ยุคพุ่งทะยานรถยนต์ EV ในจีน NIO มาแรงสุด ๆ

ก่อนหน้านี้มีรายงานวิจัยจากบริษัทการเงิน UBS ระบุว่า รัฐบาลจีนไม่ใช่แค่สนับสนุนให้มีโรงงานประกอบรถยนต์รถไฟฟ้าเท่านั้น แต่วิเคราะห์อย่างละเอียดแล้วว่า จีนมีแร่ธาตุหายาก (Rare Earth) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรีลิเธียมไอออนและแบตเตอรีเป็นชิ้นส่วนสำคัญของรถ EV จึงพัฒนาระบบซัพพลายเชนของรถยนต์ EV จนจีนกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรีและชิ้นส่วนในสัดส่วน 23% ของโลก โดยวัตถุดิบทางเคมีบางตัวของแบตเตอรีนั้น จีนครองตลาดถึง 80 %

การวิเคราะห์ของ UBS พบว่าภายในปี 2029 จีนจะมีโรงงานแบตเตอรีลิเธียมไอออนสำหรับรถยนต์ 101 โรง จากจำนวนโรงงานที่มีการวางแผนทั้งหมดทั่วโลก 136 โรงงาน โดยนาย James Frith ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเอ็นเนอจี สโตเรจ จากสถาบัน Bloomberg New Energy Finance กล่าวว่า ‘ในทศวรรษหน้าเราจะได้เห็นยุโรปและสหรัฐอเมริกาต้องวิ่งไล่ตามเอเชียในเรื่องการสนับสนุนให้เกิดโรงงานแบตเตอรี

ยุโรปและสหรัฐอเมริกาจะต้องดิ้นรนอย่างหนัก เพื่อให้สามารถครองแหล่งซัพพลายเชนรถ EV ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากจีนเป็นผู้ครองซัพพลายเชนรถ EV ขนาดใหญ่ และยังเป็นแหล่งซัพพลายแร่ธาตุหายากรายใหญ่ของโลก และนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้การผลิตรถไฟฟ้าของจีน มีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้รถ EV ของจีนแข่งขันได้ดี

NIO มาแรงสุด ๆ


ตอนที่ Tesla Motor มีมูลค่าตลาด (Market Cap) แซง General Motors (GM) ในปี 2017 นั้น Tasla ขายรถได้แค่ 286,000 คัน ขณะที่ GM ขายรถได้เป็นล้าน ๆ คัน จนเกิดปรากฏการณ์ที่นักลงทุนตลาดหุ้นนิวยอร์กตื่นเต้นกันสุด ๆ กับบริษัทรถยนต์ที่ตั้งขึ้นใหม่ไม่นาน แต่ขายรถได้ไม่ถึง 300,000 คัน แต่กลับมีมูลค่าตลาดแซงบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาได้

และตอนนี้ปรากฏการณ์ความตื่นเต้นที่น่าทึ่งสุด ๆ ของ Tesla โดนทำลายไปเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทรถพลังงานไฟฟ้า (EV) น้องใหม่จากจีนที่ขายรถได้ยังไม่ถึง 100,000 คัน

นั่นคือ NIO บริษัทรถยนต์ EV จากเซี่ยงไฮ้ ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2014 ขายรถได้รวมเพียง 63,343 คัน แต่กลับมีมูลค่าตลาดแซงหน้า GM ไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่ GM ขายรถได้รวม 2.9 ล้านคันในปี 2019

นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นใน Wall Street มองเห็นว่า NIO จะเป็นค่ายรถไฟฟ้าที่มีศักยภาพที่จะต่อสู้กับ Tesla ได้และตั้งฉายาว่าเป็น ‘Tesla ของจีน’ โดย J.P. Morgan ประเมินว่า ‘NIO’ จะเป็นผู้ชนะในระยะยาวในเซกเม้นต์ตลาดรถ EV พรีเมียมในจีน

NIO ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2014 โดยนายวิลเลียม ลี เศรษฐีชาวจีน ซึ่งเป็นประธานบริษัท Bitauto และ NextEV มีสำนักงานอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ และมีขาใหญ่ของจีนและสิงคโปร์อย่าง Tencent, Temasek, Baidu และ Lenovo ร่วมถึง Sequoia และ TPG จากสหรัฐ เข้าร่วมในการระดมทุน และรถ EV คันแรกของบริษัทคือ รถสปอร์ต NIO EP9 ซึ่งมีพื้นฐานมาจากรถแข่งในรายการ FIA Formula E Championship ซึ่งเป็นการแข่งรถ EV 1 ที่นั่ง

ความน่าสนใจของ NIO เริ่มจากปี 2016 ได้รับอนุมัติให้ทดสอบระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่พัฒนาขึ้นในแคลิฟอร์เนีย และ 2 ปีต่อมาได้ตัดสินใจแก้ปัญหาเรื่องแบตเตอรีราคาแพงและการชาร์จไฟนาน ด้วยการสร้างสถานีเปลี่ยนแบตให้กับลูกค้า เป็นระบบที่ลูกค้าสามารถเปลี่ยนแบตเก่าที่ไฟใกล้หมดเป็นแบตใหม่ไฟเต็มได้อัตโนมัติโดยไม่ต้องลงจากรถ ทำให้ดูว่าเหมือนว่ามีอนาคตไกล จนสามารถเข้าตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ในเดือนกันยายน ปี 2018

โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดเรื่องสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี ซึ่ง NIO เปิดโมเดลการขายรถแบบ BaaS (Battery as a Service) ในเดือนสิงหาคม 2020 โดยร่วมลงทุนกับบริษัท CATL ผู้ผลิตแบตเตอรีรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลกของจีน โดยโมเดล BaaS ทำให้ลูกค้าสามารถซื้อรถ NIO แบบที่ใช้ระบบเช่าแบตเตอรีแทนการซื้อ ทำให้ราคารถถูกลง 25 % ซึ่งเป็นราคาที่เท่ากับรถน้ำมันในระดับเดียวกัน แถมยังอัปเกรดแพกเก็จแบตเตอรีได้โดยไม่ต้องซื้อรถใหม่ ซึ่งเมื่อควบรวมกับจุดเด่นในเรื่องบริการสถานีเปลี่ยนแบตเตอรีแล้ว พบว่า ยอดขายรถ NIO ในประเทศจีนเริ่มทะยานขึ้น

แถลงการณ์ในเว็บไซต์ nio.com เผยแพร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัทฯ ได้พัฒนาสถานีเปลี่ยนแบตเตอรีใหม่เป็นรุ่น 2.0 สามารถเปลี่ยนแบตได้ 312 คันต่อวัน และบริษัทฯ ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนสถานีเปลี่ยนแบตเตอรีทั่วประเทศจีนเพิ่มเป็น 500 สถานีภายในปี 2021 ซึ่งในจำนวนนี้ถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากเทียบกับประมาณ 150 สถานีในปี 2020

NIO ใช้แบตเตอรีเป็นจุดขายสำคัญ เนื่องจากบริษัทได้ออกแบบรถโดยใช้ถาดแบตเตอรีเป็นหัวใจในการออกแบบ โครงสร้างถาดแบตเตอรีในรถ NIO เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบ 70 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 100 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถดึงออกมาและเปลี่ยนกันได้เลย

สิ่งที่ NIO คล้ายกับ Tesla คือ ก่อนที่จะมาเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าดาวรุ่งขวัญใจของนักลงทุนตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ ต้องชวนเซมาก่อน โดยหลังจากที่ NIO ทุ่มเงินหน้าตก หมดไปกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2014 และเกือบจะไปไม่รอดช่วงต้นปี 2020 แต่สามารถพลิกกลับมาเป็นบริษัทรถที่มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ผลประกอบการที่นำมาสู่การพลิกฟื้นของ NIO เกิดขึ้นในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว จากการขายรถได้รวม 628 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนรวม 12,206 คัน และยอดขายก็พุ่งขึ้นต่อเนื่องแม้ในภาวะ COVID-19 ระบาด โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายนเดือนเดียว NIO ขายรถได้ 5,291 คัน และยิ่งเดือนธันวาคมยอดขายก็พุ่งทะยานอีก 7,007 คัน และสรุปถึงสิ้นปี 2020 NIO ขายรถทุกรุ่น ได้แก่ ES8 ,ES6 และ EC6 รวมได้ 75,641 คัน