“รถยนต์ไฟฟ้า” อุตสาหกรรมอนาคตไกลที่ไม่ใช่เรื่องแห่งอนาคตอีกต่อไป

เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดสำหรับ รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเติบโตที่สวนทางตลาดกว่า 61% จากปีที่แล้ว นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง และตอกย้ำว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวในไม่ช้า

พูดถึงการซื้อรถยนต์สักคันในยุคนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อดที่จะไขว้เขวหรือเทใจไปที่ รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) หรือรถยนต์ EV ไม่ยาก เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในยุคที่ราคาน้ำมันแพง ลดมลพิษทางอากาศที่นับวันยิ่งเลวร้ายแล้ว

ภาครัฐก็ยังสนับสนุนการผลิตรถยนต์ EV ผ่านมาตรการประกาศลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ EV จากกระทรวงการคลังตั้งแต่ปี 2561 เพื่อกระตุ้นยอดขายรถยนต์ไฮบริด (HEV) รถยนต์แบตเตอรี (BEV) และรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน (PHEVs)

มาตรการการสนับสนุนเหล่านี้ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ EV ของไทยมีการเติบโตจาก 76% ในปี 2561 ขยับขึ้นถึง 83% ในปี 2562 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงนี้ที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง อีกทั้งตอกย้ำความมั่นใจว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ตลาดรถยนต์ EV อย่างเต็มตัวในไม่ช้า

รถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ รายงานจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยเริ่มมีทิศทางที่สวนทางกัน โดยในครึ่งหลังของปี 2562 อาจจะมีโอกาสพลิกกลับมาหดตัวที่ร้อยละ 3 หรือคิดเป็นจำนวน 536,000 คัน

สืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เข้ามาควบคุมการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์มากขึ้น ส่งผลต่อยอดขายรถยนต์โดยรวมตลอดทั้งปี น่าจะขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ 1,060,000 คันเท่านั้น

ในขณะที่ตลาดรถยนต์ EV ในประเทศกลับเติบโตสูงสวนทางตลาด โดยในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 นี้ ยอดขายรถยนต์ EV ของไทยครอบคลุมรถยนต์ EV ทั้ง 3 แบบ คือ รถยนต์ไฮบริด (HEV) รถยนต์แบตเตอรี (BEV) และรถยนต์ไฮบริดปลั๊กอิน (PHEVs) มีโอกาสที่จะทำตัวเลขได้อย่างน้อย 18,400 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 75 จากปีก่อน สืบเนื่องมาจากยอดขายของรถยนต์ EV รุ่นใหม่ ๆ ที่ได้ทยอยเปิดตัวกันออกมาในช่วง 1 ถึง 2 เดือนก่อนหน้านี้ และที่จะเปิดตัวในช่วงที่เหลือของปี

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดขายรถยนต์ EV ของไทยปี 2562 นี้ น่าจะขยายตัวได้กว่าร้อยละ 61 หรือมียอดขายถึง 32,000 คัน เติบโตขึ้นจาก 19,880 คัน ในปีที่แล้ว

โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการตั้งราคารถยนต์ EV รุ่นใหม่ ที่เข้าตลาดมาทำให้ผู้บริโภครู้สึกเข้าถึงได้มากขึ้น และมุมมองของผู้บริโภคบางส่วนต่อต้นทุนในการถือครองรถเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังราคาแบตเตอรี่รถยนต์ EV มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง บวกกับการรับประกันคุณภาพรถยนต์และแบตเตอรีที่ยาวนาน เป็นต้น

ส่งผลให้รถยนต์ EV ของไทยเติบโตได้ดีในปีนี้ และคาดว่าจะมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ EV ทุกประเภทสูงถึง 240,000 คัน หรือคิดเป็น 25% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด โดยปริมาณรถยนต์ EV ทั้งหมดในประเทศไทยจะสูงถึง 820,000 คัน ในปี 2566

 

นอกจากนี้การผลักดันการผลิตรถยนต์ EV ยังทำให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีขั้นสูงใ ห้กับผู้ผลิตท้องถิ่นผ่านการร่วมทุนกับผู้ผลิตในต่างประเทศอีกด้วย

รถยนต์ไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จำกัด ตอกย้ำศักยภาพของตลาดรถยนต์ EV ว่า ข้อมูลจากการประชุม Automotive Summit 2019 พบว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้า มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2560 มียอดผลิตรถยนต์ EV รวม 8,900 คัน และเพิ่มขึ้นเป็น 25,200 คันในปี 2561 สำหรับในปี 2562 นี้คาดว่ายอดการผลิตจะเติบโตถึง 36,000 คัน และจะเติบโตกว่า 50,000 คันในปี 2563

ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมอนาคตไกล ที่หากผู้ผลิตปรับตัวและก้าวเข้าสู่ตลาดผู้ผลิตรถยนต์ EV ได้เร็ว ก็จะคว้าโอกาสอันมหาศาลนี้ได้ก่อนใคร

“การเข้าสู่ตลาดรถยนต์ EVของประเทศไทย ใกล้ความจริงขึ้นทุกวัน ด้วยเป้าหมายของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 1.2 ล้านคัน ภายในปี  2579 และความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตของประเทศไทย ความท้าทายต่อไปคือการเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่มีต่อการใช้รถยนต์ EV ว่าไม่ใช่เรื่องแห่งอนาคตอีกต่อไป”  เกอร์นอท กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งในปัจุบันมีสถานีชราจรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 1200 จุดในกรุงเทพฯ และในอนาคตจะมีการขยายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

 

จึงน่าสนใจว่า สำหรับคนไทย หากไม่มีอะไรผิดพลาด เราจะได้เห็นรถยนต์ EV มาวิ่งบนท้องถนน ในราคาที่จับต้องได้ แต่คำถามคือ เราพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแล้วหรือยัง ?


ส่วนขยาย
* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ ** เขียน: กฤษฎาพร วงศ์ชัย (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่

ประกันภัยไทยวิวัฒน์