ภาระจะตกสู่ผู้บริโภคเร็วๆ นี้!! ต้นทุนสินค้า IT สูงลิ่ว เจอบาทอ่อนซ้ำ อนาคตผู้ผลิตแบกรับไม่ไหว ต้องขึ้นราคาสินค้า

ก่อนหน้านี้หลายๆ คนคงเคยติดตามข่าวเกี่ยวกับความขาดแคลนของสินค้า IT ประเภท คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต ไอแพด หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ สาเหตุหนึ่งคือ ในช่วงโควิด-19 ความต้องการใช้งานสินค้าประเภทดังกล่าวเพิ่มขึ้นสูงมาก (คนทำงานต้อง Work from Home และเด็กๆ ต้อง Learn from Home) แถมก่อนหน้านี้ยังมีความต้องการที่สูงขึ้นจากกระแสการขุดบิตคอยน์ ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ IT ประสิทธิภาพสูง

โดย Internaional Data Corporation (IDC) รายงานว่ายอดขายคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค ทั่วโลกสำหรับไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ผ่านมาสูงถึง 84 ล้านเครื่องทั่วโลก เพิ่มจากปีก่อนหน้า 55.20% และราคาขายก็เริ่มปรับขึ้นมาบ้างแล้ว (ราว 15-20%)

เรื่องดีมานด์พุ่งขึ้นเป็นหนึ่งในสาเหตุของความขาดแคลน และยังมีอีกปัญหาใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากห่วงโซ่อุปทานของหลายอุตสาหกรรมติดขัด ไม่เว้นแม้กระทั่งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า IT ที่เริ่มเจอกับภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของเทคโนโลยี ครอบคลุมทั้ง คอมพิวเตอร์ สินค้ากลุ่มไอที สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต รวมไปถึงรถยนต์

นอกจากนี้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมายังมีเรื่องของการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้การนำเข้าชิ้นส่วนเพื่อผลิตสินค้า IT ล่าช้าลงไปกว่าเดิม และปัญหาดังกล่าวทำให้ค่าระวางเรือซึ่งเป็นตัวชี้ทิศทางของราคาค่าขนส่งพุ่งขึ้น (จากเมื่อต้นปี 2562 ยังอยู่ที่ประมาณ 480 จุด และได้พุ่งต่อเรื่องจนมาอยู่แถวๆ 3,400 จุด ในเดือนสิงหาคม) คิดเป็นการปรับตัวขึ้นสูงถึง 2,920 จุด (+608%) ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าได้รับผลกระทบทั้งเรื่องของระยะเวลาจัดส่งสินค้า

นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งขึ้นอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา ขึ้นมาอยู่แถวๆ 70 เหรียญต่อบาร์เรล จากต้นปี 2564 อยู่ที่ระดับประมาณ 53 เหรียญต่อบาร์เรล (เพิ่มขึ้น 17 เหรียญต่อบาร์เรล) ก็เป็นตัวซ้ำเติมต้นทุนขนส่งสินค้าด้วยอีกทาง

สำหรับ ประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถผลิตสินค้าเทคโนโลยีสูงอย่าง เซมิคอนดักเตอร์ ได้ด้วยตัวเองได้ ต้องอาศัยการนำเข้าเพียงอย่างเดียว ดังนั้น เมื่อการนำเข้าเจอปัญหาที่เป็นคอขวด (จากทั้งหมดที่กล่าวมา) จึงเจอเข้ากับปัญหาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ไม่เพียงเท่านั้น ตอนนี้มีอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ล่าสุดเข้ามา อย่างเรื่องของค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยค่าเงินบาทอ่อนค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และเริ่มทวีความรุนแรงเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หากนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมาซึ่งอยู่ประมาณ 31 บาท/ดอลลาร์ และดีดขึ้นพรวดพราดจนมามาอยู่แถว 33 บาท/ดอลลาร์

ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น (จากเดิมสินค้าราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะใช้เงินเพียง 31 บาท แต่ปัจจุบันต้องใช้ถึง 33 บาท)

เหล่านี้ถือเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกสินค้า IT จะได้รับผลกระทบ โดยดูข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า เมื่อนำมูลค่านำเข้ากับปริมาณนำเข้าช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มาคำนวณเป็นราคาส่วนประกอบคอมพิวเตอร์เฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.59 ล้านบาทต่อเมตริกตัน โดยราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน 39.25% ที่มีมูลค่า 1.86 ล้านบาทต่อเมตริกตัน

ถึงแม้ตอนนี้หลายๆ บริษัทจะยังสามารถรับมือได้ แต่ถ้าหากปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทาน และค่าเงินบาทอ่อนค่ายังยืดเยื้อ จากสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกที่ยังไม่คลี่คลาย ปัญหาเหล่านี้จะต้องถูกผลักมาสู่ผู้บริโภค ในรูปแบบของการขึ้นราคาสินค้าในท้ายที่สุด

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : tradingview.com ,ผู้จัดการออนไลน์ , tradereport.moc.go.th , Internaional Data Corporation (IDC)

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เซมิคอนดักเตอร์ #สินค้าไอที #IT