พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร

เศรษฐกิจพอเพียง”คือมรดกที่ดีที่สุดจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร รัชกาลที่ ๙

 

ภาพถ่ายของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เห็นมาเป็นเวลานานที่สุดจำนวนหนึ่งคือภาพที่พระองค์ทรงคล้องกล้องถ่ายภาพไว้ที่พระศอ หรือทรงถือกล้องถ่ายภาพไว้ตลอดการเสด็จพระราชดำเนินไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อทรงตรวจโครงการทั้งหลายที่ทรงสนับสนุนเป็นการส่วนพระองค์และทรงติดตามความคืบหน้าตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์นาน 70 ปี

พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของประเทศไทยทรงรักษาสัญญาข้อหนึ่ง นั่นคือคำสัญญาที่ว่าพระองค์จะทรงครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

เมื่อปี 2540 ประเทศไทยประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งร้ายแรงที่สุดในชั่วอายุของคนหนึ่ง พระองค์ทรงคิดทฤษฎีที่เรียกกันในขณะนี้ว่า“เศรษฐกิจพอเพียง” อันมีหลักการของพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน โดยเฉพาะความทุกข์ทางใจ ทฤษฎีนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ในการทรงงานเพื่อช่วยให้ประชาชนของพระองค์ปฏิบัติตามแนวทางเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี

เมื่อถึงปี 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงริเริ่มและดำเนินโครงการพระราชดำริเพื่อการพัฒนามาแล้วเป็นจำนวน 2,159 โครงการ โครงการส่วนใหญ่มุ่งปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์โดยเฉพาะชาวชนบทในท้องถิ่นทุรกันดารให้ดีขึ้น

บางครั้งพระองค์จะทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเริ่มดำเนินโครงการ พระองค์ทรงก่อตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาเมื่อปี 2531 เพื่อให้เงินสนับสนุนโครงการพัฒนาชนบท และช่วยเร่งการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ

ผลจากพระมหากรุณาธิคุณเพื่อชาวไทยที่ขาดแคลนคือ“ทฤษฎีใหม่”ในการจัดการที่ดินและการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร “ทฤษฎีใหม่”นี้มีสูตรง่าย ๆ ที่เรียกว่า 30-30-30-10

ทฤษฎีนี้แบ่งที่ดินออกเป็นสี่ส่วน ที่ดินร้อยละ 30 แรกใช้เป็นแหล่งน้ำ อีกร้อยละ 30 เป็นนาข้าว อีกร้อยละ 30 ใช้ปลูกพืชที่เป็นอาหารหลายชนิด เช่น ไม้ผลและผัก เป็นต้น และอีกร้อยละ 10 ใช้เป็นที่อยู่อาศัย บริเวณเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่เก็บข้าว

เกษตรกรที่ปฏิบัติตาม“ทฤษฎีใหม่”นี้พบว่าแผนนี้ไม่ซับซ้อนและปฏิบัติตามได้ง่าย นอกจากนี้ยังไม่ต้องใช้เทคโนโลยีราคาแพงอีกด้วย หลายคนที่ลองใช้ระบบนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ ด้วยเหตุนี้ชุมชนเกษตรกรรมหลายส่วนจึงมีกินมีใช้อย่างพอเพียงและพึ่งตนเองได้

หลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียเมื่อปี 2540 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับประเทศของพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นวิธีช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนั้น ตามหลักความคิดนี้ คนไทยทุกคนควรดำเนินชีวิตในลักษณะที่จะทำให้ตนมีพอกินและมีฐานะทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้

หลักเศรษฐกิจพอเพียงต้องมีการวิจัยและพัฒนาดินและปรับปรุงธัญพืชเพื่อการผลิตที่เพียงพอแก่การบริโภคในประเทศไทยเสียก่อน

สำหรับประเทศที่ยึดพุทธศาสนาเป็นหลักสำคัญนั้น ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเน้นว่าทางสายกลางเป็นหลักการสำคัญที่สุดในการดำเนินชีวิตของพสกนิกรทุกระดับ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว การสร้างความเจริญทางวัตถุไม่ใช่จุดมุ่งหมายสูงสุด เป้าหมายสุดท้ายนั้นคือการสร้างชุมชนที่พึ่งตนเองได้ มีสภาพแวดล้อมที่ดี และตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ได้โดยใช้วิธีการผลิตตามธรรมชาติของท้องถิ่นต่างหาก

ตัวอย่างที่ดีตัวอย่างหนึ่งของการปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือ การที่พระรูปหนึ่งจากวัดดอยผาส้มที่จังหวัดเชียงใหม่และชุมชนในท้องถิ่นของท่านใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่อำเภอสะเมิง

เมื่อเกษตรกรสะเมิงพบพระสังคม ธนปัญโญครั้งแรก พวกเขาเล่าปัญหาเรื่องคุณภาพของธัญพืชให้ท่านฟัง พระสังคมและที่ปรึกษาของท่านพบว่าดินในท้องถิ่นแห้งมากและแทบไม่มีธาตุอาหารเลย จึงทำให้ธัญพืชไม่งอกงาม

ทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำนั้นคือการสร้างโครงสร้างทางสิ่งแวดล้อมที่สามารถกักเก็บทรัพยากรน้ำตามธรรมชาติ(อันได้แก่ตาน้ำบนภูเขาและน้ำฝน) ฝนตามฤดูสามารถให้น้ำเพียงพอแก่ระบบนิเวศน์ในป่าและเกษตรกรรมในท้องถิ่น

การถางป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตรได้ทำลายโครงสร้างตามธรรมชาติที่จำเป็นต่อการกักเก็บน้ำและทำให้เกิดน้ำป่ามากขึ้น นี้ทำให้ดินในท้องถิ่นแห้งนานหลายเดือนในฤดูแล้ง โครงการพัฒนาโครงการแรก ๆ ของพระรูปนี้คือการสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งทำให้เกิดแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติขนาดเล็กหลายแห่ง การสร้างระบบฝายชะลอน้ำต้องการความร่วมมือจากคนในชุมชน ทหาร และข้าราชการ

ความร่วมมือระหว่างคนในท้องถิ่นและองค์กรจากภายนอกนี้คือปัจจัยของแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนของวัดดอยผาส้ม หลังจากสร้างฝายชะลอน้ำได้ 12 เดือน ความชื้นและคุณภาพดินในท้องถิ่นที่เหมาะแก่การเพาะปลูกจึงค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันมีฝายชะลอน้ำขนาดต่าง ๆ (0.25-2 เมตร) มากกว่า 100 ฝายในพื้นที่ต้นน้ำห้วยบง

การปลูกป่าในปีแรกของการพัฒนาช่วยเสริมเครือข่ายฝายชะลอน้ำเพราะทำให้ดินอุ้มทรัพยากรน้ำตามธรรมชาติได้ดีขึ้น การปลูกป่านั้นเน้นพืชที่มีประโยชน์ตามหลัก“เศรษฐกิจพอเพียง” เช่น พืชอาหารและพืชเศรษฐกิจ เป็นต้น

พืชเหล่านั้นรวมถึงกล้วย มะละกอ ข้าว ฝรั่ง มะพร้าว สัก ไผ่ และไม้แดง จากนั้นระบบนิเวศน์ในท้องถิ่นก็มีความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นและสามารถกักเก็บน้ำได้ดีขึ้น สภาพป่าที่ฟื้นฟูขึ้นนั้นได้กลายเป็นที่อยู่ของนกและสัตว์ป่าหลายชนิดอันเป็นปกติของธรรมชาตินั่นเอง

เมื่อกระบวนการฟื้นฟูนั้นได้เกิดขึ้นจนครบปีแรกแล้ว ความพยายามพัฒนาระบบกักเก็บน้ำตามธรรมชาติได้ดำเนินต่อเนื่องไปอีกสี่ปี การสร้างระบบเก็บน้ำได้พัฒนาจากฝายชะลอน้ำซึ่งสร้างด้วยไม้กลายเป็นฝายปูน และมีการสร้างอ่างเก็บน้ำแยกต่างหากซึ่งรู้จักกันในนาม“แก้มลิง”ด้วย

อ่างเก็บน้ำเหล่านี้รวบรวมและกระจายความชื้นสู่พื้นดินโดยรอบ และใช้เป็นแหล่งน้ำของชุมชนในฤดูแล้งได้ด้วย ในขณะเดียวกันกระบวนการปลูกป่าก็ยังคงดำเนินต่อไป มีการปลูกพืชที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้น เมื่อดินมีความชื้นมากขึ้น จำนวนการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตรก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

การพัฒนาพลังงานทางเลือกเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของแผนพัฒนาอย่างยั่งยืนของวัดดอยผาส้ม ชุมชนประสบความสำเร็จจากการเริ่มทดลองผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันของต้นทานตะวันที่ปลูกในท้องถิ่นและน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว การพัฒนาในอนาคตจะเป็นการผลิตพลังงานสะอาดจากเซลล์แสงอาทิตย์และเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็ก

ความสำเร็จในการฟื้นฟูที่ดินดังตัวอย่างจากอำเภอสะเมิงลบล้างความคิดที่ว่า การฟื้นฟูสารอาหารในดินเพื่อการเพาะปลูกแต่ละปีนั้นต้องใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง “วิธีทำการเกษตรสมัยใหม่”ดังกล่าวมักทำให้เกษตรกรต้องมีหนี้สินในระยะยาว

การลงทุนสูงเช่นนั้นทำให้หลายคนต้องทิ้งเกษตรกรรมที่บรรพบุรุษเคยทำกันมา และหางานทำในเมืองที่ใกล้ที่สุด เช่น เมืองเชียงใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์นานสองชั่วโมง

มรดกตลอดกาลแห่ง“พระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม”ของประเทศไทยน่าจะเป็นทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ซึ่งประเทศไทยสามารถมอบให้ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้อย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอันเป็นวลีนิยมของหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติแล้ว จะเห็นได้ว่าถึงเวลาที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสมควรจะปรับปรุงรายงานการพัฒนาคนของประเทศไทยปี 2550 ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้แล้ว

ถ้าหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นประโยชน์กับเกษตรกรรายย่อยในอำเภอสะเมิงแล้ว หลักนี้ก็น่าจะใช้ได้ดีกับเจ้าของทุ่งข้าวสาลีในเมืองเล็ก ๆ ของรัฐวิสคอนซินได้เช่นกัน

* รายงานพิเศษเรื่องนี้เผยแพร่โดยความร่วมมือจาก The Buddhist Channel [IDN-InDepthNews – เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559]

 

ที่มา:TSDF

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: กฤษฎาพร วงศ์ชัย  (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่