ภาวะโลกร้อนจะกระทบงบการเงินในอนาคต ‘คาร์บอนเครดิต’ โมเดลที่ต้องจับตามอง!! ต้นทุนส่วนเพิ่มที่เจ้าของธุรกิจต้องจ่าย

ภาคธุรกิจเป็นหนึ่งในตัวการที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน ส่วนใหญ่มาจากกระบวนการผลิตที่สร้างมลภาวะ ดังนั้น จึงถูกร้องเรียนบ่อยครั้ง นำมาสู่การตั้งข้อกำหนดให้ร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำกฎเกณฑ์เข้ามาควบคุมมากมาย เช่น คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) ที่นำมาใช้วัดปริมาณผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลายประเทศ รวมถึงไทยเราเองได้นำคาร์บอนฟุตพรินต์มาติดบนฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่ากระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้คำนึงถึงผลเสียต่อสังคม

นอกจากนี้ปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วยังมีการนำ คาร์บอนเครดิต (Carbon credit) มาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งคาร์บอนเครดิตเป็นกลไกที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ด้วยการควบคุมภาคธุรกิจหรือหน่วยงานที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลักษณะจะเป็นเหมือนใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาร์บอนเครดิตสามารถซื้อขายกันเองได้ เพื่อให้สิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (บริษัทใดที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าเป้าหมายก็สามารถนำไปขายให้กับบริษัทที่ลดก๊าซเรือนกระจกได้น้อย)

แม้ว่าประเทศไทยในตอนนี้จะมีการเปิดตัว Thailand Carbon Credit Exchange Platform (แพลตฟอร์มหลักของประเทศสำหรับการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต) ไปเมื่อเดือน ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา แต่ถือว่ายังไม่ได้รับความนิยมมากนัก

สาเหตุเป็นเพราะยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต (เป็นเพียงคาร์บอนเครดิตโดยสมัครใจ ที่จะมีบางธุรกิจเข้าร่วม) แต่ในอนาคตอาจจะได้เห็นการบังคับใช้เหมือนในต่างประเทศ เช่น การซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ถูกบังคับโดยรัฐบาล เช่น สหภาพยุโรป ประเทศออสเตรเลีย และสหรัฐฯ

ดังนั้น หากบริษัทใดไม่ได้ควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจจะต้องมีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการซื้อโควตาคาร์บอนเครดิตในอนาคต นั่นทำให้บริษัทที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้จะถูกชิงความได้เปรียบเชิงแข่งขันไปอย่างแน่นอน

นอกจากต้นทุนที่เพิ่มแล้ว พฤติกรรมการเลือกผลิตภัณฑ์ของคนในปัจจุบันก็เป็นอีกสิ่งสำคัญ เพราะปัจจุบันผู้บริโภคคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม จึงเลือกสรรสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

#PwC ประเมินว่า “อนาคตภาวะโลกร้อนจะกระทบงบการเงิน”
เทรนด์การบริโภคสินค้า รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาจากการไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับความเห็นของ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชีและหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย ที่ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงินในอนาคต หลังประชาคมโลกออกกฎเกณฑ์ เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

โดย ‘ประชาคมโลก’ ได้มีการทำความตกลงเรื่องเป้าหมาย และมาตรการต่าง ๆ ในการพยายามควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งปัญหานี้นอกจากจะส่งผลกระทบทางกายภาพ การออกกฎระเบียบต่าง ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคแล้วยังจะส่งผลกระทบกับงบการเงินในอนาคตด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ภาวะโลกร้อนอาจส่งผลให้เกิดข้อบ่งชี้ของการด้อยค่าของสินทรัพย์ในบางธุรกิจ โดยทำให้กิจการจะต้องทำการทดสอบการด้อยค่า เช่น รัฐบาลในบางประเทศอาจมีการกำหนดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ ซึ่งหากมีการปล่อยก๊าซพิษเกินกำหนด จะต้องมีการซื้อคาร์บอนเครดิตจากตลาด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ส่วนกรณีพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนั้น จะทำให้ความต้องการในสินค้าบางประเภทลดลง เช่น แนวโน้มของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถที่ใช้น้ำมัน ดังนั้น กิจการต้องประเมินว่า เครื่องจักรต่าง ๆ จะสามารถก่อให้เกิดกระแสเงินสดที่ครอบคลุมมูลค่าตามบัญชีของสินทรัพย์หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่บางบริษัทอาจมีการสื่อสารต่อสาธารณชน ถึงการดำเนินธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มีกฎหมายใด ๆ มาบังคับ เช่น สื่อสารว่าจะหันมาใช้เครื่องจักรที่ใช้พลังงานสะอาด ทดแทนเครื่องจักรเก่าภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งการสื่อสารในลักษณะนี้ อาจสร้างความคาดหวังต่อสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น ในการทำประมาณการกระแสเงินสด จากการใช้เครื่องจักรจากเดิมตามอายุการใช้งานปกติอาจทำให้สั้นลง ซึ่งกรณีนี้อาจส่งผลต่อการด้อยค่าได้

ขณะที่ กิจการจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน ที่มีการกำหนดเงื่อนไขเชื่อมโยงกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย โดยปัจจุบัน มีเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เช่น ตราสารหนี้สีเขียว และสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ที่อ้างอิงจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกิจการ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าว กิจการจะต้องเข้าใจถึงเหตุผลของการเชื่อมโยงของอัตราดอกเบี้ยกับการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ว่าเป็นเพราะเหตุใด

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการประมาณการหนี้สิน ในกรณีที่กิจการมีภาระในการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่แทนเครื่องจักรเก่าเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กิจการจะต้องประเมินถึงผลกระทบกับระยะเวลาในการรื้อถอน และตัวเลขหนี้สินจากประมาณการรื้อถอนในงบการเงิน

ในระยะถัดไป ภาวะโลกร้อนจะยิ่งกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับทุก ๆ องค์กรและหน่วยงานธุรกิจ ที่ต้องหันมากำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษ์โลก และต้องสร้างผลกำไรอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ บนพื้นฐานของการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เกร็ดความรู้ : คาร์บอนเครดิต (Carbon credit) เป็นกลไกที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมภาคธุรกิจหรือหน่วยงานที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการคำนวณคาร์บอนเครดิตจะวัดจากปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ธุรกิจสามารถลดได้ด้วยการดำเนินโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism) โดยคาร์บอนเครดิต มีมูลค่าสูงจนส่งผลให้ธุรกิจที่มีคาร์บอนเครดิตสูง ๆ สามารถนำมาขายให้แก่ธุรกิจหรือหน่วยงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายที่ควบคุมได้ (สรุปง่าย ๆ คือ เจ้าของธุรกิจสามารถซื้อโควตาคาร์บอนเครดิตได้นั่นเอง)

ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย การให้ความรู้และกำหนดแผนงานที่เกี่ยวข้องแก่ภาคธุรกิจไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกัน การพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน เนื่องจากการลดภาวะโลกร้อน เป็นประเด็นสำคัญและเร่งด่วนที่จะกระทบต่อธุรกิจไทยในอนาคต

ที่มา : SET

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #คาร์บอนเครดิต