ยุคเรือพลังงานไฟฟ้าเริ่มแล้ว

ไม่ใช่รถยนต์อย่างเดียวที่กำลังปฏิวัติเข้าสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า ยานยนต์ทางน้ำต้องเร่งเปลี่ยนไปใช้พลังงานไฟฟ้าเช่นกัน เพราะการขนส่งทางเรือก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากไม่แพ้ใคร ทำให้อุตสาหกรรมขนส่งทางเรือต้องปรับตัวเช่นกัน ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมขนส่งทางเรือทั่วโลกไม่ได้ปรับตัวมากนัก ยังดำเนินการใช้พลังงานน้ำมันสำหรับการเดินเรือ นอกจากผู้ประกอบการจากสแกนดิเนเวีย รวมถึงฝั่งรัฐบาลต่างเร่งผลักดันภาคการขนส่งทางเรือ โดยเฉพาะรัฐบาลนอร์เวย์ ต้องการให้การท่องเที่ยวมรดกโลกของประเทศมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์เป็นแห่งแรกของโลก

รายงานจาก ec.europa.eu ระบุว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไปแล้วกว่า 940 ล้านตันต่อปี ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 2.5% ของทั้งโลก ซึ่งหากกองเรือขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสารบนแม่น้ำและท้องทะเลทั้งหลายยังดำเนินการแบบเดิม ๆ ปริมาณการปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายต่อภูมิอากาศของโลกจากกิจกรรมของเรือ จะเพิ่มขึ้นในระดับ 50 – 250% ภายในปี 2050 จากการศึกษาของบริษัทวิจัยตลาดเทคโนโลยีเกิดใหม่ IDTechEx พบว่า มูลค่าตลาดเรือพลังงานไฮบริดและไฟฟ้า 100% มีแนวโน้มขยายตัวไปถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2027 ทำให้เกิดกิจการพัฒนาและผลิตเรือไฟฟ้าทั้งเรือชายฝั่ง เรือสำราญ และเรือเดินสมุทร เพื่อการพาณิชย์ทั่วโลกรวมแล้วมากกว่า 100 ราย

ทั้งนี้ เรือพาณิชย์ที่พัฒนาเข้าสู่การระบบพลังงานไฟฟ้ามี 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ 1. เรือสำราญสำหรับการท่องเที่ยว 2. เรือเฟอร์รี่ และ 3. เรือขนสินค้า ซึ่งมีทั้งเรือคอนเทนเนอร์และเรือขนน้ำมัน หรือถ่านหิน (Tanker) โดยในขั้นแรกเป็นการพัฒนาและปรับเปลี่ยนของเรือที่ใช้งานวิ่งในระยะทางที่ไม่ไกลมาก ขณะที่เรือเดินสมุทรในเส้นทางขนสินค้าไกล ๆ ระดับข้ามทวีป ยังอยู่ในขั้นเตรียมการเป็นส่วนใหญ่

เรือสำราญพลังงานไฟฟ้า

ประเทศที่มีการต่อเรือพลังไฟฟ้า เพื่อการท่องเที่ยวในระดับแนวหน้าของโลกคือ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งมีการพัฒนาและต่อเรือท่องเที่ยวในตระกูลของ The Fjords ผลิตขึ้นโดยบริษัท Brødrene Aa และเรือท่องเที่ยวสำรวจทวีปแอนตาร์กติกา ณ ขั้วโลกใต้ สั่งต่อโดยบริษัท Hurtigruten ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการเรือสำราญรายสำคัญของนอร์เวย์ โดยเรือสำราญหรือเรือครุยส์ตระกูล The Fjords ผลิตขึ้นมา 3 ลำแล้ว

ลำแรกเริ่มให้บริการในปี 2016 เป็นเรือพลังไฮบริดชื่อว่า Vision of The Fjords ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างไฟฟ้ากับน้ำมัน มีขนาดยาว 42 เมตร ขนผู้โดยสารได้ 400 คน ใช้แพกแบตเตอรีขนาด 600 กิโลวัตต์ชั่วโมง ใช้งบก่อสร้างประมาณ 10.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐส่วนอีก 2 ลำต่อมาเป็นเรือพลังไฟฟ้า 100% ใช้แล่นเพื่อท่องเที่ยวบริเวณอ่าวฟยอร์ด ดินแดนพระอาทิตย์เที่ยงคืน เพื่อชมแสงเหนือและสถานที่ประวัติศาสตร์ของชนเผ่าไวกิ้งและช่องทางน้ำแนเรยฟยอร์ โดยมีระยะทาง 32 กิโลเมตร ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว

หลังจากเรือ Vision of The Fjords ให้บริการลูกค้าจากทั่วโลกได้ไม่กี่ปี บริษัท Fjord1 และ Flåm ผู้ร่วมเป็นเจ้าของและผู้เดินเรือตระกูล Fjords ได้สั่งต่อเรือเจน 2 ชื่อ Future of the Fjords ซึ่งต่อเสร็จในปี 2018 โดยสถานะเป็นเรือท่องเที่ยวที่ใช้พลังไฟฟ้าที่ปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ลำแรกของโลก ใช้งบก่อสร้างประมาณ 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การสร้างเรือ Future of the Fjords นั้นมีการพัฒนาสร้างท่าสำหรับชาร์จไฟเรือด้วย ให้ชื่อว่า Power Dock มีความยาว 40 เมตร กว้าง 5 เมตร อยู่บนเรือเฟอร์รี่ มีแพกแบตเตอรีกักเก็บไฟฟ้าขนาด 2.4 เมกะวัตต์ชั่วโมง พร้อมระบบเชื่อมต่อเครือข่ายสายไฟฟ้าสามารถชาร์จไฟเรือได้อย่างรวดเร็ว โดยท่าชาร์จไฟเรือนี้ได้รับการพัฒนาให้สามารถลากจูงไปที่ท่าเรือต่าง ๆ ได้ นับเป็นท่าชาร์จไฟแห่งแรกของโลก รวมถึงสามารถชาร์จไฟยานยนต์อื่น ๆ ได้ด้วย

เรือลำที่ 3 ชื่อ Legacy of The Fjords เป็นเรือไฟฟ้า 100% เช่นเดียวกับ Future of The Fjords สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 400 คนต่อเที่ยว
ถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่า การต่อเรือตระกูล Fjords และการพัฒนาท่าชาร์จไฟเรือที่มีประสิทธิภาพได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้สภาผู้แทนฯ ของนอร์เวย์ จึงตัดสินใจออกกฎหมายบังคับให้เรือท่องเที่ยวประเภทครุยส์ และเรือเฟอร์รี่ที่ให้บริการทางด้านท่องเที่ยว ในสถานที่ที่เป็นมรดกโลกของนอร์เวย์ โดยต้องปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ภายในปี 2026 ซึ่งกฎหมายดังกล่าวทำให้เรือนับร้อยลำ ทั้งที่เป็นเรือครุยส์และเรือสนับสนุนต้องเร่งเปลี่ยนเป็นเรือพลังไฟฟ้ากันถ้วนหน้า ซึ่งมองถึงเป้าหมายของรัฐบาลและรัฐสภาฯ ของนอร์เวย์ คือต้องการให้การท่องเที่ยวผ่านเรือพาณิชย์ทุกระบบมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์เป็นแห่งแรกของโลกนั่นเอง

เรือสำรวจขั้วโลกของ Hurtigruten

การผลักดันให้เรือครุยส์ของนอร์เวย์ยกระดับขึ้นเป็นเรือไฟฟ้าอีกแรงหนึ่ง มาจากบริษัท Hurtigruten ที่ได้สั่งต่อเรือสำรวจไฮบริด เพื่อการท่องเที่ยวขั้วโลกขึ้น 2 ลำ ลำแรกชื่อ MS Roald Amundsen ส่งมอบในปี 2562 และลำที่ 2 ชื่อ MS Fridtjof Nansen ส่งมอบในปี 2020 โดยบริษัทประกาศว่าเรือทั้ง 2 ลำ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่บรรยากาศได้รวม 6,400 ตันต่อปี เมื่อเทียบกับเรือที่ใช้พลังงานฟอสซิลในขนาดเดียวกัน
เรือท่องเที่ยวขั้วโลกทั้ง 2 ลำ เกือบจะเป็นเรือแฝดกัน โดยใช้เครื่องยนต์จากโรลส์รอยซ์ ผ่านน้ำมันดีเซลซัลเฟอร์ต่ำเป็นเชื้อเพลิง และติดตั้งแพกแบตเตอรีกักเก็บไฟขนาดใหญ่ ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้มากกว่า 20% โดยเรือ Roald Amundsen เริ่มเดินทางสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาเป็นทริปแรก พร้อมผู้โดยสาร 431 คน ในขณะที่ Fridtjof Nansen ขนผู้โดยสารได้เต็มที่ 530 คน ใช้พานักท่องเที่ยวชมทวีปแอนตาร์กติกเช่นกัน

เรือ Aranda ของฟินแลนด์

นอกจากนอร์เวย์แล้ว อีกประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าในใช้พลังงานทางเลือกกับเรือสำรวจท้องทะเลและขั้วโลกคือ ประเทศฟินแลนด์ ที่มีการต่อเรือสำรวจทางทะเลชื่อ Aranda มาตั้งแต่ปี 1989 เป็นเรือของสถาบันสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นมาโดยตลอด
ในปี 2017 มียกเครื่องเรือ Aranda และพัฒนาเพิ่มระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไฮโดรเจน สำหรับระบบแสงสว่างและอุปกรณ์ทำความร้อนบนเรือ เป็นโครงการที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป ที่พยายามลดการสร้างมลภาวะในบริเวณขั้วโลกเหนืออย่างต่อเนื่อง
ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนของ Aranda มีขนาด 165 กิโลวัตต์ชั่วโมง พร้อมด้วยถังไฮโดรเจนขนาด 80 กิโลกรัม มีการทดลองเดินเครื่องบนท่าเรือปลายปี 2019 เพื่อทดสอบความปลอดภัย ก่อนติดตั้งบนเรือในเดือนพฤษภาคม 2020 นับเป็นโครงการลดการปล่อยก๊าซเสียจากเรือที่น่าสนใจอีกโครงการหนึ่งของโลก

เรือ AIDAperla จากอิตาลี

สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริษัท AIDAperla Cruises เป็นผู้ประกอบการเรือครุยส์ขนาดใหญ่อีกรายหนึ่งที่เดินหน้าเข้าสู่ยุคพลังเขียว โดยบริษัทได้นำเรือ AIDAperla ยาว 300 เมตร ขนผู้โดยสารได้เต็มลำ 4,000 คน ไปเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิล เป็นระบบไฮบริด โดยมีการติดตั้งแพกแบตเตอรี่ขนาด 10 เมกะวัตต์ชั่วโมง ในปี 2020 ทำให้ AIDAperla ปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ ขณะที่จอดอยู่ที่ท่าเรือที่เป็นจุดหมายปลายทางในประเทศต่าง ๆ

เรือเฟอร์รี่ไฟฟ้า มาแรง

นอกจากเรือครุยส์แล้ว เรือเฟอร์รี่ก็ได้รับการพัฒนาไปสู่ระบบพลังงานไฟฟ้าเช่นกัน เนื่องจากมีระบบขับเคลื่อนที่ไม่ซับซ้อน สามารถนำพลังงานไฟฟ้ามาแทนพลังฟอสซิลได้ง่าย โดยภูมิภาคของโลกที่มีการพัฒนาเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าในระดับแนวหน้าคือ แถบยุโรป ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับแนวหน้าของการนำเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้ามาใช้คือ แคนาดา ประเทศในยุโรปที่มีการพัฒนาเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าอย่างคึกคักคือ นอร์เวย์และเดนมาร์ก โดยในนอร์เวย์มีการสร้างและให้บริการเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าลำแรกของโลก ส่วนเดนมาร์กนอกจากมีเรือเฟอร์รี่พลังไฟฟ้าให้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงยังพัฒนาท่าชาร์จไฟเรือโมบายอเนกประสงค์สำหรับเรือเฟอร์รี่และยานยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ ด้วย

เรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าลำแรกของโลกที่สร้างขึ้นในนอร์เวย์ ชื่อว่า Ampere มีขนาดความยาว 79 เมตร สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 360 คน บรรทุกรถยนต์ได้ 120 คัน โดยเริ่มให้บริการตั้งแต่ปี 2015 ในเส้นทางยาว 6 กิโลเมตรระหว่างเมือง Lavik และ Oppedal สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 95% เทียบกับเรือเฟอร์รี่ทั่วไปและมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงน้อยกว่า 20% สามารถชาร์จไฟเต็มใน 10 นาที

ส่วนที่เดนมาร์กมีการสร้างเรือเฟอร์รี่ไฟฟ้า 2 ลำ คือ 1. Allen ให้บริการระหว่างท่าเรือของเดนมาร์กและท่าเรือประเทศต่าง ๆ ในทะเลบอลติก ใช้แพกแบตเตอรีขนาดใหญ่ขนาด 4,300 กิโลวัตต์ชั่วโมง มีพิสัยระยะทางวิ่งได้ไกล 21.4 ไมล์ต่อการชาร์จใฟหนึ่งครั้ง ใช้งบก่อสร้าง 21.3 ล้านยูโร โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกรรมาธิการยุโรป 16 ล้านยูโร ใช้ไฟฟ้า 100% โดยมีการประเมินว่า Allen ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ 2,000 ตันต่อปี
และ 2. Stena Jutlandica ซึ่งวิ่งให้บริการในเส้นทางเมือง Gothenburg ของสวีเดน และ Frederikshavn ของเดนมาร์ก และ Stena Line ยังได้พัฒนาและสร้างท่าเทียบเรือสำหรับชาร์จไฟเรือด้วย

Stena Jutlandica เป็นเรือเฟอร์รี่ของบริษัท Stena Line ที่มีการพัฒนาไปสู่เรือพลังไฟฟ้าใน 3 เฟส ในเฟสแรกมีการติดตั้งแพกแบตเตอรีขนาด 1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง และเฟส 2 ติดตั้งแพกแบตเตอรี สามารถวิ่งได้ไกล 10 ไมล์ และเฟส 3 จะเพิ่มแพกแบตเตอรี่ที่มีกำลังส่งไฟฟ้า 50,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้วิ่งได้ 50 ไมล์

นอกจากการติดตั้งระบบกักเก็บไฟฟ้าบนเรือเฟอร์รี่ Stena Jutlandica แล้ว บริษัท Stena ยังได้พัฒนาระบบกักเก็บไฟฟ้าสำหรับการชาร์จไฟให้เรือที่ท่าเรือด้วย โดยรายงานข่าวระบุว่า บริษัท Stena ตัดสินใจพัฒนาสถานีชาร์จไฟให้กับเรือเฟอร์รี่ขนาดใหญ่ เนื่องจากบริษัทเตรียมสร้างเรือเฟอร์รี่ใหม่ชื่อ Stena Elektra ใช้พลังไฟฟ้า 100% มีกำหนดให้บริการก่อนปี 2030

เรือเฟอร์รี่ไฟฟ้าของแคนาดา

อีกประเทศหนึ่งที่ความเคลื่อนไหวพัฒนาเรือไฟฟ้าในระดับแนวหน้าคือ แคนาดา โดยมีเส้นทางเดินเรือมากถึง 173 เส้นทาง โดยเรือเฟอร์รีไฟฟ้า 2 ลำแรก เพื่อใช้ในการท่องเที่ยวน้ำตก Great Lakes ทางฝั่งแคนาดา สามารถขนผู้โดยสารได้ 300 คนและรถ 42 คันต่อมามีผู้ประกอบการเดินเรือเฟอร์รี่อีกหลายรายในแคนาดาที่หันมาปรับเรือเฟอร์รี่ที่ให้บริการอยู่แล้วเป็นเรือพลังงานไฟฟ้า อาทิ การท่าเรือ Ports Toronto ณ เมืองโทรอนโตและ, บริษัท BC Ferries ของรัฐบริติช โคลัมเบีย

ทั้งนี้ การท่าเรือ Ports Toronto ได้ปรับเปลี่ยนเรือเฟอร์รี่ Marilyn Bell I ที่วิ่งบริการในเส้นทางสั้น ๆ ใช้เวลา 90 นาที จากท่าเรือต่าง ๆ บนแผ่นดินใหญ่ไปสนามบินบนเกาะ Billy Bishop Airport ให้เป็นเรือพลังไฟฟ้า และเริ่มให้บริการได้ในปี 2020 ทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ 530 ตันต่อปี

ทางด้านบริษัท BC Ferries ซึ่รายงานจากเว็บ dailyhive.com เผยแพร่ปลายปีที่แล้ว ระบุว่า บริษัทได้สั่งให้ต่อเรือเฟอร์รี่พลังงานไฟฟ้าอย่างน้อย 6 ลำ ซึ่งจะมีการทยอยส่งมอบหมดภายในปี 2022 โดยผู้ประกอบเฟอร์รี่รายนี้ เป็นผู้ให้บริการขนส่งด้วยเรือเฟอร์รี่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาเหนือและเป็นอันดับ 2 ของโลก ให้บริการเส้นทางจากแผ่นดินใหญ่ไปยังเกาะต่าง ๆ นอกชายฝั่งของแคนาดาและพื้นที่ห่างไกลที่ถนนเข้าไม่ถึงรายงานข่าวระบุว่าบริษัท BC Ferries ได้สั่งให้บริษัท Damen Shipyard ตั้งอยู่ในประเทศโรมาเนียเป็นผู้ต่อเรือให้ทั้ง 6 ลำด้วยงบประมาณมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเรือแต่ละลำสามารถบรรทุกรถ 47 คัน และผู้โดยสาร 400 คนรวมลูกเรือ

เรือคอนเทนเนอร์พลังไฟฟ้า

ทางด้านเรือคอนเทนเนอร์พลังงานไฟฟ้า บริษัทที่เป็นหัวหอกในการพัฒนา คือ Yara International จากนอร์เวย์ มีสถานะเป็นบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลก ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท Kongsberg ผลิตเรือคอนเทนเนอร์ ที่มีชื่อว่า YARA Birkeland เป็นเรือคอนเทนเนอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติสายพันธุ์แรกของโลก สามารถขนคอนเทนเนอร์มาตรฐานได้ 120 ตู้

เรือคอนเทนเนอร์ YARA Birkeland ได้รับรางวัล Nor-Shipping Next Generation Ship ในนอร์เวย์ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเดิมตั้งเป้าเปิดเส้นทางเดินเรือพาณิชย์ในปี 2020 แต่เนื่องจากเกิดโรคระบาด COVID-19 ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดการวิ่งส่งสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยแบรนด์ Yara ในประเทศนอร์เวย์ เป็นภายในปี 2021 นี้

เรือตู้คอนเทนเนอร์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ YARA Birkeland มีความยาว 80 เมตรกินน้ำลึก 12 เมตร ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นตัวขับเคลื่อนมีความเร็วสูงสุด 10 น็อต (19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ใช้เงินก่อสร้างประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลนอร์เวย์ให้เงินช่วยเหลือ 1 ใน 3 ของค่าสร้างเรือ

เรือท้องแบนเทสล่า

เรือคอนเทนเนอร์พลังไฟฟ้าอีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรือท้องแบนพลังไฟฟ้าที่ได้รับฉายาว่า Tesla of Canals เป็นของบริษัท Port-Liner สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเดิมวางแผนผลิตเรือท้องแบนพลังไฟฟ้าขนตู้คอนเทนเนอร์วิ่งขึ้นล่องเส้นทางคลอง Wilhelmina ในเนเธอร์แลนด์ จำนวน 11 ลำ แต่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องในเรื่องของเทคโนโลยี จึงมีการลดขนาดโครงการปลายปีที่แล้ว Port-Liner ตัดสินใจสร้างเรือต้นแบบขึ้นมาใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบ flow battery ซึ่งมีต้นทุนต่ำและอายุยืนยาว

เขียน : วิชัย สุวรรณบรรณ