ธอส

ธอส.วาง 5 ยุทธศาสตร์สู่ “ธนาคารที่ดีที่สุด สำหรับการมีบ้าน”

อย่างที่ทราบกันดีว่า ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. (GHBank) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ. 2496 โดยมีเจตนารมณ์สำคัญในการจัดตั้งคือ “เพื่อช่วยเหลือทางการเงินให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยตามควรแก่อัตภาพ” หรือการทำให้คนไทยมีบ้านตามพันธกิจที่ธนาคารกำหนดไว้

ธอส. หรือ GHBank เป็นธนาคารที่มีบทบาทและความสำคัญในการเป็นกลไกหลัก ที่มีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสร้างโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองมาแล้วมากกว่า 3 ล้านครอบครัว ผ่านการปล่อยสินเชื่อบ้านที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 66 ปีที่ผ่านมา

ธอส.
ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า ยังคงมุ่งมั่นสานต่อพันธกิจช่วยให้คนไทยมีบ้าน พร้อมกับเป็น ธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน และในปี 2561ที่ผ่านมา ธนาคารประสบความสำเร็จในการให้บริการด้านสินเชื่อบ้านเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากการปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ถึง 213,161 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายถึง 12.8% หรือ 24,243 ล้านบาท

 

ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 65 ปี นับตั้งแต่ที่ก่อตั้งธนาคาร GHBank สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 6 เดือน และปล่อยได้มากกว่า 2 แสนล้านบาทภายในปีเดียว ทำให้ยังคงดำรงส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ได้ถึง 30.3% ของทั้งระบบ โดย ณ สิ้นปี 2561 GHBankมีสินเชื่อคงค้างรวม 1,115,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 9.03%

 


“ผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องภายใต้การแข่งขันที่สูง เกิดขึ้นจากการสร้าง Passion เป็นแรงผลักดันให้พนักงานมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ และมีความสุขจากความสำเร็จที่ได้สร้างโอกาสให้คนไทยได้มีบ้าน รวมถึงการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่ถูกต้องมาอย่างต่อเนื่อง”


กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์กล่าวว่า สำหรับในปี 2562 ธนาคารได้กำหนดยุทธ์ศาสตร์สำคัญไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย


ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อความยั่งยืนขององค์กร โดยการกำหนดแผนงานและเป้าหมายในการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL และสินทรัพย์รอการขาย หรือ NPA อย่างชัดเจน เพื่อให้ธนาคารสามารถลด NPL และจำหน่าย NPA ให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด


ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การขยายฐานลูกค้าสินเชื่อ เงินฝาก และกลุ่มลูกค้า Digital ด้วยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับลูกค้าทุกระดับรายได้ รวมถึงการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ได้


ยุทธศาสตร์ที่ 3 : พัฒนาศักยภาพบุคลากรของธนาคารให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การสรรหาบุคลากร การบริหารอัตรากำลังและขีดความสามารถ พัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่จะยกระดับการให้บริการเข้าสู่ Digital Service


ยุทธศาสตร์ที่ 4 : พัฒนานวัตกรรมและยกระดับการบริการเพื่อให้องค์กรเป็นที่น่าเชื่อถือ ด้วยการนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับปรุง พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานของธนาคารให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น


ยุทธศาสตร์ที่ 5 : สร้างองค์กรให้มีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแลกิจการด้วยการจัดการเชิงรุก และนำเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารเป็นไปด้วยความโปร่งใส พร้อมยกระดับ CSR องค์กร เป็นต้น

ธอส.

ทั้งนี้ ด้วยยุทธศาตร์ข้างต้น รวมถึงสถานะทางการเงินที่ยังมีความแข็งแกร่ง เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 1,163,882 ล้านบาท เงินฝากรวม 943,382 ล้านบาท อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 14.19% ธอส.จึงพร้อมที่จะเดินหน้าการดำเนินงานตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” พร้อมสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาค ทางสังคมผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อรูปแบบต่าง ๆ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้านตามวิสัยทัศน์ของธนาคารต่อไป


ยกระดับ Digital Service


พร้อมกันนี้ ในปี 2562 ธนาคารได้กำหนด GHB Key Theme 2019 ในการดำเนินงาน โดยมี 3 ภารกิจหลักเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่ง Technology for Digital Service หรือการยกระดับการบริการรูปแบบดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี ถือเป็น 1 ใน 3 ของภารกิจหลักของธนาคาร เพราะธนาคารทราบดีว่า ความรวดเร็วในการให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการ/ความคาดหวังของลูกค้าภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากสถาบันการเงินและผู้เล่นรายใหม่ ถือเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 ธนาคารได้นำระบบปฏิบัติงานหลัก GHB System ขึ้นใช้งาน (On Production) ทดแทนระบบเดิมที่ใช้งานมานานกว่า 10 ปีได้สำเร็จตามกำหนด และสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่อง

 


กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า GHB System ถือเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของธนาคาร ซึ่งบุคลากรของ GHBทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกับกลุ่ม SSS Consortium และไม่มีการจ้างที่ปรึกษา โดยใช้ระยะเวลาเพียง 18 เดือนจนแล้วเสร็จตามระยะเวลาในสัญญาจ้าง ซึ่ง GHB System จะสามารถรองรับการดำเนินธุรกิจของ GHBไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี พร้อมรับกับการแข่งขันในธุรกิจสถาบันการเงิน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ รองรับการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดของประเทศไทยต่อไป

 

“ปัจจุบันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ลูกค้าหันมาใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น อาทิ Mobile Application : GHB ALL ที่ให้บริการลูกค้าได้ ทั้งในด้านการชำระเงินกู้ ตรวจสอบสถานะสินเชื่อ เช็คยอดเงินฝาก ดู Statement และโอนเงิน รวมถึงยังขยายการให้บริการ Phase 2 ซึ่งมีฟังก์ชันการให้บริการเพิ่มเติม อาทิ การค้นหาสถานที่ตั้งสาขา การจองคิว การเชื่อมต่อกับระบบสะสมแต้ม Online ของลูกค้าเพื่อลุ้นรับของรางวัลต่าง ๆ ในโครงการ GHB Reward และยังสามารถคำนวณวงเงินกู้เบื้องต้นได้อีกด้วย”

ธอส.

นอกจากนี้ธนาคารยังลดปัญหาการกระจุกตัวของลูกค้า ที่ต้องการชำระหนี้เงินกู้ที่หน้าเคาน์เตอร์ของสาขาในช่วงสิ้นเดือน ด้วยการสนับสนุนให้ลูกค้าใช้บริการผ่าน GHB ALL หรือเครื่องรับชำระหนี้เงินกู้อิเล็กทรอนิกส์ (Loan Repayment Machine : LRM) ที่ไม่ว่าจะกี่บัญชีก็ชำระได้ในนาทีเดียว และเครื่องชำระเงินกู้ไร้เงินสด : QR Non Cash Payment ที่ลูกค้าสามารถชำระหนี้เงินกู้โดยใช้ Mobile Application ของธนาคารอื่นได้ ทั้งนี้ การพัฒนาบริการดิจิทัลของธนาคารได้ดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพรองรับ Digital Service และแผนป้องกันภัยคุกคามทาง Cyber รวมถึงระบบการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากการทุจริตต่าง ๆ อีกด้วย

 


การพัฒนาช่องทางการให้บริการแบบดิจิทัลของGHB ส่งผลให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ได้รับความสะดวกจากการหันมาใช้บริการทางการเงินกับ ธอส.ผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น โดยจำนวนธุรกรรมผ่านช่องทางเดิมของธนาคาร อาทิ ณ ที่ทำการสาขาของธนาคารในสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ประมาณ 56% ส่วนอีก 46% เป็นการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และธนาคารตั้งเป้าหมายว่า ในสิ้นปี 2562 จำนวนธุรกรรมผ่านช่องทางช่องทางดิจิทัลจะขึ้นไปอยู่ที่ 60%

 

เดินหน้าโครงการบ้านล้านหลังเต็มที่

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ภารกิจของGHB คือการเปิดโอกาสให้คนไทยมีบ้านเป็นของตัวเอง ดังนั้น นอกจากการเพิ่มศักยภาพงานบริการผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ในด้านการดำเนินโครงการเพิ่มโอกาสให้คนไทยมีบ้าน ทางธนาคารฯ ยังเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ

 

โครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งเกิดจากนโยบายของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ GHBจัดทำโครงการบ้านเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศได้มีที่อยู่อาศัย ในระดับราคาที่สามารถผ่อนชำระได้ในระยะยาว เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน เสริมสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องกับพันธกิจของธนาคาร คือ ทำให้คนไทยมีบ้าน

โดยโครงการบ้านล้านหลัง ธนาคารให้กู้สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ให้กู้เพื่อซื้อหรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ราคาไม่เกิน 1,000,000 บาท ผ่อนชำระได้นานสูงสุด 40 ปี อัตราดอกเบี้ยแบ่งเป็น กรณีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1–ปีที่ 5 คงที่ 3.00% ต่อปี ส่วนกรณีรายได้เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1- ปีที่ 3 คงที่ 3.00% ต่อปี เงินกู้ 1,000,000 บาท ผ่อนชำระ 3 ปีแรกเริ่มต้นเพียง 3,800 บาท


“กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการบ้านล้านหลังคือ ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนวัยทำงานหรือผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังไม่มีบ้านเป็นของตนเอง จะพักอาศัยบ้านเช่า มีภาระที่ต้องจ่ายค่าเช่ารายเดือนประมาณ 4,000-6,000 บาท ดังนั้นการที่ประชาชนกลุ่มนี้สามารถจ่ายค่าเช่าได้ทุกเดือน แสดงว่าหากกู้แล้วเงินงวดผ่อนชำระไม่ต่างจากค่าเช่าบ้าน พวกเขาก็จะสามารถผ่อนชำระสินเชื่อบ้านได้เช่นกัน ทำให้โครงการบ้านล้านหลังออกแบบมาเพื่อรองรับการกู้ที่เกิน 1,000,000 บาท ซึ่งจะผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 3,800 บาท/เดือนเท่านั้น”

ธอส.
ทั้งนี้ ภายหลังจาก GHBได้เปิดให้การจองสิทธิ์สินเชื่อโครงการบ้านล้านหลังพร้อมกันทั่วประเทศ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ปรากฎว่ามียอดจองสิทธิ์สินเชื่อทั่วประเทศรวมกันสูงถึง 127,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่ารอบวงเงินกู้รวมที่ธนาคารวางไว้ สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังต้องการที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 1,000,000 บาทเป็นจำนวนมาก


ขณะที่ข้อมูลล่าสุด ในเดือนกรกฎาคม 2562 มีผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลังแล้วกว่า 10,000 ราย โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดการทำนิติกรรมของโครงการ จากเดิมวันที่ 30 ธันวาคม 2562 เป็นจนกว่าธนาคารให้สินเชื่อเต็มกรอบวงเงินของโครงการ 50,000 ล้านบาท หรือภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาก่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มารองรับความต้องการของประชาชน และให้ประชาชนมีเวลาในการจัดเตรียมความพร้อมในการยื่นกู้มากขึ้น และธนาคารยังเตรียมจัดทำโครงการบ้านล้านหลังเฟส 2 เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเพิ่มเติมต่อไปอีกด้วย

 

กรรมการผู้จัดการ GHBกล่าวด้วยว่า นอกจากโครงการบ้านล้านหลัง ธนาคารฯ ยังเล็งเห็นโอกาสในการมีที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มอื่น ๆ ด้วย โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ที่ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมากเช่นกัน

 

เห็นได้จากในปี 2561 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 213,161 ล้านบาท จำนวน 173,958 บัญชี โดยผลิตภัณฑ์สินเชื่อในกลุ่ม Social Solution สำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ประชาชนใช้บริการสูงสุดคือ โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน ครอบคลุมผู้ที่ได้รับสิทธิในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปล่อยสินเชื่อได้สูงถึง 24,800 ล้านบาท

 

ขณะที่โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐบุคลากรภาครัฐ สำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่ในราชการ อาทิ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ปล่อยสินเชื่อได้ 20,800 ล้านบาท ส่วนผลิตภัณฑ์สินเชื่อในกลุ่ม Business Solution สำหรับผู้มีรายได้ปานกลางขึ้นไปที่ประชาชนใช้บริการสูงสุด คือ โครงการ For Home 2 ปล่อยสินเชื่อได้ 21,900 ล้านบาท

 


ส่วนในปี 2562 ธนาคารยังตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่อีก 203,000 ล้านบาท โดยยังคงมุ่งเน้นจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มรายได้เช่นเดิม เช่น สินเชื่อ New Home Hi-speed อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เท่ากับ MRR-3.96% ต่อปี (2.79%) ให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาจะซื้อจะขายมากกว่า 1 ล้านบาท และเป็นที่อยู่อาศัยใหม่ที่ยังไม่เคยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อน สินเชื่อบ้านสำหรับพนักงานประจำบริษัทเอกชน ให้กู้สำหรับลูกค้ารายย่อยทั่วไปที่เป็นพนักงานประจำบริษัทเอกชน หรือเป็นพนักงานประจำบริษัทเอกชนในหน่วยงานที่ทำข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ GHB ภายใต้โครงการ “Corporate Synergy” และไม่มีสวัสดิการประเภทอื่นกับ ธอส. อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-3 เท่ากับ MRR-3.45% ต่อปี (3.30%) สินเชื่อ “บ้าน Happy Life” สำหรับลูกค้ารายย่อยทั่วไปและลูกค้าสวัสดิการไม่มีเงินฝาก ที่มีวงเงินกู้ตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 คงที่ 2.95% ต่อปี เป็นต้น

สลากGHB ต่อยอดช่วยคนอยากมีบ้าน

กรรมการผู้จัดการGHB กล่าวถึงการจำหน่ายสลากออมทรัพย์GHB ด้วยว่า ภายหลังจากพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ทำให้ธนาคารสามารถขยายขอบเขตการทำธุรกิจได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการออมของประชาชน ที่ต้องการออมกับสถาบันการเงินของรัฐที่มีความมั่นคงสูง ให้ผลตอบแทนดี มีโอกาสถูกรางวัลสูง สามารถเป็นมรดกตกทอดให้กับลูกหลานได้

 

สำหรับสลากออมทรัพย์ที่มีการจำหน่ายเป็นชุดแรก ได้แก่สลาก Premium ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท จำนวน 27,000 หน่วย หรือคิดเป็นกรอบวงเงิน 27,000 ล้านบาท สลากมีอายุ 3 ปี ผลตอบแทนเมื่อฝากครบ 3 ปี จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยหน่วยละ 42,000 บาท หรือคิดเป็น 1.4 % ต่อปี เทียบเท่าเงินฝากประจำ ซึ่งจะสูงกว่าสลากออมทรัพย์อื่น ๆ ในตลาด

 

“จากการเปิดให้ประชาชนจองซื้อสลากระหว่างวันที่ 22 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนให้การตอบรับที่ดีมาก โดยเฉพาะวันแรกเพียงแค่ 4 ชั่วโมง มีผู้จองสลากชุดนี้กว่า 8,000 หน่วย และหากได้รับการตอบรับที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทางธนาคารก็มีแนวคิดจะเปิดสลากออมทรัพย์ชุดวิมานเมฆ 2 จำนวน 30,000 หน่วย หน่วยละ 10 ล้าน

 

เพื่อให้บริษัท ห้างร้าน และนิติบุคคล จองบ้างในอนาคตต่อไป โดยเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสลากออมทรัพย์ จะกันไว้ไปสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำและคงที่ระยะยาว 3 ปีให้แก่ประชาชน เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีโอกาสผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน ด้วยเงินงวดที่ต่ำและระยะเวลานานขึ้น ซึ่งจะมีการนำเสนอรายละเอียดให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป”

 

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: สุรชัย บอจันทึก  (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่

ประกันภัยไทยวิวัฒน์