์หิน’ สำหรับ ‘ร้านขายของชำ’ เป็นอย่างมาก เนื่องจากในปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ

 

สำหรับรูปแบบร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่สำคัญในปัจจุบัน ประกอบด้วย

 

  1. ห้างสรรพสินค้า (Department store) น้นกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง-สูง จำหน่ายสินค้าที่ทันสมัย คุณภาพดี มีทั้งสินค้าแบรนด์เนมที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาจำหน่ายตามราคาตลาดหรือสูงกว่า ผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำตลาด อาทิ Central Robinson และ The Mall

 

  1. ดิสเคาท์สโตร์ (Discount store / Hypermarket / Supercenter) เน้นกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางลงมา จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน กลยุทธ์การตลาดที่สำคัญคือ การจำหน่ายสินค้าที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาด ผู้ประกอบการสำคัญ ได้แก่ Big C และ Tesco Lotus

 

  1. ซูเปอร์มาร์เก็ต (Supermarket) เน้นกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง-สูง จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมวดอาหารที่มีความสดใหม่และหลากหลาย รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการสำคัญ อาทิ Tops Gourmet Market และ Foodland

 

  1. ร้านสะดวกซื้อ (Convenience store / Express / Mini mart) จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ราคาจำหน่ายตามราคาตลาด ส่วนใหญ่ตั้งในแหล่งชุมชน เน้นการบริการและให้ความสะดวกแก่ลูกค้า ผู้ประกอบการสำคัญ เช่น 7-Eleven และ FamilyMart เป็นต้น

 

  1. ร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง (Specialty store) ขายสินค้าเฉพาะด้านในสายผลิตภัณฑ์เดียวกัน โดยเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ ขณะที่ราคาสินค้าค่อนข้างสูง ผู้ประกอบการสำคัญ อาทิ Watsons Boots และ Supersports

 

โดยบทวิเคราะห์จาก ‘วิจัยกรุงศรี’ ระบุว่า ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกสมัยใหม่เร่งขยายสาขาต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงปรับปรุงสาขาเดิมเพื่อเพิ่มพื้นที่ค้าปลีกใหม่ โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยระบุว่าปี 2559-2561 กลุ่มค้าปลีก Modern chain store ลงทุนเฉลี่ย 4.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ปี 2562 พื้นที่ค้าปลีกสะสมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล (BMR) อยู่ที่ 7.7 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 2.9% เป็นพื้นที่ศูนย์การค้า (Shopping mall) 63% คอมมูนิตี้มอลล์ (Community mall) 13% ดิสเคาท์สโตร์ (Discount store) 15% ห้างสรรพสินค้า (Department store) 3% เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน 6% ส่วนต่างจังหวัด ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายใหญ่ เช่น Robinson  Tesco Lotus และ Big C เร่งขยายสาขาหลายรูปแบบในจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค เมืองท่องเที่ยวและจังหวัดรอง ส่วนร้านค้าปลีกขนาดเล็กมีการเปิดสาขากระจายไปในทุกจังหวัด

 

‘วิจัยกรุงศรี’ ระบุว่า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มขยายสาขาต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ จังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดรอง รวมถึงพื้นที่ที่ระบบคมนาคมขนส่งกระจายไปถึง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ EEC และแนวชายแดนที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ครอบคลุมพื้นที่ลงลึกระดับอำเภอ โดยเน้นรูปแบบของร้านค้าปลีกที่มีขนาดเล็กลงและมีรูปแบบ Life style มากขึ้น ทั้งนี้ ร้านสะดวกซื้อ อาทิ 7-Eleven มีแผนขยายการลงทุนปีละ 700 สาขาและตั้งเป้าที่ 13,000 สาขาภายใน 2564 ด้าน Big C ตั้งเป้าเปิดสาขาเพิ่มอีก 200-300 สาขาในปี 2564 เน้นพื้นที่ต่างจังหวัด

 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นเรื่อย  ๆ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยข้อมูลจาก ‘We are Social’ แพลตฟอร์มการบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำของโลก เผยรายงาน Global Digital Stat 2021 ในส่วนของอีคอมเมิร์ซไทยไว้ว่า COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญทำให้การเติบโตของอีคอมเมิร์ซไทยทั้งระบบขยายตัวเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่าคนไทยมีการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรือที่เราเรียกกันจนคุ้นปากว่าการช้อปปิ้งออนไลน์ สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือคิดเป็น 83.6% ซึ่งสูงกว่าหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นเดียวกับการช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคนไทยครองอันดับ 2 ของโลกด้วยสัดส่วนที่มากถึง 74.2%

 

ซึ่งถ้าหากดูจากข้อมูลเหล่านี้ก็ทำให้เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า ‘ร้านขายของชำ’ จะยังอยู่ได้หรือไม่ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แบบนี้ ซึ่งก็คงต้องดูที่ความต้องการของผู้บริโภคประกอบในการหาคำตอบในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากผู้บริโภคถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อธุรกิจร้านค้า

 

โดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 จำนวน 8,428 คน ทุกอำเภอทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 87 คิดว่า ‘ร้านขายของชำ’ มีความจำเป็นต่อการซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคสำหรับการดำรงชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก ซึ่งจะซื้อสินค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ และค่อนข้างบ่อย ภายในวงเงินไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง โดยข้อดีของ ‘ร้านขายของชำ’ คือ สะดวกในการเดินทาง ราคาถูก และมีสินค้าแบ่งขาย ขณะที่มีข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุง คือ สินค้าไม่หลากหลาย สินค้ามีจำนวนน้อย การจัดวาง และความสะอาด รวมถึงการให้บริการ โดยมีรายละเอียดผลการสำรวจ ดังนี้

 

  • ความจำเป็นของร้านจำหน่ายสินค้า ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 87.53 คิดว่า ‘ร้านขายของชำ’ มีความจำเป็น โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 78 ในทุกอาชีพ เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในภาคกลางมากที่สุด (ร้อยละ 91.75) และส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงมากนัก (ต่ำกว่า 30,000 บาท/เดือน) (ร้อยละ 88.61) ขณะที่ความจำเป็นของร้านสะดวกซื้อ อยู่ที่ร้อยละ 88.02 และซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ อยู่ที่ร้อยละ 77.65

 

  • ร้านจำหน่ายสินค้าที่ผู้บริโภคนิยม พบว่า ‘ร้านขายของชำ’ เป็นที่นิยมของผู้บริโภค อันดับ 2 (ร้อยละ 35.19) รองจากร้านสะดวกซื้อที่ผู้บริโภคนิยมสุงสุด (ร้อยละ 47.76) และซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เป็นที่นิยมอันดับ 3 (ร้อยละ 17.06)โดยผู้ที่นิยมซื้อสินค้าจาก‘ร้านขายของชำ’ ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 83.07) เมื่อพิจารณารายอาชีพ พบว่า เกษตรกรนิยมซื้อสินค้าใน ‘ร้านขายของชำ’ มากที่สุด (ร้อยละ 62.49) เมื่อพิจารณารายภาค พบว่า ‘ร้านขายของชำ’ ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคเหนือ (ร้อยละ 43.60) และได้รับความนิยมน้อยสุดในกรุงเทพและปริมณฑล (ร้อยละ 13.34)

 

  • จำนวนร้านจำหน่ายสินค้าแต่ละประเภทในชุมชน ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ คิดว่า ‘ร้านขายของชำ’ มี 2 – 3 ร้าน/ชุมชน ร้านสะดวกซื้อมี 1-2 ร้าน/ชุมชน และซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่มี 1 ร้าน/ชุมชน

 

ซึ่งจากข้อมูลนี้ จะเห็นได้ว่าจุดแข็งที่ ‘ร้านขายของชำ’ มีมากกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่คือที่ตั้ง ที่ครอบคลุมเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล และมีความใกล้ชิดกับชุมชนมากกว่าร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ด้วยเสน่ห์เหล่านี้จึงทำให้ ‘ร้านขายของชำ’ ยังคงเป็น ‘ผู้รอด’ ในสมรภูมิร้านค้าอยู่ เพียงแค่อาจจะต้องมีการปรับตัวในด้านความทันสมัย การจัดวางสินค้าให้น่าสนใจ และมีการดูแลความสะอาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการต่อไป

 

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

 

ที่มา : วิจัยกรุงศรี, คมชัดลึก

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ร้านขายของชำ #ร้านโชว์ห่วย #ร้านสะดวกซื้อ #ห้างสรรพสินค้า #ธุรกิจขนาดเล็ก #ผู้ประกอบการรายย่อย