ธอส. Digital Banking

ธอส. ยกระดับบริการสู่ผู้นำ Digital Banking

ธอส. ยกระดับบริการสู่ผู้นำ Digital Banking

ในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภค ทุกองค์กรย่อมปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องเร่งปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงและรับมือโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง ย่อมต้องเร่งวางรากฐานด้านดิจิทัลให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ THAILAND 4.0 เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและรวดเร็วของลูกค้า

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้เดินหน้าปรับตัวรับมือกับกระแสดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการ พัฒนา Mobile Application เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าผ่านสมาร์ตโฟน และการพัฒนาสาขาเป็น Smart Branch ซึ่งเป็นสาขาที่สามารถให้บริการด้วยอุปกรณ์และเทคโนโลยีทันสมัย ตอบโจทย์การให้บริการธุรกรรมทางการเงินอย่างครบวงจร

มุ่งสู่ Digital Services ครบวงจร

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech ได้เข้ามามีบทบาทต่ออุตสาหกรรมการเงินการธนาคารอย่างยิ่ง ธนาคารทุกแห่งต่างพัฒนาการให้บริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าอย่างเต็มรูปแบบ ธอส. เองก็เช่นกัน

ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธอส. ประสบความสำเร็จอย่างมากในการนำเทคโนโลยีมาให้บริการลูกค้า โดยเฉพาะการชำระค่างวดเงินกู้ที่ลูกค้าต้องรอคิวนับชั่วโมง แต่ภายหลังจากที่ธนาคารฯ ได้นำเครื่องรับชำระหนี้เงินกู้อิเล็กทรอนิกส์ หรือ LRM (Loan Repayment Machine) มาให้บริการ ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกอย่างยิ่ง และใช้เวลาประมาณ 5 นาทีต่อการทำธุรกรรมเท่านั้น

ธอส. Digital Banking

ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องรับชำระค่างวดอัตโนมัติ รวมไปถึงการพัฒนา Mobile Application เป็นส่วนหนึ่งในการพยายามเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าตามโรดแมป การยกระดับบริการสู่ Digital Services ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของทางธนาคารที่มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในยุคดิจิทัล พร้อมเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ให้ความสำคัญกับแผน Transformation to Digital Services โดยนำ Digital Technology มาปรับใช้ทุกส่วนของธุรกิจ เริ่มจากการสร้าง Digital Culture / Digital Literacy ให้คนในองค์กรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยียกระดับการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน

เริ่มจากการจัดทำโครงการ Payment Gateway เฟสแรก ด้วยการนำเครื่องรับชำระหนี้เงินกู้อิเล็กทรอนิกส์ หรือ LRM (Loan Repayment Machine) จำนวน 90 เครื่อง กระจายให้บริการตามสาขาครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ลูกค้าในการชำระหนี้เงินกู้ได้ทุกที่ทุกเวลา

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำ Application : GHB Smart Receipt บริการใบเสร็จรับชำระหนี้เงินกู้แบบอิเล็กทรอนิกส์ Application : GHB Smart Booth ให้บริการลูกค้าสามารถดูโปรโมชันพิเศษ และจองสิทธิ์ภายในงานมหกรรมต่าง ๆ

ฉัตรชัย ระบุว่า ตามโรดแมป Transformation to Digital Services ของ ธอส. นั้น แยกเป็นสองส่วน คือ IT Infrastructure ซึ่งขณะนี้ สิ่งที่ ธอส. ทำไปแล้วประกอบด้วย การลงทุนพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์หลักของธนาคาร หรือ Core Banking System (CBS) เพื่อนำมาทดแทนระบบเดิมที่ใช้มากว่า 10 ปี ซึ่งระบบใหม่จะสามารถรองรับธุรกรรมทางการเงินในยุคดิจิทัลได้อย่างครบวงจร และการพัฒนาทางด้าน Digital Services ซึ่งมีเป้าหมายในการยกระดับการให้บริการลูกค้าด้วยระบบดิจิทัลทั้งหมด อาทิ การชำระเงินกู้ที่สามารถใช้งานด้วยเครื่อง LRM ที่ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ (Service Time) และแก้ปัญหาการรอคิวของลูกค้าได้เป็นอย่างดี

“อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วงสิ้นเดือน จะมีลูกค้ารอคิวชำระเงินที่สาขาของธนาคารเป็นจำนวนมาก ทำให้ลูกค้าเสียเวลาค่อนข้างนาน ซึ่งเครื่อง LRM ที่ติดตั้งไปแล้ว 90 เครื่อง และกำลังจะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 80 เครื่องในปีนี้ เพราะจะช่วยให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้เสร็จภายในเวลาประมาณ 5 นาทีเท่านั้น ซึ่งเครื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเฟสแรกของระบบการชำระเงิน ที่ต้องใช้เงินสด ขณะที่ในเฟสต่อไปจะพัฒนาไปสู่ระบบชำระผ่านบัญชีธนาคาร หรือ Non Cash Payment ด้วยระบบ Dynamic QR Code Payment ที่ลูกค้าสามารถกดรับ QR Code จากเครื่องรับชำระเงิน จากนั้นใช้ Mobile Application ของธนาคารอื่น ๆ ที่ลูกค้ามีบัญชีอยู่กดชำระเงินกู้ได้ทันที จากนั้นจะมีข้อความให้ลูกค้ายืนยันการชำระเงินเรียบร้อย โดยระบบดังกล่าวจะใช้งานได้เต็มรูปแบบในเดือนพฤษภาคมปีนี้”

เดินหน้าเพิ่มศักยภาพรับยุค 4.0

ฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีที่ผ่านมานับว่าธนาคารได้เดินตามแผนการปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลอย่างน่าพอใจ แต่อย่างไรก็ดี ธนาคารยังคงต้องเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ทางธนาคารได้วาง 6 โครงการสำคัญเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และผลักดันให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย เพื่อก้าวสู่การเป็นธนาคารที่ดีที่สุดสำหรับการมีบ้าน ประกอบด้วย

  1. โครงการพัฒนาระบบงานหลัก (CBS) มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 เพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจ และบริการรูปแบบใหม่
  2. Payment Gateway เพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่าน Digital Platform และพัฒนาระบบการชำระเงินแบบ Non Cash Payment หรือการชำระเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสด
  3. Big Data Management ศึกษาพฤติกรรมความต้องการของลูกค้าจากฐานข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ และพัฒนากระบวนการทำงาน
  4. Mobile Application ครอบคลุมบริการหลักของธนาคารครบวงจรใน Application เดียวทั้งการยื่นขอสินเชื่อ, Pre-Approve, ติดตามสถานะยื่นกู้, นัดเซ็นสัญญา, นัดทำนิติกรรมจำนอง, บริการด้านเงินฝาก (ฝาก-ถอน-โอน), ชำระหนี้เงินกู้ และชำระค่าสาธารณูปโภค
  5. พัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยง และป้องกันภัยคุกคามทาง Cyber เพื่อให้บริการของธนาคารมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
  6. G H Bank Lottery เพิ่มช่องทางการระดมเงินฝากระยะยาว และเป็นทางเลือกในการออมให้กับประชาชนเพื่อช่วยทำให้โครงสร้างเงินฝากของธนาคารปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น

สุดท้าย ฉัตรชัย ย้ำว่า ธอส. พร้อมเดินหน้าตามพันธกิจหลัก คือ ทำให้คนไทยมีบ้าน และจะจับมือพันธมิตรสร้างโอกาสให้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองตามนโยบายรัฐบาล ควบคู่กับการยกระดับการให้บริการสู่ Digital Services อย่างเต็มรูปแบบ นำเทคโนโลยีมาปฏิรูปทุกกระบวนการทำงานภายในองค์กร บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผลประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนในรูปแบบของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำ เพื่อให้ลูกค้าประชาชนได้ใช้บริการที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ได้อย่างเท่าเทียมทุกระดับตอบโจทย์ยุค 4.0