ทิศทางท่องเที่ยวไทยจะเป็นยังไงต่อไป? เมื่อ Omicron ฉุดอัตราเข้าพัก-ความเชื่อมั่นดิ่ง!!

ไม่นานมานี้หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัว หลังรัฐบาลกลับมาใช้เปิดรับนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Test&Go (เดินทางเข้าไทยโดยยกเว้นการกักตัว) และประเมินว่าหากความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ Omicron ลดลงจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัว

โดย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ได้แสดงความมั่นใจว่าปี 2565 จะเป็นปีทองที่พลิกฟื้นให้การท่องเที่ยวไทยกลับมาเดินหน้า จากหลายปัจจัยทั้งความร่วมมือจากต่างประเทศ สถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลาย โดยที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังต้องให้รัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนโครงการ Tourism Clinic เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความรุนแรงของโควิดสายพันธุ์ Omicron ยังไม่ลดลง ประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวนมาก (วันละเกือบ 1 หมื่นราย) ขณะที่มีความกังวลจากการยกเลิก Test & Go ชั่วคราวก็จะเป็นอีกปัจจัยที่กดดันภาคท่องเที่ยวให้ไม่เป็นไปตามคาดการณ์

โดยแบงก์ชาติ ได้เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) เดือนมกราคม 2565 พบว่า อัตราการเข้าพักลดลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ในประเทศ รวมไปถึงการยกเลิก Test & Go รายใหม่ชั่วคราว ซึ่งอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 32% ลดลงจาก 36.9% เมื่อเดือนธ.ค.2564

เมื่อแบ่งอัตราการเข้าพักออกเป็นแต่ละภาคในประเทศไทย พบว่า มีเพียงภาคใต้เท่านั้นที่อัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้น
– ภาคเหนือ ลดลงมาอยู่ที่ 34.2% (จาก 42.8% ในเดือนธ.ค.64)
– ภาคอีสาน ลดลงเหลือ 27.1% (จาก 40% ในเดือนธ.ค.64)
– ภาคตะวันออก ลดลงเหลือ 24.2% (จาก 29.4% ในเดือนธ.ค.64)
– ภาคกลาง ลดลงเหลือ 30.5% (จาก 37.8% ในเดือนธ.ค.64)
– ภาคใต้ เพิ่มขึ้นมาที่ 40.6% (จาก 31.8% ในเดือนธ.ค.64)

นอกจากนี้รายได้ของโรงแรมที่เปิดกิจการยังอยู่ในระดับต่ำ โดยพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของโรงแรมที่เปิดกิจการรายได้ยังไม่สามารถกลับมาได้ถึง 30% ก่อน COVID-19 (เดือนม.ค.โรงแรมส่วนใหญ่ในประเทศเปิดกิจการตามเดิม มีเพีย 3% ที่ยังปิดกิจการชั่วคราว)

โดยช่องทางสำคัญที่ผู้ประกอบการมองว่าจะส่งผลกระทบมากที่สุด คือ 1.ประชาชนลดกิจกรรมนอกบ้าน 2.การระงับการใช้ Test&Go 3.มาตรการควบคุมที่เข้มงวดขึ้น

เมื่อหลายปัจจัยยังมีทิศทางที่ไม่เป็นใจต่อการฟื้นตัว จึงเป็นที่น่าจับตาต่อไปว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้จริงหรือไม่ โดย สทท. ระบุว่า หากต้องการให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวฟื้นตัวมี 2 สิ่งที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการคือ

1. ความมั่นคงทางนโยบาย เพื่อการวางแผนระยะยาวทั้งด้านคน การลงทุน และการตลาด

2. การสนับสนุนจากภาครัฐในการรีสตาร์ทธุรกิจ เช่น โครงการเที่ยวคนละครึ่ง, โครงการรถบัสเดือนละ 5,000 คัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด และข้ามจังหวัด, โครงการสนับสนุนชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แก่ร้านอาหาร และสถานบันเทิง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และ Tourism Clinic

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : สทท. , ธปท.

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ท่องเที่ยว #อุตสาหกรรมท่องเที่ยว