นายจ้างเตรียมตัวรับแรงกระแทก!! หลังไทยปรับขึ้น ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ในรอบ 2 ปี สูงสุด ‘ชลบุรี-ระยอง-ภูเก็ต’ 354 บ./วัน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ โดยเงินเฟ้อเดือนก.ค.พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 7.61% จากราคาพลังงาน และอาหารที่สูงขึ้น ถึงแม้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรงของเงินเฟ้อแต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสกัดเงินเฟ้อได้

ดังนั้นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเหลือประชาชน คือการขึ้นค่าแรงเพื่อให้สอดคล้องกับระดับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยของเราไม่ได้ปรับขึ้นค่าจ้าขั้นต่ำมาเป็นระยะเวลา 2 ปี (นับตั้งแต่มีการระบาดของโรค COVID-19) จึงนำไปสู่การเรียกร้องปรับค่าแรงในช่วงที่ผ่านมา

ล่าสุดในวันนี้ (26 ส.ค.2565) ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ได้มีมติขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะมีการประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 เป็นต้นไป

โดยอัตราค่าแรงขั้นต่ำใหม่ในปี 2565 ปรับเป็นดังนี้

กลุ่มที่ 1 : ขึ้นค่าแรง 354 บาท ได้แก่ จ.ชลบุรี จากเดิม 336 บาท ระยอง จากเดิม 335 บาท และภูเก็ต จากเดิม 336 บาท

กลุ่มที่ 2 : ขึ้นค่าแรง 353 บาท จากเดิม 331 บาท คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

กลุ่มที่ 3 : ขึ้นค่าแรง 345 บาท คือ จ.ฉะเชิงเทรา จากเดิม 330 บาท

กลุ่มที่ 4 : ขึ้นค่าแรงเป็น 343 บาท คือ จ.พระนครศรีอยุธยา จากเดิม 325 บาท,

กลุ่มที่ 5 : ขึ้นค่าแรงเป็น 340 บาท จำนวน 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี จากเดิม 324 บาท, หนองคาย จากเดิม 325 บาท, อุบลราชธานี จากเดิม 325 บาท, พังงา จากเดิม 325 บาท, กระบี่ จากเดิม 325 บาท, ตราด จากเดิม 325 บาท, ขอนแก่น จากเดิม 325 บาท, เชียงใหม่ จากเดิม 325 บาท, สุพรรณบุรี จากเดิม 325 บาท, สงขลา จากเดิม 325 บาท, สุราษฎร์ธานี จากเดิม 325 บาท, นครราชสีมา จากเดิม 325 บาท, ลพบุรี จากเดิม 325 บาท และสระบุรี จากเดิม 325 บาท

กลุ่มที่ 6 : ขึ้นค่าแรง จากเดิม 323 เป็น 338 บาท คือ จ.มุกดาหาร, กาฬสินธุ์, สกลนคร, สมุทรสงคราม, จันทบุรี และนครนายก

กลุ่มที่ 7 : ขึ้นค่าแรง จากเดิม 320 เป็น 335 บาท จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์, กาญจนบุรี, บึงกาฬ, ชัยนาท, นครพนม, พะเยา, สุรินทร์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, พัทลุง, อุตรดิตถ์, นครสวรรค์, ประจวบคีรีขันธ์, พิษณุโลก, อ่างทอง, สระแก้ว, บุรีรัมย์ และเพชรบุรี

กลุ่มที่ 8 : ขึ้นค่าแรง จากเดิม 315 บาท เป็น 332 บาท จำนวน 22 จังหวัด คือ จ.อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, ตรัง, ศรีสะเกษ, หนองบัวลำภู, อุทัยธานี, ลำปาง, ลำพูน, ชุมพร, มหาสารคาม, สิงห์บุรี, สตูล, แพร่, สุโขทัย, กำแพงเพชร, ราชบุรี, ตาก, นครศรีธรรมราช, ชัยภูมิ, ระนอง และพิจิตร

และกลุ่มที่ 9 : ขึ้นค่าแรง เป็น 328 จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ยะลา จากเดิม 313 บาท, ปัตตานี จากเดิม 313 บาท, นราธิวาส จากเดิม 313 บาท, น่าน จากเดิม 320 บาท และอุดรธานี จากเดิม 320 บาท

ทั้งนี้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะต้องถูกลงมติจากหลายฝ่าย ด้วยการประชุมร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ โดยคณะกรรมการฯ มีทั้งหมด 19 คน จะเป็นฝ่ายรัฐบาล 5 คน ฝ่ายนายจ้าง 4 คน ลูกจ้าง 5 คน ที่ปรึกษา 5 คน และการลงมติจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของคณะกรรมการแต่ละฝ่าย

ถึงแม้ว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงแล้ว แต่หากย้อนกลับไปดูในส่วนของการเรียกร้องในการปรับค่าจ้างขั้นต่ำก่อนหน้านี้ จะเห็นว่ามีการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงเป็น 492 บาท/วันเท่ากันทั้งประเทศ โดยให้เหตุผลว่าคนไทยทั้งประเทศต้องเผชิญทั้งภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และอัตราค่าแรงในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามในมุมมองของ ‘Business+’ กรณีที่เสนอให้ปรับ 492 บาท เท่ากันทั้งประเทศ อาจจะไม่เหมาะสมเพราะในแต่ละจังหวัดก็มีค่าครองชีพที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดในประเทศไทย (เฉลี่ยทั้งปี 2564) คือ แม่ฮ่องสอน ด้วยค่าใช้จ่าย 12,214.19 บาทต่อเดือน เทียบกับจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดในไทยคือ นนทบุรี ด้วยค่าใช้จ่าย 33,995.57 บาทต่อเดือน ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดจึงแตกต่างกัน

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถือเป็นสวรรค์สำหรับลูกจ้าง แต่สำหรับนายจ้างแล้วจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น นอกจากนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับค่าจ้างตามมาไม่ว่าจะเป็น เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงค่าล่วงเวลา และรายจ่ายอื่นๆ

ถือเป็นโจทย์ถัดไปที่นายจ้างจะต้องควบคุมทั้งค่าใช้จ่าย ค่าจ้าง และเงินเดือน ของพนักงานในแต่ละระดับให้ดี สอดคล้องกับกฏหมายแรงงาน และให้เหมาะสมกับกิจการของตนเอง

ที่มา : คณะกรรมการค่าจ้าง

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ค่าแรงขั้นต่ำ #ค่าแรง #ค่าจ้างขั้นต่ำ