‘มาเลเซีย’ กำลังเผชิญปัญหาใหญ่!! ขาดแคลนอาหารอย่างหนัก หลังเกิดน้ำท่วม ผู้ส่งออกไทยกระทบอย่างไรบ้าง?

หลังจากประเทศมาเลเซียเผชิญกับเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ไปช่วงปลายปี 2564 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมา นั่นคือ ภาวะสินค้าเกษตรและอาหารไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และปัญหาดังกล่าวจะยิ่งหนักขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญของประเทศ

สาเหตุของการขาดแคลนสินค้าเป็นเพราะน้ำท่วมครั้งนี้ ได้ส่งผลโดยตรงต่อพื้นที่เพาะปลูก และปศุสัตว์ ทำให้มีผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในตลาดอีกต่อไป

แน่นอนว่าการเพาะปลูก รวมไปถึงปศุสัตว์นั้นจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวและได้มาซึ่งผลผลิตต่าง ๆ ดังนั้น คาดว่ามาเลเซียจะยังต้องเผชิญปัญหานี้ไปอีกนาน

และสินค้าเกษตรไม่เพียงแต่เป็นสินค้าขั้นสุดท้าย เพราะยังเป็นวัตถุดิบที่สำคัญต่อห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตสินค้าอาหารอีกมากมาย (ทั้งอาหารกระป๋อง อาหารแช่แข็ง หรือแม้แต่สำหรับร้านอาหาร และโรงแรม) จึงมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแบบเป็นโดมิโน่

สำหรับความเสียหายของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัดเจนจากการรวบรวมข้อมูลของ Singapore’s The Straits Times อย่างเช่น ผู้เลี้ยงฟาร์มจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมด สูญเสียเป็ดที่เลี้ยงไว้ราว 8,000 ตัว และจำเป็นต้องทิ้งไข่เป็ดจำนวนมากจากความกังวล เรื่องการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย

ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกผักแห่งมาเลเซีย กล่าวว่า สมาชิกในสหพันธ์ฯ จำนวนมากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ฟาร์มส่วนใหญ่ถูกทำลาย และอีกปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลต่อการผลิต คือ การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติ และได้เดินทางกลับประเทศภูมิลำเนาเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ขณะนี้ราคาผักในตลาดในมาเลเซียมีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 30% (อุปสงค์มากกว่าอุปทาน ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น)

ด้าน ‘กรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ’ ระบุว่า มาเลเซียประสบปัญหาน้ำท่วมสูงครั้งใหญ่ที่สุดในหลายรัฐ โดยส่วนใหญ่พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะเป็นพื้นที่ภาคการเกษตร ทั้งการเพาะปลูกและการเลี้ยงสัตว์ ทำให้เกิดภาวะการขาดแคลน สินค้าในประเทศ

นอกจากนี้ราคาสินค้าสูงขึ้นโดยเฉพาะผัก ปลา และอาหารทะเล สะท้อนได้จากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 2.5% ซึ่งสินค้าเกษตรและอาหารเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น ปัญหาที่มาเลเซียเผชิญปัจจุบัน แม้เกิดจากภัยธรรมชาติ แต่สามารถส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เนื่องจากไม่ใช่แค่กระทบต่อผู้บริโภคปลายน้ำแต่ยังกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานภาคการผลิตสินค้าอาหาร

ขณะที่คาดว่ามาเลเซียมีแนวโน้มพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าจากคู่ค้าสำคัญเพิ่มขึ้น เพื่อส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายต่อไป

สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสินค้าเกษตรที่สำคัญของมาเลเซียนั้น ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารจากไทยมายังมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโดยปกติ ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่มักนิยมบริโภคอาหารไทยและคุ้นเคยกับ สินค้าอาหารของไทยอย่างแพร่หลาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับการส่งออกสินค้าอาหารมาเลเซียนั้น ให้ความคัญกับกฎระเบียบต่าง ๆ ของมาเลเซีย เนื่องจาก ที่ผ่านมามักได้รับการแจ้งเตือนเรื่องสินค้าอาหารที่นำเข้าจากไทยที่ไม่เป็นไปตามกฎระเบียบดังกล่าวบ่อยครั้ง

ดังนั้น ผู้ส่งออกในไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาและปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามกฎระเบียบการส่งออกของมาเลเซีย เพราะถ้าหากสินค้าของเราได้คุณภาพก็จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้มากขึ้น และเป็นผลดีต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจในท้ายที่สุด

ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นแหล่งนำเข้าข้าวหลักของมาเลเซียมาโดยตลอด สาเหตุเป็นเพราะข้าวไทยมีคุณภาพดีและเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มาเลเซีย ได้นำเข้าข้าวจากประเทศอื่นมากขึ้น (อินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม) แม้ว่าคุณภาพข้าวจะด้อยกว่าไทยแต่เนื่องจากประเทศเหล่านี้สามารถส่งข้าวในราคาที่ถูกกว่าข้าวไทยมาก

ดังนั้นหากไทยยังคงคุณภาพของข้าว และปรับราคาส่งออกไทยเราก็สามารถดึงเม็ดเงินจากมาเลเซียให้กลับมา และมาเลเซียจะพร้อมพิจารณาเลือกไทยหลังราคาส่งออกไทยลดลงสู้คู่แข่งได้

ที่มา : DITP ,The Malaymail

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #มาเลเซีย