ฝากเงินใช้บัตร ป้องกันฟอกเงิน ดีต่อประชาชนจริงหรือ ?

ฝากเงินใช้บัตร ป้องกันฟอกเงิน ดีต่อประชาชนจริงหรือ ?

หลังจากที่แบงก์ชาติประกาศปรับเปลี่ยนการฝากเงินผ่านตู้ CDM จำเป็นจะต้องใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต เพื่อตอบสนองเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายของ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เริ่ม 15 พฤศจิกายน นี้

และจำนวนคดีการฟอกเงินส่วนใหญ่แล้วเชื่อมโยงมาจาก ‘คดียาเสพติด’ รองลงมาคือ ‘คดีค้ามนุษย์’ ทั้งนี้ ยังมีผลวิจัยจากสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มี ยอดอาชญากรรมที่เกี่ยวพันกับอาชญากรรม ฟอกเงินสูง โดยเฉพาะคดียาเสพติดที่สามารถคิดได้เป็น 90% เลยทีเดียว

ซึ่งการฝากเงินผ่านตู้ CDM แบบเดิมคือเพียงแค่เราใส่เลขบัญชีเท่านั้น เอื้อเหล่าผู้กระทำผิดกฎหมายสามารถจ้างใครก็ได้มาเปิดบัญชี และใช้บัญชีของผู้อื่นกระทำการฟอกเงินได้ง่ายดายนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการฝากเงินผ่านบัตรเดบิตอาจช่วยลดปัญหาการฟอกเงินได้จริง ๆ แต่อาจมีเรื่องที่ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวกับการฝากเงินรูปแบบใหม่เช่นกัน

ต่อมาที่เรื่องของ ‘ค่าธรรมเนียม’ ลองคิดว่าในปัจจุบันนี้ทุก ๆ คนมีแอปพลิเคชันธนาคารอยู่ในมือถือและเกือบทุกธุรกรรมก็สามารถทำผ่านมือถือได้แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการ ‘กดเงินไม่ใช้บัตร’  ในส่วนนี้เองทำให้พฤติกรรมคนเราเปลี่ยนไป เพราะถ้าหากต้องการเปิดบัญชีใหม่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกสมัครบัตรเดบิตก็สามารถกดเงินได้ตามปกติ

ทั้งนี้ ‘บัตรเดบิต’ ค่าธรรมเนียมรายปีที่แตกต่างกันไปอีกด้วย ฉะนั้นแล้ว เรามาสำรวจค่าธรรมเนียมเริ่มต้นจากธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ กันสักนิด

  • ธนาคารกสิกรไทย เช่นบัตรเดบิต Contactless (K Debit Debit Contactless) มีค่าธรรมเนียมรายปี เริ่มต้นอยู่ที่ 250 บาท/ปี
  • ธนาคารกรุงศรี เช่น บัตรกรุงศรี เดบิต ออมทรัพย์จัดให้ ค่าธรรมเนียมรายปี เริ่มต้นอยู่ที่ 400 บาท/ปี
  • ธนาคารกรุงไทย เช่น บัตร Krungthai Classic Debit Card เริ่มต้นอยู่ที่ 200 บาท/ปี
  • ธนาคารกรุงเทพ เช่น บัตรบีเฟิสต์ สมาร์ท ทีพีเอ็น มาสเตอร์การ์ดTPN Mastercard เริ่มต้นอยู่ที่ 300 บาท/ปี
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ เช่น บัตรเดบิตMastercard เริ่มต้นอยู่ที่ 200 บาท/ปี

หมายเหตุ : ค่าธรรมแต่ละบัตรไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเราเลือกสมัคร

หากเรามาลองทบทวนดี ๆ  ก็จะพบว่าเราจะต้องเสีย ‘ค่าธรรมเนียม’ สองต่อ เพราะเดิมทีหากเราไม่ได้ฝากเงินตรงตู้ หรือฝากเงินตรงพื้นที่ เราก็จะโดนหักค่าธรรมเนียมจากจำนวนเงินที่เราฝากไปอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากเราต้องฝากผ่านบัตรเดบิตด้วย ก็เท่ากับว่าประชาชนจำเป็นจะต้องเสียทั้ง ‘ค่าธรรมเนียมการฝากเงิน’ และ ‘ค่าธรรมเนียมบัตรรายปี’

อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีแห่งโลกการเงินอย่าง ‘ฟินเทค’ (Fintech) ที่เข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมทางการเงินของเรา ซึ่งบริการฟินเทคในทุกวันนี้มีBlockchain ที่ทำให้มีความปลอดภัยสูง รวบรวมข้อมูลทางการเงิของเราไว้ทำให้สามารถตรวจสอบธุรกรรมการเงินของเราได้ไม่มีขาดหาย และที่สำคัญ ‘ฟินเทค’ ใช้ต้นทุนน้อยจึงทำให้มักปลอด ‘ค่าธรรมเนียม’ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่เหล่าธนาคารต้องเจอ เพราะถ้าหากยังคงมีค่าธรรมเนียมหลายส่วนที่ประชาชนต้องรับผิดชอบมันคงจะดีกว่าหากพวกเขาหันไปใช้บริการฟินเทค โดยบริการฟินเทคที่เราคุ้นเคยกันดีในช่วงเวลานี้ ได้แก่ Line BK, GRAB นั่นเอง

ไม่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีประชาชนหลายกลุ่มที่ยังคงได้รับความเดือดร้อนหากต้องฝากเงินผ่านบัตรเดบิตด้วยเหตุผลอื่น ๆ  และเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นทางธปท.จะเร่ง.ให้ธนาคารพาณิชย์พัฒนาระบบที่ทำให้สามารถรองรับการยืนยันตัวตนรูปแบบอื่น ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นการยืนยันตัวผ่านบัตรประชาชนที่ในปัจจุบันใช้ยืนยันตัวตนที่ตู้ ATM ได้อยู่แล้ว

ในอนาคตทาง ‘Business+’ คาดการณ์ว่าบัตรประชาชนอาจเข้ามามีบทบาททางด้านธุรกรรมทางการเงินมากขึ้นกว่าเดิมก็ย่อมได้ เพราะด้วยความสะดวก และเป็นบัตรที่มีทุกคนทำให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย อีกทั้งการใช้บัตรประชาชนนี้ยังสามารถช่วยลดปัญหาการฟอกเงินของประเทศ และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายได้อีกด้วย..

 

ที่มา :ไทยรัฐ, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, ธนาคารแห่งประเทศไทย , งานวิจัยจากสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/o9fQ6fA

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

 

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ฝากเงิน #ตู้ฝากเงิน