ปรับเทรนด์ให้ทัน 6 ประเทศฮีโร่ คาดนำเงินเข้าไทยคึกคัก

 

ในช่วงที่เราเปิดประเทศอย่างเป็นทางการแบบนี้ อุตสาหกรรมที่ต้องเตรียมรับมือมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นการท่องเที่ยว ที่จะเป็นช่วงโอกาสให้ธุรกิจพลิกฟื้นกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

มีข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรี ได้เปิด 6 รายชื่อประเทศที่ไทยควรพิจารณาให้เดินทางเข้ามาในประเทศก่อน ซึ่งได้เแก่ จีน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร รัสเซีย อิสราเอล และสวีเดน เนื่องจากเป็นประเทศที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยได้มากที่สุด

ทีนี้เรามีดูกันว่าในปี 2019 ก่อนการเกิดโรคระบาดนั้น บรรดาประเทศข้างต้น มียอดใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวต่างประเทศเท่าไหร่ และในตอนนี้พวกเขามีเทรนด์อะไรที่น่าสนใจ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้ประกอบการไทย นำไปประยุกต์ใช้ต้อนรับนักท่องเที่ยวในการเปิดประเทศครั้งนี้

 

มาเริ่มกันที่แฟนตัวยงประเทศไทยกันเลย อย่างประเทศจีน
มีตัวเลขค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวมากที่สุดอันดับ 1 ของโลกในปี 2019 ด้วย มูลค่ากว่า 2.54 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 8.34 ล้านล้านบาท ซึ่งในปีเดียวกันนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายในประเทศไทยมากถึง 5.31 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

โดยสิ่งที่สามารถมัดใจชาวจีนได้นั้น ก็เป็นจำพวก ขนมขบเคี้ยว นมอัดเม็ด ผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางพารา และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เช่น ยาหมอง กอเอี๊ยะ รวมไปถึงรังนก ที่ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่มองว่าผลิตภัณฑ์รังนกจากประเทศไทยมีคุณภาพและน่าเชื่อถือ

แต่อีกหนึ่งเทรนด์ที่พลาดไม่ได้กับการเอาใจนักท่องเที่ยวจีนในตอนนี้ คือ ‘เนื้อวัว’ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก ด้วยปริมาณบริโภคกว่า 1.53 ล้านตันนใน ม.ค.-ส.ค. 2021 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 (YoY) คิดเป็นมูลค่ากว่า 7.53 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.8 (YoY)

รวมถึง ‘กล้วย’ ผลไม้ที่ชาวจีนนิยม ซึ่งกำลังขาดแคลนภายในประเทศอยู่ ณ ขณะนี้ ทำให้หาทานยากและมีราคาที่ค่อนข้างสูง ประเทศจีนเองก็ไม่ได้มีอุตสาหกรรมการแปรรูปกล้วยเชิงลึก โดยกล้วยกว่า 90% ขึ้นไป ถูกนำไปบริโภคโดยตรง มีการนำไปแปรรูปเพียงแค่กล้วยอบแห้งเท่านั้น ยังไม่หลากหลายเท่าบ้านเรา ที่มีทั้ง ทอด ฉาบ ตาก รวมถึงในรูปแบบเครื่องดื่มและขนมแปรรูปอีกมากมาย

 

สหรัฐฯ
อีกหนึ่งประเทศ ที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายในต่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยจำนวนเงินกว่า 1.52 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 4.99 ล้านล้านบาทในปี 2019 และใช้จ่ายท่องเที่ยงในประเทศไทยมากถึง 7.68 หมื่นล้านบาท

โดยส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวชอบการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และหลงรักอากาศอันแสนอบอุ่นของประเทศไทย ซึ่งเทรด์ตอนนี้ที่ชาวมะกันกำลังนิยม คืออาหารคีโต โดยเฉพาะสินค้าจำพวกขนมปังและขนมอบคีโต ที่มียอดจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันจากปีที่แล้ว

ทั้งยังมีรายงานแนวโน้มเทรนด์อาหารปี 2022 ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เทรนด์รสชาติเปรี้ยวของส้มยูซุ (Yuzu) ที่ชาวสหรัฐฯ นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม หรือนำไปประกอบอาหารเป็นน้ำสลัด

และบรรรดาพืชผักสมุนไพรที่ประเทศไทยเราหาทานได้ง่าย นำมาประกอบอาหารมากขึ้น เช่น
มะรุม – นำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมูทตี้ ขนมหวาน หรือแม้แต่โปรตีนแท่ง
ดอกชบาหรือกระเจี๊ยบ – นำไปเป็นส่วนผสมผลิตภัณฑ์อื่นอย่าง เครื่องดื่ม โยเกิร์ต หรือแยม
ขมิ้น – นำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ทั้ง ซีเรียล และ ไอศกรีม
และหันมาบริโภคเหล่าธัญพืชต่าง ๆ เช่น ข้าวโอ้ต ข้าวโพด ข้าวจ้าว ซีเรียล

 

สหราชอาณาจักร
ในปี 2019 ทางด้านนักท่องเที่ยวจากเมืองผู้ดี ก็ใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวต่างประเทศมากถึง 7.1 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 2.32 ล้านล้านบาท และเดินทางมาท่องเที่ยวใช้จ่ายในไทยมูลค่ากว่า 7.23 พันล้านบาท

โดยเทรนด์ที่ชาวอังกฤษกำลังเป็นที่นิยมก็เข้าทางกับพี่ไทยพอดี เนื่องจากชาวอังกฤษนิยมหันมาทานคาร์โบไฮเดรตในรูปแบบเส้นมากขึ้น โดยช่วงกลางปีที่ผ่านมา มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นถึง 18.3 ล้านปอนด์ โดยอาหารประเภทเส้นปรุงรส (Savoury noodles) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 9.9 ล้านปอนด์ (+12.3%) เส้นสด (Fresh noodles) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 5.1 ล้านปอนด์ (+14.2%) และเส้นแห้งมูลค่า 3.3 ล้านปอนด์ (+6%)

ที่สำคัญมีผลสำรวจพบว่ากว่า 52% ของผู้บริโภคแห่งสหราชอาณาจักร ให้ความสนใจในสินค้าที่มีรสชาติแปลกใหม่อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น เส้นรสชาโคล บีทรูท ผักโขม หรือแม้แต่เส้น Plant-based ที่ไม่มีส่วนผสมของไข่

 

รัสเซีย
ในปีก่อนเกิดโควิด-19 นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียใช้จ่ายไปกับการพักผ่อนต่างประเทศมากถึง 3.62 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1.18 ล้านล้านบาท และท่องเที่ยว ใช้จ่ายในไทยมากถึง 1.02 แสนล้านบาท

โดยเทรนด์ที่ชาวรัซเซียกำลังให้ความสนใจคือ สินค้าออแกนิค ซึ่งมีผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคชาวรัสเซียกว่า 84% หันมาใส่ใจในการเลือกบริโภคอาหารที่เป็นออแกนิคมากขึ้น

อิสราเอล
ถือเป็นประเทศในโซนเอเชียตะวันออกกลาง ที่ใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวในไทยมากที่สุด โดยปี 2019 นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลใช้จ่ายในไทยมากถึง 1.6 หมื่นล้านบาท

และมีสำรวจจาก nielsen ระบุว่า 65% ของของผู้บริโภคชาวอิสราเอลมองหาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น และมีค่าเฉลี่ยการซื้อผักและผลไม้ 2.9 ครั้งต่อวัน

 

สวีเดน
ปิดท้ายด้วยนักท่องเที่ยวจากประเทศที่น่าอยู่ลำดับต้น ๆ ของโลก อย่างสวีเดน โดยชาวสวีเดนเดินทางน้ำข้ามทะเลมาถึงประเทศไทย และใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไปมากถึง 2.37 หมื่นล้านบาท

ทั้งมีผลสำรวจพบว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เหล่าผู้บริโภคชาวสวีเดนให้ความสำคัญ และเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดย 2 ใน 3 ของกลุ่มผู้สำรวจจำนวน 803 คน ระบุว่าหันมาเลือกบริโภคสินค้าทดแทนเนื้อสัตว์แทน

เรียกได้ว่า แต่ละประเทศก็พร้อมทุ่ม พร้อมเปย์กับการท่องเที่ยวกันอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีของธุรกิจในหลาย ๆ ส่วนของไทย ในการศึกษาเทรนด์ของแต่ละชาติ ปรับสินค้าและบริการให้สอดคล้อง และพร้อมรับนักท่องเที่ยวกับการเปิดประเทศครั้งนี้

 

เขียนและเรียบเรียง : ธนัญญา มุ่งสันติ
ข้อมูล : MOTS / ditp / santandertrade
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS