มองโลก Digital Workplace กับการปรับตัวของ ‘คน’ เมื่อหุ่นยนต์จะมาแย่งงาน

กระแสโลกดิจิทัลทั้งเรื่องอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) หุ่นยนต์ (Robotic) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในโลกธุรกิจ ตลาดแรงงาน ระบบและกระบวนการทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยมีความหนักหน่วงทวีความรุนแรงกว่าทุกยุค งานวิจัยหลายสถาบันออกมาทำนายถึงโอกาสและความล่มสลายของหลายธุรกิจหากปรับตัวไม่ทัน แต่ปัจจัยที่ยังสำคัญที่สุดที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จยังคงเป็นบุคลากร

ช่วงนี้มีกระแสการตื่นตัวเรื่อง Technology Disruption หรือการที่เทคโนโลยีจะเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลกของเราในทุกแง่มุม ตั้งแต่การใช้ชีวิตโดยทั่วไปจนไปถึงเรื่องการทำงาน ในความเป็นจริงต้องทำความเข้าใจว่าเรื่องของ Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกกระดานนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

แต่ที่คนพูดถึงเรื่องนี้มากเป็นเพราะมันเห็นผลที่ชัดเจนกว่าแง่มุมอื่น ๆ อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญและอยากให้เข้าใจคือ Disruption ไม่ได้นำมาแต่เฉพาะปัญหาหรือความท้าทาย แต่มันยังนำมาซึ่งโอกาสอีกมากมายมหาศาลหากเรารู้จักใช้ประโยชน์หรือเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่าคนอื่น

แน่นอนว่า หากเราพูดเรื่อง Technology Disruption แล้ว สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปกังวลคือการที่หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะ ‘แย่ง’ งานมนุษย์

McKinsey ออกมาเปิดเผยผลการศึกษาว่า ภายในปี 2030 หุ่นยนต์จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์มากถึง 800 ล้านตำแหน่งทั่วโลก โดยเฉพาะสายงานด้านการผลิตประกอบเครื่องจักรต่าง ๆ ในโรงงาน

เนื่องจากสามารถให้ผลผลิตในจำนวนที่มากกว่า เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับคน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในโลกการทำงานมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าหุ่นยนต์จะสามารถทำงานแทนมนุษย์เราได้ทั้งหมด เพราะมีทักษะอีกหลายอย่างที่เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ยังไม่สามารถทำได้ดีในระดับเทียบเท่า แม้การพัฒนาของเทคโนโลยีจะมีความก้าวหน้ามากขึ้นก็ตาม

ยกตัวอย่างทักษะที่มนุษย์ทำได้ดีว่าหุ่นยนต์คือ ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) โดยในที่นี้หมายถึงกระบวนการคิดโดยใช้วิจารณญาณหรือการตัดสินอย่างรอบคอบโดยอาศัยเหตุผลในการวิเคราะห์ประเด็น รวมทั้งการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบพิจารณา ตัดสิน และประเมินความถูกต้อง หรือสิ่งที่เป็นประเด็นในขณะนั้น ๆ ให้แม่นยำ

เพราะถึงแม้ว่า AI จะสามารถคำนวณเรื่องต่าง ๆ ได้แม่นยำมากขึ้น เก็บข้อมูลได้มากมาย แต่ในหลาย ๆ เรื่องก็ยังต้องใช้ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ในการตัดสินบางเรื่องอยู่ เช่น ทนายอาจใช้ AI เก็บข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาคดี แต่สุดท้ายอัยการหรือผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินก็ยังคงเป็นมนุษย์นี่เอง

ทักษะความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพราะสมองของมนุษย์มีความซับซ้อนและมีความสามารถในการคิดได้หลากหลายรูปแบบจนนำไปสู่การคิดค้นและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ซึ่งเทคโนโลยีและ AI บนโลกใบนี้ต่างเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์นั่นเอง สิ่งที่ดีไปกว่านั้นคือแม้ว่าคนเราอาจไม่ได้เกิดมาแล้วมีทักษะความคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดหาทางออก หาคำตอบได้อย่างสร้างสรรค์ หรือเราทุกคนไม่ได้เกิดมาแล้วคิดแบบ Steve Jobs ได้ แต่เราก็ยังมีรูปแบบขั้นตอนการคิดที่ฝึกให้เราทำเช่นนั้นได้ เช่น การฝึกคิดแบบ Design Thinking หรือเทคนิคการคิดหาคำตอบแบบนักออกแบบเช่นนี้เป็นต้น

ทักษะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) สิ่งที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าหุ่นยนต์ได้อย่างชัดเจนอีกข้อคือ เนื่องจากมนุษย์มีความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกทั้งของตนเองและของผู้อื่น ความสามารถในการทำความเข้าใจเชิงลึกกับความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของคนอื่นทั้งที่แสดงออกและไม่แสดงออก (Empathy) อาจเรียกได้ว่าคือ ศิลปะในการจินตนาการมองโลกจากมุมของคนอื่น เพื่อที่จะสามารถเข้าใจได้ชัดขึ้นว่าเขาคิดและรู้สึกอย่างไรโดยที่ไม่ใส่ความรู้สึกของเราลงไป ซึ่งถือว่าเป็นทักษะที่พิเศษและเฉพาะตัวของมนุษย์และหุ่นยนต์ทำไม่ได้

นอกจากนั้น ยังมีการโต้ตอบจากนักวิชาการบางกลุ่มเรื่องหุ่นยนต์จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ โดยได้ยกสถิติของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่นำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคนในปี ค.ศ. 1900 ว่า 40% ของแรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ในภาคเกษตรกรรม แม้ทุกวันนี้เหลือคนในภาคเกษตรกรรมเพียง 2%

แต่ประเด็นสำคัญคือ แรงงานหรือบุคลากรในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตกงาน แต่ได้ทำงานที่มีคุณค่าสูงขึ้นด้านควบคุมเครื่องจักร รวมถึงมีงานใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามความก้าวหน้าของโลกอุตสาหกรรมครั้งนั้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดว่า “การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้สร้างตำแหน่งงานใหม่ ๆ ที่มากกว่าตำแหน่งงานที่ถูกทำลายหายไป เมื่อเทียบจากจำนวนตำแหน่งงานในช่วง 144 ปีที่ผ่านมา” ดังนั้นในโลกดิจิทัลที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้จะมีแต่ด้านลบเท่านั้น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า จะสร้างเป็นโอกาส หรือเป็นข้อกังวลในความท้าทาย

โดยวิธีคิด (Mindset) ของผู้บริหารองค์กรจะเป็นตัวเร่งและนำทิศทางที่จะเดินไปในอนาคตยุคที่ AI & Robot เข้ามา โดยมี 4 เรื่องที่ต้องเตรียมพร้อม ดังนี้

ประเด็นแรก ต้องผสาน Business, HR และ IT เป็นหนึ่งเดียว

แพลตฟอร์มใหม่ของธุรกิจจะมี IT เป็นพื้นฐานโดยเชื่อมโยงข้อมูลทุกอย่างในองค์กร หลายงานในอดีตจะหายไปเป็นโปรแกรมอัตโนมัติ (Bot) หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งหน่วยงานทรัพยากรบุคคลจะต้องสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ โดยจัดให้เกิดการปรับทักษะใหม่ของคนทำงาน (Re-Skill) จัดอบรมความรู้ในการทำงานร่วมกับ AI เช่น การเขียน Code การคัดเลือกและสรรหางานตำแหน่งใหม่ในองค์กร อาทิ นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น

โดยระบบที่นำมาใช้ในองค์กรต้องสามารถเชื่อมโยงข้อมูลส่วนตัวพนักงาน ที่สามารถบันทึกและติดตามผลการทำงานที่เชื่อมตัวเลขยอดขาย กำไร ต้นทุน ค่าใช้จ่าย หรือความพึงพอใจลูกค้าได้ และสามารถแสดงผลได้อย่างโปร่งใสและมีความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อให้องค์กรสามารถเชื่อมโยงระบบและเข้าถึงปัญหา วิเคราะห์ อีกทั้งยังสามารถทำนายถึงผลประกอบการได้อย่างรวดเร็วและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ประเด็นที่สอง สร้างวัฒนธรรมองค์กร คือ “พร้อมและปราดเปรียวในการเปลี่ยนแปลง”

นอกจากโปรแกรมอัตโนมัติ เช่น Bot, Chatbot, ระบบออโตเมชัน หรือปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาทดแทนงานของคนในองค์กร ซึ่งการเกิดขึ้นของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะสามารถทำให้ธุรกิจเกิดการพลิกผัน (Disruption)

หลายองค์กรมุ่งมั่นจริงจังกับการเฟ้นหาบริการและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่สิ่งที่ลึกไปกว่านั้นคือ องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผสานความร่วมมือ ติดต่อสื่อสาร และเชื่อมต่อข้อมูลในองค์กรกันอย่างรวดเร็ว โดยนำเครื่องมือใหม่ ๆ ที่สนับสนุนการทำงานในสังคมดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับคนทำงานในองค์กร เช่น Cloud, Office 365, Power BI, Web Conference, Based Camp, Slack เป็นต้น

นอกจากนี้ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมในองค์กรให้เอื้อต่อการคิดแตกต่าง การตั้งโจทย์เพื่อออกสำรวจ ทดลอง และทำให้คนกล้าที่จะล้มเหลวภายในระยะเวลาจำกัด เพื่อจะได้มาซึ่งวิธีการใหม่ ความยืดหยุ่น ความปราดเปรียว ในการปรับตัวในทุกสถานการณ์จะเป็นความเชื่อสำคัญที่จะทำให้คนในองค์กรปรับตัวและเรียนรู้ไปกับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่สาม การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นกุญแจนำทาง

เมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถทำงานได้เร็วกว่าสมองคน จึงจำเป็นที่คนทำงานทุกคนต้องเร่งปรับตัวและเรียนรู้อย่างรวดเร็วกับเทคโนโลยี

อีกทั้งเรากำลังอยู่ในยุค Gig Economy ซึ่งทุกองค์กรมีทางเลือกในการจ้างงานที่ใช้ทักษะใหม่ที่หาไม่ได้จากคนทำงานในองค์กร จากคนทำงานอิสระ (Freelance) ทำงาน Part-time หรือ รับช่วงทำงานแบบ Outsource ทำให้ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในการพัฒนาพนักงาน ถือเป็นความรับผิดชอบของตัวพนักงาน เพื่อจะได้มีความก้าวหน้าในทักษะใหม่ และไม่ล้าสมัย สามารถทำงานกับเทคโนโลยีใหม่

… จึงเป็นความสำคัญที่คนทำงานต้องลงทุนเวลา ลงแรง และมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนรู้เพื่อความก้าวหน้าในการทำงาน โดยปัจจุบันแหล่งการเรียนรู้มีอยู่ทุกที่ ทั้งแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์ที่สามารถค้นหาและเข้าถึงแบบมีค่าใช้จ่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย มีให้เลือกหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีรูปแบบเนื้อหาให้อ่าน ฟัง แบบ Podcast หรือการเรียนแบบสามารถโต้ตอบปฏิสัมพันธ์ได้ ประเด็นสำคัญคือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราอยู่ได้ในสังคมโลกในอนาคต

ประเด็นที่สี่ เริ่มต้นได้ที่ผู้นำ

การส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร (Intrapreneur & Innovation) การปรับทักษะใหม่แก่คนทำงาน (Re-Skill) การลงทุนในแพลตฟอร์มการทำธุรกิจ (New Digital Platform & Workplace) การสร้างทัศนคติใหม่ให้เกิดขึ้นกับคนในองค์กร (Cultural Change) ทั้งหมดล้วนเป็นบทบาทของผู้นำ

ยิ่งเทคโนโลยีก้าวล้ำไปขนาดไหน หากผู้นำไม่สนับสนุนสิ่งใหม่ ๆ และความเชื่อใหม่เข้ามาใช้ในองค์กร สิ่งต่าง ๆ ย่อมไม่เกิดขึ้น วัฒนธรรมในองค์กรทั้งความปราดเปรียวในการเปลี่ยนแปลง และทัศนคติเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตของพนักงานในองค์กรมีความเชื่อมโยงกันและเป็นแรงสนับสนุนซึ่งกันและกัน ผู้นำต้องเชื่อและมุ่งมั่นเข้าใจในการผลักดันให้องค์กรสามารถปรับตัว เปลี่ยนแปลง และมีความยืดหยุ่น ไม่ใช่มองแค่เป็นเรื่องสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้เกิดความทันสมัยหรือทำไปตามยุคสมัยดิจิทัล แต่ต้องเห็นโอกาสและวิกฤตของธุรกิจที่จะเดินไปข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร

แน่นอนว่าเราคงปฏิเสธการเข้ามาของเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ในโลกอนาคตไม่ได้ แต่เราสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อให้การทำงานได้ซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเพื่อให้โลกการทำงานในอนาคตของทั้งมนุษย์และหุ่นยนต์สามารถทำงานและอยู่ร่วมกันได้…