ภาพ Inverted Yield Curve เริ่มชัดเจน!! การบังคับขายสินทรัพย์ราคาถูกของทั่วโลก กำลังจะเกิดขึ้นรึเปล่า?

สหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเสื่อมค่าของเงินอย่างรุนแรงผ่านปริมาณเงินที่ถูกพิมพ์ออกมาตลอด 2 ปีในช่วงวิกฤตโรคระบาด เพื่อหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจที่ต้องใช้คำว่าพังเป็นที่เรียบร้อยไปแล้วให้ยังพอมีลมหายจายต่อไปได้อีกชั่วครู่ชั่วยาม เหตุผลที่เป็นการหล่อเลี้ยงแบบชั่วครู่ชั่วยามก็ดูได้จากนโยบายการเงินการคลังของสหรัฐฯ อย่างในกรณีของการคลังเงินเหล่านั้นเป็นการใช้จ่ายแล้วจบไม่ได้นำไปต่อยอดลงทุนสร้างธุรกิจและเศรษฐกิจใด ๆ หรือไม่ก็นำไปเก็งกำไรในตลาดเงินตลาดทุน (ไม่ได้ก่อเกิดประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจแท้จริง) บวกกับนโยบายการเงินผ่านการกู้เงินอย่างต่อเนื่องผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ บนต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำเพื่อมาจ่ายหนี้เก่าของรัฐบาลกลาง แต่การเติบโตของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างต่ำ และการเติบโตต่ำซึ่งหมายถึงรายได้ที่น้อยลงนี้ก็มีคำถามที่ตามมาคือถ้าวันหนึ่งดอกเบี้ยขึ้นรุนแรงจะเกิดอะไรขึ้นกับสหรัฐฯ เพราะเมื่อไรที่อัตราดอกเบี้ยยืนเหนืออัตราการเติบโตนั่นหมายถึงพวกเขาจะไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ยแล้วใช่รึเปล่า?

ล่าสุดสถานการณ์ตลาดพันธบัตรทั่วโลกก็ดูไม่ค่อยดีนักหลัง The Bloomberg Global Aggregate Index ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ของภาคเอกชนทั่วโลกร่วงลงไป 11% จากจุดสูงสุดช่วงก่อนปี 2021 และถือเป็นการปรับตัวลงครั้งใหญ่นับตั้งแต่จุดสูงสุดในปี 1990 และแซงหน้าการปรับตัวลงที่ 10.8% ในช่วงวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2008 ไปแล้ว ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการเทขายพันธบัตรและตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนความวิตกกังวลจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่อาจจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ (เงินเฟ้อสูงกว่าผลตอบแทนทำให้การฝากเงินไว้ในพันธบัตรและตราสารหนี้จะเกิดการขาดทุน) บวกกับการการเสื่อมค่าของเงินที่รวดเร็วขณะที่ประชาชนก็มีรายได้ต่ำแต่ต้องเผชิญกับสินค้าอุปโภคและบริโภคทุกอย่างปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมกับปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Inverted Yield Curve หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นกำลังจะสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (ตอนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 2 ปีอยู่ที่ 2.18% ขณะที่พันธบัตรสหรัฐ 10 อยู่ที่ 2.40%) ซึ่งถ้าเมื่อไรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาวมันคือสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทางธนาคารกลางของสหรัฐก็เพิ่งปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปที่ 0.25% ซึ่งทางนายเจอโรม โพเวลล์ ก็เผยว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ครั้งต่อไปจะปรับขึ้นทีเดียว 0.5% หากตัวเลขเงินเฟ้อรุนแรงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ซึ่งจริง ๆ การปรับขึ้นครั้งล่าสุดเหมือนตลาดเงินตลาดทุนจะรับรู้ไปก่อนแล้วทำให้ไม่มีปฏิกิริยาอะไรตอบกลับมามากนัก แต่ครั้งถัดไปจนถึงสิ้นปีอาจจะมีอะไรเหนือคาดการณ์ได้ตลอดเวลา เพราะตอนนี้สำหรับแอดมินเราอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ไปแล้ว

ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยพร้อมกับการดึงกระแสเงินสดกลับจากระบบผ่านนโยบายการเงินที่เข้มงวดจะทำมาซึ่งกระแสเงินสดระยะสั้นในตลาดเงินตลาดทุนไม่เพียงพอ ตรงนี้น่าสนใจเพราะเมื่อมีไม่พอ แต่ดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนก่อนเข้าสู่ตลาดลงทุนอื่น ๆ เมื่อความต้องการดอลลาร์สหรัฐสูงแต่ดอลลาร์สหรัฐไม่มีเพียงพอ จะเกิดอะไรขึ้นตามมาต่อจากนี้ กระบวนการบังคับขายสินทรัพย์ในราคาถูกของทั่วโลกกำลังจะเกิดขึ้นรึเปล่า?

ในมิติของการทำธุรกิจดอกเบี้ยที่สูงหมายถึงต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เมื่อรับไม่ไหวก็ต้องปรับโครงสร้างหนี้ หรือปล่อยยึดกิจการรึเปล่า?

แอดมินเตือนมาตลอด 2 ปี ถ้าใครตามอ่านมาตลอดอะนะ วันนี้ก็เหมือนเดิมเศรษฐกิจพอเพียงจะพาพวกคุณอยู่รอด ดูแลตัวเองและครอบครัวกันดี ๆ ครับ

เขียน : เอกพล มงคลพัฒนกุล

ติดตาม Business+ ได้ที่ https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #InvertedYieldCurve #พันธบัตรรัฐบาล #ตราสารหนี้ #ตลาดเงิน #ตลาดทุน #Bond