ยูพีเอส เดินเกมยึดโลจิสติกส์ EEC

นับเป็นระยะเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ “รัสเซล รี้ด” เข้ามานั่งบริหาร ups ประเทศไทยในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างมาก เพราะตลาดโลจิสติกส์ไทยวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ทั้งการแข่งขันที่ร้อนแรงและดุเดือดจากผู้เล่นจำนวนมากที่เข้ามาชิงชัยในตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการมากกว่าการ “ส่งถึง” แต่ต้องการความ “รวดเร็ว” และ “คุณภาพ” การจัดส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น

ทำให้ ups หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโลจิสติกส์ที่เข้ามาทำตลาดในไทยนานเกือบ 3 ทศวรรษ ต้องปรับกลยุทธ์และแผนการลงทุนรอบใหม่ให้พร้อม โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและทำเลสุดร้อนแรงอย่าง “อีอีซี” เพื่อเสริมประสิทธิภาพการบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการกลุ่มลูกค้า พร้อมกับติดสปีด ups ให้แข็งแกร่งและเติบโตต่อไป

รัสเซล รี้ด
มร.รัสเซล รี้ด กรรมการผู้จัดการ ยูพีเอส ประเทศไทย

รุกเติบโตในอาเซียน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอาจจะไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะที่หลายธุรกิจต้องอยู่ในสภาวะไร้การเติบโต บางรายถึงขั้นติดลบ แต่สำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์กลับก้าวทะยานการเติบโตอย่างมาก จนหลายธุรกิจต่างอิจฉาไปตาม ๆ กัน

แรงผลักสำคัญที่ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ในไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด มาจากการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเปิดการค้าเสรี AEC ทำให้เกิดการค้าขายข้ามพรมแดนมากขึ้น และเมื่อค้าขายมากขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดการส่งสินค้าข้ามประเทศและทำให้ต้องใช้บริการขนส่งเพิ่มขึ้นตามมา

จิม โอการ่า ประธานบริหาร ยูพีเอส ภูมิภาคเอเชียใต้ ฉายภาพให้ฟังว่า การเปิดการค้าเสรี AEC นอกจากจะเป็นการผนึกกำลังร่วมกันของภูมิภาคนี้ ยังสร้างโอกาสให้ธุรกิจขยายตัวมากขึ้น โดยอาเซียนนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมากกับ ups ทั้งในแง่การค้าและการเติบโต โดยในไตรมาส 1 ปี 2018 ที่ผ่านมา ตลาดอาเซียนสามารถสร้างรายได้ให้ ups เป็นสัดส่วนถึง 11.5% ของรายได้รวม

มร.จิม โอการ่า ประธานบริหาร ยูพีเอส ภูมิภาคเอเชียใต้

“วันนี้ตลาดอาเซียนมีศักยภาพทางการค้าอย่างมาก โดยเป็นรองเพียงอินเดียและจีน ถ้าดูจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ทางการค้าของประเทศที่มีการลำเลียงสินค้าในภูมิภาคอย่างเสรี และภาครัฐมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงเชื่อว่าอาเซียนจะสามารถเติบโตได้อย่างน้อย 2 หลักแน่นอน”

ดังนั้น ทิศทางการทำตลาดของ ups จากนี้ไป รัสเซล บอกว่า ups จึงมุ่งให้ความสำคัญกับการรุกตลาดขนส่งข้ามพรมแดน (cross border) ในอาเซียน ควบคู่ไปกับการขยายตลาดในบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากอีอีซีเป็นพื้นที่ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยเติบโต โดยเฉพาะภาคการส่งออก โดยอีอีซีมีสัดส่วนการส่งออกถึงครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2561 ปริมาณการส่งออกของไทยจะเติบโต 8.5% ซึ่งจะส่งผลให้จีดีพีของประเทศขยายตัวราว 3.8% ในปีนี้

UPS

ปักธง EEC
จากการมองเห็นโอกาสการเติบโตในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ ups ได้เริ่มขยายการให้บริการในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกมาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งและเสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจต่าง ๆ และในปีนี้ได้รุกขยายการให้บริการครอบคลุม 138 ไปรษณีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงพื้นที่อยุธยาโดยรอบ

นอกจากนี้ ยังขยายเวลาเข้ารับพัสดุเพิ่มสูงสุด 7 ชั่วโมงสู่เส้นทางการค้าหลักในจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจมีช่วงเวลาสำหรับขั้นตอนการผลิตที่ยาวนานขึ้น และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการรองรับคำสั่งซื้อแบบเร่งด่วนจากลูกค้า ทั้งยังมีระยะเวลาการขนส่งที่รวดเร็วขึ้นสำหรับการนำเข้าและส่งออกสินค้าเพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาด

รวมถึงจัดส่งพัสดุถึงผู้รับเร็วขึ้น 1 วัน สำหรับการส่งออกสินค้าจากพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และพื้นที่อยุธยาโดยรอบ สู่ปลายทางในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งตลาดเหล่านี้ล้วนเป็นตลาดสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งความรวดเร็วในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดมีความสำคัญมาก โดยจะช่วยให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนด้านคลังสินค้าและสามารถดำเนินการผลิตแบบทันเวลาตามคำสั่งซื้อของลูกค้ายิ่งขึ้น พร้อมทั้งเดินหน้าซื้อเครื่องบินใหม่อีก 32 ลำ โดย 4 ลำจะนำมาใช้ในประเทศไทยในครึ่งปีหลัง

นับเป็นอีกก้าวย่างในการปรับทัพของผู้เล่นรายเก่าเพื่อรับมือเกมการแข่งขันที่รุนแรง ซึ่งการขยายการให้บริการใหม่ในครั้งนี้ ย่อมตอบโจทย์ธุรกิจในยุคปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็วและคล่องตัว แต่ต่อจากนี้ไปเกมการแข่งขันของตลาดโลจิสติกส์คงร้อนระอุทุกพื้นที่ยิ่งขึ้นแน่นอน ลำพังบริการที่มีอยู่จะเพียงพอรับมือหรือไม่นั้น ต้องรอลุ้นกัน