Condominium-02

ผ่อนคลายมาตรการ LTV ต่อลมหายใจอสังหาฯ เปิดชื่อ 5 เจ้าตลาดบ้าน-คอนโดฯ หมดห่วงสินค้าค้างสต๊อก!!

หลังจากที่เจอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาเป็นระยะเวลาราว 2 ปี อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่คืออสังหาริมทรัพย์ เพราะโรคระบาดนี้ได้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยลง ประชาชนมีรายได้ต่ำลงจึงส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยตรง

และตลาดอสังหาฯ ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่หนีไม่พ้นเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นจากที่ผ่านมาภาพรวมตลาดโดยเฉพาะคอนโดมิเนียมได้รับผลกระทบหนักที่สุด จากสต๊อกคอนโดฯ ที่ก่อนเจอโควิด-19 ก็มีมากอยู่แล้ว ยิ่งพอเจอสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้มีสต๊อกค้างหนักไปกว่าเดิม

ดังนั้น การที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาประกาศการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV) เป็นการชั่วคราว นั้น จะส่งผลดีอย่างแน่นอน

เพราะการผ่อนคลายมาตรการครั้งนี้ ถือเป็นการ ช่วยเหลือผู้ประกอบการอสังหาฯ หลังจากประเมินแล้วเห็นว่าเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและพยุงการจ้างงาน จึงควรเร่งเพิ่มเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องจำนวนมาก โดยเฉพาะจากกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเข้มแข็งหรือรองรับการก่อหนี้เพิ่มได้

โดยกำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) เป็น 100% (กู้ได้เต็มมูลค่าหลักประกัน) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (รวมสินเชื่ออื่นนอกเหนือจากเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยและมีที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหลักประกันหรือสินเชื่อ Top-up แล้ว) ทั้งกรณี มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป และกรณีมูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป

อีกทั้งผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565

แน่นอนว่า กลุ่มอสังหาฯ ได้รับปัจจัยบวกทั้งบ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียม ซึ่งแต่ละรายจะได้รับผลดีแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสินค้าว่าจะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงมีสต๊อกสินค้ามากน้อยเท่าไหร่

มาดูความเห็นจาก บล.ฟินันเซีย ไซรัส ซึ่งกล่าวถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ว่า ธปท.ผ่อนปรนมาตรการ LTV มีผลบังคับใช้ถึง 31 ธ.ค. 2565 โดยให้ LTV 100% สำหรับที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญาที่ 2 เป็นต้นไป และที่อยู่อาศัย 10 ล้านบาท ขึ้นไป ตั้งแต่สัญญาที่ 1 ขึ้นไป (จากเดิมปล่อยกู้ได้ 70-95%)

โดยมาตรการนี้เป็นบวกต่อกลุ่มอสังหาฯ เป็นวงกว้าง เพราะผู้กู้ซื้อบ้านตั้งแต่หลังที่ 2 ขึ้นไปมีสัดส่วนราว 10% ของผู้กู้ซื้อบ้านทั้งหมด เป็นบวกต่อผู้ประกอบการคอนโด อย่าง บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI, บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หรือ SPALI, บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN

และบ้าน บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC, บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ซึ่ง ‘ฟินันเซียฯ’ ชอบ ORI มากที่สุด (ราคาเป้าหมาย 13 บาท) และ SPALI (ราคาเป้าหมาย 26 บาท) เพราะ 2 บริษัทนี้มี Backlog แข็งแกร่งและมีสต็อกเหลือขายพร้อมโอนจำนวนมาก

การผ่อนคลายมาตรการสำหรับการซื้ออสังหาฯ ริมทรัพย์ นอกจากจะช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว ยังถือเป็นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดเม็ดเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจที่มากขึ้น นำพาไปสู่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จะดีขึ้น แต่ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่ามาตรการเหล่านี้จะกระตุ้นการซื้ออสังหาฯ ได้มากหรือน้อยแค่ไหน?

ซึ่งพบข้อมูลจาก ‘ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธอส.’ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ว่า พฤกษาฯ มีสต๊อกเหลือขายมากที่สุดของบริษัทอสังหาฯ ในตลาดหุ้น ทั้งบ้านและคอนโดฯ รวม 1,6147 หน่วย

อันดับที่ 2 คือ ศุภาลัย ทั้งบ้านและคอนโดฯ 14,951 หน่วย อันดับที่ 3 เอพี ทั้งบ้านและคอนโดฯ 11,122 หน่วย อันดับที่ 4 แสนสิริ ทั้งบ้านและคอนโด 7,914 หน่วย ปิดท้ายที่ลลิลฯ ซึ่งมีเฉพาะบ้านจำนวน 5,764 หน่วย

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
.
ข้อมูล : บล.ฟินันเซีย ไซรัส ,ธปท.

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ฟินันเซียไซรัส #ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ #ตลาดบ้าน #ตลาดคอนโดมิเนียม