จับสัญญาณแห่งการเป็นผู้นำ

ในยุคสตาร์ทอัพเบ่งบาน เราจะเห็นบทบาทของคนรุ่นใหม่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะพวกเขาเติบโตมาในยุคที่เสพข่าวสารข้อมูลจากทั่วทุกมุมโลกได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส จึงทำให้ติดตามความเป็นไปขององค์กรธุรกิจทั่วโลกได้ง่าย ๆ และมีความคิดฝันที่จะเติบโตมาในองค์กรที่มั่นคง และต้องการมีบทบาทในองค์กรเร็วกว่าคนรุ่นเก่าที่เน้นการไต่เต้าขึ้นไปช้า ๆ

แต่การจะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารหรือเป็นผู้นำในทุกวันนี้ก็ไม่ง่ายนัก เพราะนอกจากการใช้ความรู้ที่สั่งสมมาแล้ว การบริหารงานหรือการเป็นผู้นำยังต้องอาศัยศิลปะอีกมากมายหลายด้าน เนื่องจากการตัดสินใจหลาย ๆ ครั้งก็ไม่ได้อาศัยเพียงแค่ข้อมูลความรู้ที่มี แต่ต้องอาศัยสัญชาตญาณที่ได้จากประสบการณ์คอยชี้แนะให้ว่าควรตัดสินใจไปในทางใด

การจะเลือกเฟ้นผู้บริหารรุ่นใหม่ จึงจำเป็นต้องพิจารณาจากองค์ประกอบรอบด้านว่า เขามีแนวคิดหรือพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความพร้อมที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้หรือไม่ ซึ่งเบื้องต้นผมได้สรุปเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ชี้ให้เห็นความพร้อมของเขา ได้แก่

1. รักการเรียนรู้ และมีความพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น ซึ่งอุปนิสัยเช่นนี้มักมาพร้อมกับการใส่ใจคนรอบข้างและรับฟังความคิดเห็นผู้อื่นอยู่เสมอ จึงทำให้การส่งต่อความรู้ใหม่ ๆ ทำได้ง่ายขึ้น ตรงกันข้ามกับคนที่หวงวิชาที่มักไม่อยากแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้อื่น

การแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้อื่นจะช่วยเสริมอุปนิสัยรักการเรียนรู้เพราะยิ่งได้พบปะผู้คนก็ยิ่งทำให้ได้มุมมองใหม่ ๆ มาต่อยอดความคิด ทำให้มีความรู้ได้กว้างไกลยิ่งขึ้น ในขณะที่คนจำนวนหนึ่งมักเชื่อมั่นว่าตนรู้ดีอยู่แล้วจึงปิดรับความรู้ใหม่ ๆ ไปโดยปริยาย

2. ยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น เพราะมองเห็นเป็นความสำเร็จร่วมกันขององค์กร หรืออุตสาหกรรมจนถึงเป็นความสำเร็จของประเทศ สะท้อนให้เห็นทัศนคติที่มองเห็นส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ตรงกันข้ามกับคนที่อิจฉาริษยาความสำเร็จของผู้อื่นที่มักมีความคิดคับแคบ เห็นแก่ตัว

ความสำเร็จขององค์กรมักจะมาจากความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แต่ละฝ่ายผลักดันจนรวมเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ การยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่นจึงเป็นการสร้างความมีส่วนร่วมและสร้างสัมพันธภาพที่ดีในองค์กรด้วย

3. เข้าใจกระบวนการทำงานของฝ่ายต่าง ๆ ไม่เฉพาะที่ตัวเองรับผิดชอบเท่านั้น เช่นรู้วิธีการทำงานร่วมกับฝ่ายบัญชีหรือการเงิน ซึ่งแตกต่างจากวิธีของฝ่ายขายและการตลาด การประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ จึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่ต้องผสมผสานวิธีต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

4. มักจะทำงานที่ทำให้คนอื่นรู้สึกตื่นเต้นและรู้สึกมีส่วนร่วมไปด้วย เมื่อทำสำเร็จจึงมีคนร่วมดีใจมากมาย และในทางกลับกันก็มักจะมีส่วนร่วมกับความสำเร็จของผู้อื่นอยู่เสมอ เพราะมักอาสาทำงานร่วมกับทีมอื่น ๆ จึงทำให้ได้รับความร่วมมือกลับมาเช่นเดียวกัน

5. มีทักษะในการเป็นตัวเชื่อมระหว่างพนักงานในทีมกับผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ มักส่งเสริมให้คนในทีมได้บรรลุเป้าหมายแล้วยกให้เป็นผลงานของทีมงานหรือลูกน้องของตัวเองมากกว่าที่จะนำมาเป็นผลงานของตัวเอง

ผลที่ได้คือทำให้คนในทีมมีผลงานโดดเด่น โดยที่ตัวเขาเองอาจอยู่เบื้องหลังที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างพนักงานและผู้บริหารเท่านั้น แต่ในภาพรวมทำให้องค์กรมีผลงานเป็นที่ยอมรับ ซึ่งบทบาทนี้โดดเด่นยิ่งกว่าการที่จะเอาผลงานทั้งหมดมาเป็นของตัวเองคนเดียวเสียอีก

ส่วนสัญญาณเชิงลบที่บอกให้รู้ว่าเขายังไม่มีความพร้อมเพียงพอก็มี 5 ข้อเช่นกัน

เริ่มจากข้อแรก คือ มักติเตียนความคิดผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นในเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็จะรู้สึกขัดหูขัดตาเสมอ รวมถึงผู้บังคับบัญชาของตัวเอง โดยมักคิดว่าหากตัวเองเป็นหัวหน้าจะไม่ทำอย่างนี้แต่จะทำสิ่งตรงกันข้ามแทน

ข้อ 2 คิดอยู่เสมอว่าแนวทางหรือแผนงานที่ตนเองคิดนั้นสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว จึงมักมองข้ามความคิดเห็นของผู้อื่น และมองการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่าเสียเวลาเพราะไม่จำเป็น เนื่องจากงานจะสำเร็จได้ต้องใช้แนวทางที่ตนเองคิดเอาไว้แล้วเท่านั้น

ข้อ 3 เชื่อว่าตนเองสามารถนำทีมได้แน่นอนหากได้รับมอบอำนาจมาอย่างเต็มที่ จึงมักเรียกร้องให้แต่งตั้งตนเองในการทำงานตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อให้มีอำนาจสั่งการโดยตรง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาจมีเพื่อนร่วมงานหลายคนที่สามารถทำงานลุล่วงได้แม้ไม่มีอำนาจ แต่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนทุกคนยอมรับ

ในทุกองค์กรมักมีผู้นำตัวจริงที่คนอื่น ๆ มักขอคำแนะนำและคำปรึกษาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่อะไร เพียงเพราะเขามีความศรัทธาที่ผู้อื่นมอบให้ จึงถือเป็นผู้นำได้แม้จะไม่มีใครแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้ก็ตาม

ข้อ 4 ต้องการเงินเดือนและผลตอบแทนอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจากการเป็นผู้บริหาร คนกลุ่มนี้มักให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักโดยไม่ได้คิดว่าจะมีหน้าที่รับผิดชอบใด ๆ เพิ่มขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นทัศนคติที่เป็นอันตราย เพราะใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลางแทนที่จะคิดในภาพรวมว่าตนเองจะมีจุดแข็งใด ๆ เสริมให้องค์กรแข็งแรงขึ้นได้

ข้อ 5 เมื่อได้รับมอบหมายให้นำทีมงาน แม้จะเป็นงานเล็ก ๆ แต่ก็มักจะชี้นิ้วสั่งการทันทีโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม และมักตั้งกฎเกณฑ์มากมายตามใจตนเองเพื่อแสดงอำนาจ แม้จะมีคนไม่เห็นด้วยหรือมีความเห็นอื่นก็ไม่สนใจ

การเติบโตสู่ความเป็นผู้บริหารหรือเป็นผู้นำ ไม่ว่าจะระดับใดเป็นเรื่องสำคัญเสมอ เพราะเกี่ยวข้องกับการหล่อหลอมทีมงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้มีทิศทางและมีเป้าหมายร่วมกันคือความสำเร็จขององค์กร

หากผู้นำไม่มีความพร้อม อาจสร้างความแตกแยกขึ้นในองค์กรจนยากที่จะประสานรอยร้าวได้ในอนาคต และการปล่อยให้ผู้ที่ขาดความพร้อมขึ้นเป็นผู้บริหารก็เท่ากับเป็นการทำร้ายตัวเขาในระยะยาวด้วยเช่นกัน