ธอส_WEB

ธอส. ครองเก้าอี้ผู้นำสินเชื่อบ้าน ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ไตรมาส 3 ทะลุ 166 แสนล้าน!! เข็น 20 มาตรการช่วยเหลือลูกค้า COVID-19

เข้าสู่ช่วงการประกาศผลการดำเนินงานของธนาคารหลังจากปิดสิ้นงวดไตรมาส 3 ปี 2564 ไปเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 และในช่วงที่ผ่านมา โควิด-19 ได้เข้ามาทำให้คนต้องการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะบ้านมากขึ้น เพราะต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่าเดิม และอย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า หากพูดถึงสินเชื่อคนอยากมีบ้าน คงต้องพูดถึง ‘ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)’ ผู้นำตลาดสินเชื่อบ้าน และล่าสุด ธอส. ได้ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ออกมาเป็นที่เรียบร้อย

โดยสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ไปถึง 166,173 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.53% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างดี เพราะยอดการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวคิดเป็น 77.06% ของเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่ปี 2564 ที่ตั้งเอาไว้ที่ 215,641 ล้านบาท

และสิ้นไตรมาส 3/64 ธอส. มียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,408,857 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.66% จาก ณ สิ้นปี 2563 ด้านสินทรัพย์รวมขยับขึ้นมาที่ 1,455,358 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.42% และมีเงินฝากรวม 1,231,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.03%

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ปรับขึ้นมาที่ 63,723 ล้านบาท คิดเป็น 4.52% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 มี NPL อยู่ที่ 3.75%

ด้าน คุณฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และรายได้ของประชาชน แต่ ธอส.มีพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้าน ยังคงสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน

โดย ธอส. ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อความมั่นคงและเตรียมพร้อมรองรับผลกระทบจากโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตที่ 108,201 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 169.80% โดยยังคงมีกำไรสุทธิตามตัวชี้วัดของธนาคารที่ 8,966 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับแข็งแกร่ง โดย ณ เดือน ส.ค.2564 อยู่ที่ 15.36% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ 8.50%

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่องยังคงเกิดจากความต้องการของประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของ ธอส.และมีปัจจัยเสริมจากการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ ของผู้ประกอบการ ทำให้ต้นทุนในการมีที่อยู่อาศัยของประชาชนต่ำลง

รวมทั้งนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือประชาชน ทั้งนี้ ธอส.ยังคงเป็นผู้นำในตลาดด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างกว่า 31.4% และมั่นใจว่า ณ สิ้นปี 2564 การปล่อยสินเชื่อใหม่จะเป็นไปตามเป้าหมาย 215,641 ล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานของธนาคารยังคงเป็นไปตามเป้าหมายได้นั้นเกิดจากการทำการตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Marketing) ซึ่งธนาคารได้ทำ GHB Data Analytics นำฐานข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีเพื่อทำนายหากลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สนใจใช้บริการผลิตภัณฑ์ของธนาคารทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้าใหม่ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

ล่าสุดได้ขยายกรอบวงเงินผลิตภัณฑ์สินเชื่อ โครงการบ้าน ธอส.เพื่อคุณปี 2564 เพิ่มขึ้นอีก 20,000 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 50,000 ล้านบาท รวมเป็น 70,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในช่วงโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมียอดอนุมัติ 47,045 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 2.75% ต่อปี ให้กู้รายละไม่เกิน 3 ล้านบาท สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาท/เดือน และไม่เคยมีประวัติการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับ ธอส. หรือสถาบันการเงินอื่น

สำหรับนโยบายรัฐบาล โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 อัตราดอกเบี้ยต่ำ 1.99% ต่อปี นาน 4 ปีแรก เงินงวดคงที่ 84 งวดแรก (7 ปี) ให้กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาซื้อ-ขายไม่เกิน 1,200,000 บาท โดยเปิดให้ลงทะเบียนผ่าน Mobile Application : GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย.64 ล่าสุด ณ วันที่ 17 ต.ค.2564 มีลูกค้าลงทะเบียนเพื่อรับรหัสเข้าร่วมโครงการแล้ว 58,955 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 70,746 ล้านบาท โดยมีลูกค้าที่เอกสารพร้อมและยื่นกู้ที่สาขาของธนาคารแล้ว 1,976 ราย วงเงินสินเชื่อ 1,688 ล้านบาท ซึ่งธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 1,388 ราย วงเงินสินเชื่อ 1,129 ล้านบาท

ขณะที่การให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากโควิด-19 ซึ่ง ธอส.ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 21 เดือน รวม 20 มาตรการ มีจำนวนลูกค้าเข้ามาตรการรวมสูงสุดเป็นจำนวนถึง 968,555 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 842,056 ล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 87.5% สามารถปรับตัวและกลับมาผ่อนชำระตามปกติได้แล้ว

ซึ่งปัจจุบันยังมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างการรับความช่วยเหลือตามมาตรการจำนวน 120,965 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 120,337 ล้านบาท ล่าสุดธนาคารได้ประกาศขยายระยะเวลาความช่วยเหลือลูกค้าเดิมที่อยู่ระหว่างการใช้มาตรการตาม “โครงการ ธอส. รวมไทยสร้างชาติ” จำนวน 8 มาตรการ

โดยเปิดให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ตั้งแต่วันที่ 8 – 29 ตุลาคม 2564 ผ่าน Application : GHB ALL หรือ GHB Buddy บน Application Line เพื่อขอรับการขยายระยะเวลาความช่วยเหลือต่อไปถึงวันที่ 31 ธ.ค.64 ล่าสุด ณ วันที่ 17 ต.ค.64 เวลา 12.00 น. มีลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอขยายความช่วยเหลือแล้ว 41,369 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 44,526 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านมือสอง เป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากการซื้อบ้านมือหนึ่ง และประชาชนที่ต้องการขายบ้านได้บรรลุความต้องการของตัวเอง ด้วยการจัดทำโครงการ G H Bank Marketplace หรือ ตลาดนัดบ้านมือสอง ธอส. โดยผู้ที่ต้องการขายบ้านสามารถฝาก ธอส. ขายได้ฟรี ไม่เสียค่าธรรมเนียมนานถึง 6 เดือน โดยใช้ช่องทางออนไลน์ของ ธอส. ที่เจาะกลุ่มผู้สนใจซื้อบ้านมือสองโดยเฉพาะ คือเว็บไซต์ www.ghbhomecenter.com หรือ Application : GH Bank Smart NPA

แผนยุทธ์ศาสตร์ ปี 2564-2565
ปิดท้ายกันด้วยการย้อนดูแผนยุทธศาสตร์ปี 2564-2565 ของธอส.กันสักหน่อย โดย ธอส. เผยแผนยุทธศาสตร์ในปี 2563 ว่า จะมุ่งดำเนินการตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” และรักษาความเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับการให้บริการลูกค้าขึ้นสู่ Digital Platform เพื่อรองรับการเป็น Digital Bank ในอนาคต อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของธนาคารได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานของธนาคาร เพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลงอีก

โดยตั้งเป้าหมายให้มี Digital Transaction ไม่ต่ำกว่า 80% ของจำนวน Transaction ทั้งหมดในปี 2565 ด้วยแผนงาน/โครงการสำคัญที่สนับสนุนการเป็น Digital Bank ประกอบด้วย

1.โครงการ New Normal Services พัฒนาบริการใหม่ของธนาคารบน Mobile Application : GHB ALL เพื่อรองรับ Lifestyle ลูกค้าแบบ New Normal

2.โครงการ Tollway Loan Plus เป็นการยกระดับความร่วมมือกับฝ่าย HR ของบริษัทหรือหน่วยงานที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารจะเป็นผู้ส่งข้อมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งรายได้ หลักฐานส่วนตัว และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการยื่นกู้ให้แก่พนักงานที่ประสงค์ยื่นกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยกับธนาคาร

เราจะเห็นแล้วว่า ธอส. ได้ดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์มาตลอด จนปี 2564 ถือว่าประสบความสำเร็จในหลาย ๆ ด้าน และยังเป็นผู้นำสินเชื่อที่อยู่อาศัยเช่นเคย

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : ธอส.

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #รีไฟแนนซ์ #สินเชื่อบ้าน #ธอส