ทั่วโลกผวาความมั่นคงทางพลังงานลด ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ หนึ่งในตัวเลือก ที่จะถูกกลับเอามาทบทวนอีกครั้ง!!

ผลกระทบจากสงครามของรัสเซีย-ยูเครน กลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดวิกฤตจากต้นทุนพลังงานทั่วโลกที่พุ่งสูงขึ้น นั่นทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นตาม เพราะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับความต้องการ “ไฟฟ้า” ทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิด COVID-19 ประมาณ 5% ทำให้ทั่วโลกเริ่มเกิดความไม่มั่นคงทางด้านพลังงาน โดยเฉพาะประเทศนำเข้าก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน

โดยปัจจุบันแหล่งผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านพลังงาน หากต้นกำเนิดพลังงานในส่วนนี้ขาดแคลน ดังนั้น หลายประเทศจึงเริ่มมีแนวคิดในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน

สาเหตุที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ถูกกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้ง เป็นเพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใช้เชื้อเพลิงน้อย แต่สามารถผลิตพลังงานได้มาก และยังสามารถเดินเครื่องตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าพื้นฐาน อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ สาเหตุเป็นเพราะถูกต่อต้านจากผู้คนจำนวนมากด้วยเรื่องของความปลอดภัย

โดยที่ผ่านมาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เคยมีปัญหาในเรื่องของอุบัติเหตุ ถึงแม้จะน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณโรงไฟฟ้าทั่วโลก แต่อุบัติเหตุแต่ละครั้งได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อคนจำนวนมากที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าเพราะสารกัมมันตรังสี

หากใครเคยตามข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติคงเคยได้เห็นข้อมูลที่เกิดขึ้นใน ‘เชอร์โนบิล’ ในสหภาพโซเวียตช่วงปี 2529 (36 ปีที่แล้ว) ซึ่งเกิดจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เกิดการระเบิดขึ้นในสถานีพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถือเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ และเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลก (การระเบิดที่รุนแรงนี้ถูกจัดให้อยู่ในระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงที่สูงที่สุด) ว่ากันว่า อุบัติเหตุที่เกิดจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์นี้ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีลอยไปไกลถึงยุโรปจึงมีผลกระทบเป็นวงกว้าง

อีกหนึ่งอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ถูกจัดความรุนแรงในระดับ 7 เกิดขึ้นอีกครั้งที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ประเทศญี่ปุ่นในปี 2554 สาเหตุเกิดจากคลื่นยักษ์ได้ซัดถล่มแนวป้องกันและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าจนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้า และต้องมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่มากกว่า 150,000 คน

อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีหลายประเทศที่มีการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ จากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 2564 จาก Statista ที่ผ่านมา พบว่าทั่วโลกมี 33 ประเทศที่ใช้เครื่องปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์ (อุปกรณ์ที่ก่อกำเนิดและควบคุมปฏิกิริยานิวเคลียร์ลูกโซ่ ซึ่งถูกนำมาใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในการผลิตไฟฟ้าและในการขับเคลื่อนเรือ)

โดย 10 ประเทศที่มีการใช้งานมากที่สุดคือ
– สหรัฐฯ มีจำนวน 93 เครื่อง ครองอันดับที่ 1
– ตามมาด้วยฝรั่งเศสจำนวน 56 เครื่อง
– จีน 52 เครื่อง
– รัสเซีย 38 เครื่อง
– เกาหลีใต้ 23 เครื่อง
– อินเดีย 21 เครื่อง
– แคนาดา 19 เครื่อง
– ยูเครน 15 เครื่อง
– อังกฤษ 13 เครื่อง
– ญี่ปุ่น 9 เครื่อง

ทั้งนี้พบว่า ในปี 2564 มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั่วโลกที่เปิดใช้งานทั้งหมด 415 เครื่อง ลดลง 3.9% จากปี 2563 สาเหตุที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ลดลง เป็นเพราะการถูกต่อต้านจากผู้คนจำนวนมากด้วยเรื่องของความปลอดภัย

แต่สำหรับประเทศจีนแล้วยังคงเดินหน้าขยายการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ โดยปี 2564 มีการเพิ่มจำนวนเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4.4%

นอกจากนี้ ข่าวล่าสุด (24 ส.ค.2565) ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศที่จะหันกลับมาเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์ภัยพิบัติที่จังหวัดฟูกุชิมะ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ญี่ปุ่นหยุดการขยายโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ไป และใช้เวลากับเงินจำนวนมากในการฟื้นฟู

โดยนายกฯ ญี่ปุ่นมีแผนยืดอายุการใช้งานของเตาปฏิกรณ์ หลังจากเห็นผลกระทบของวิกฤตในยูเครนและต้นทุนพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นของสาธารณชน และก่อให้เกิดการทบทวนนโยบายด้านพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งรวมถึงการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับความยั่งยืนทางพลังงานและพลังงานนิวเคลียร์

สำหรับประเทศไทยนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะนำโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาใช้หลายต่อหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จ โดยในปี 2509 เป็นครั้งแรกที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของไทย แต่ในปี 2517 ก็ต้องชะลอแผนนี้ลงเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติได้ปรับตัวลดลง และในปี 2520 กฟผ.เสนอโครงการใหม่ ถึงแม้จะได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล แต่ก็เจอกับแรงต่อต้านจากประชาชนและในระดับโลกทำให้มีการยกเลิกโครงการอีกครั้ง

แผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งมาถึง PDP 2561: ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (2561-2560) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี วันที่ 20 ตุลาคม 2563 ตัดแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกจาก PDP

โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ แผนPDP2018 ไม่ได้มีการบรรจุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ขนาด2,000เมกะวัตต์ ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการเอาไว้ เพื่อให้มีการศึกษาเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งแตกต่างไปจากแผน PDP2015 ที่มีการกำหนดให้มีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวน 2 โรงรวม 2,000 เมกะวัตต์

เป็นที่น่าสนใจว่า พลังงานนิวเคลียร์นั้น กลับมาเป็นความหวังให้กับหลายๆ ประเทศ ในช่วงวิกฤตที่แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น แต่ทรัพยากรธรรมชาติมีแต่จะร่อยหรอ

แต่มุมมองของ ‘Business+’ แล้ว กลับมองว่าถึงแม้ว่าพลังงานนิวเคลียร์จะมีข้อดีหลายอย่าง อีกทั้งยังเป็นพลังงานสะอาด แต่การลงทุนในครั้งแรกต้องใช้เงินลงทุนสูง และยังต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานด้วยการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็จำเป็นต้องจัดการกับสิ่งที่เป็นปัญหาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เป็นอย่างดี

นั่นเป็นเพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องให้ความสำคัญกับการกำจัดกากกัมมันตรังสีที่ใช้แล้วเป็นจำนวนมาก และหากมีการบำรุงรักษาไม่ดี ก็มีโอกาสที่รังสีจะรั่วไหลด้วยเช่นเดียวกันจึงต้องมีการดูแลรักษาอย่างเข้มงวด เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงกว่า

ที่มา : blog.pttexpresso ,Statista

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #นิวเคลียร์ #โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ #พลังงานทดแทน #พลังงานทางเลือก