ทำความรู้จัก ‘คันทรี่กรุ๊ป’ เจ้าของแอปพลิเคชัน ‘Pi’ ว่าที่แพลตฟอร์มการลงทุนเจ้าแรกในไทย ที่สามารถซื้อขายทุกผลิตภัณฑ์ในแอปฯเดียว!!

ถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบจัดสรรเงินลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการการลงทุนไปหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศ ต่างประเทศ หรือแม้แต่กระทั่งตราสารอนุพันธ์ ตราสารหนี้ และกองทุน ซึ่งจากเดิมเราจะต้องใช้หลายแพลตฟอร์มในการซื้อขายแยกตามประเภทของการลงทุน ซึ่งไม่สะดวกและรวดเร็วเท่าไรนัก ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ทำให้รำคาญใจสำหรับนักลงทุนที่ทุกวินาทีมีค่า

แต่เร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยกำลังจะมีแอปพลิเคชันที่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์แบบเรียลไทม์ได้หลายผลิตภัณฑ์ ทั้งหุ้นในประเทศ หุ้นต่างประเทศ ตราสารอนุพันธ์ กองทุนรวม พันธบัตร ตราสารหนี้ และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดจะสามารถทำการซื้อขายได้ภายในแอปพลิเคชันเดียว

โดยแอปพลิเคชันนี้เป็นแผนการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการลงทุนของ บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGH บริษัทหลักทรัพย์ที่ให้บริการด้านการเงินแบบครบวงจร

ซึ่งเดิม CGH คือ บริษัทหลักทรัพย์คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS และถูกปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้ง (บริษัทลงทุนที่สามารถลงทุนถือหุ้นในบริษัทอื่น) โดย CGH ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2558 แทน CGS ที่ได้เพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

ต่อมา CGH เติบโตขึ้นโดยการซื้อกิจการ ในช่วงท้ายปี 2558 หลังจากเข้าตลาดหุ้นได้เกือบ 1 ปี บริษัทฯ ได้ทำการซื้อหุ้นบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ PDI ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) BEYOND บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน พัฒนา และดำเนินธุรกิจโรงแรมและการบริการ ปัจจุบันลงทุนในโรงแรม 2 แห่ง คือ โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และโรงแรมคาเพลลา กรุงเทพ (CGH ถือหุ้นทั้งหมด 39%)

และยังเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ CGD บริษัทในเครือที่ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ถือหุ้นทั้งหมด 9.05%) รวมถึงได้รับการถ่ายโอนหุ้นจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ซึ่งทำธุรกิจหลักประเภทจัดการกองทุนจาก CGS มาอีกด้วย หลังจากนั้น CGH มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้บริษัทในเครือเป็นบริษัทที่มีการเติบโตในอนาคตผ่านการลดต้นทุนและขยายธุรกิจที่มีกำไรดี

จนปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดของการลงทุนรวมอยู่ในอันดับที่ 15 และมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับที่ 2 สำหรับตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ซึ่งที่ผ่านมา CGH ทำรายได้รวมและจำนวนลูกค้าเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน

– รายได้ช่วง 9 เดือนของปี 2564 อยู่ที่ 1,382.14 ล้านบาท (เติบโต 41.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน)
– กำไรสุทธิช่วง 9 เดือนของปี 2564 อยู่ที่ 619.44 ล้านบาท (เติบโต 475% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน)

จะเห็นว่าผลประกอบการช่วงที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางที่ค่อนข้างดี ซึ่งบริษัทมีรายได้ค่านายหน้าเพิ่มขึ้น จากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น 39%

และแผนการขยายธุรกิจในปี 2565 ของ CGH ค่อนข้างมีความน่าสนใจเพราะเป้าหมายของบริษัทในปีนี้คือ การปรับเปลี่ยนธุรกิจบริการทางการเงินครั้งใหญ่เพื่อไปสู่ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล

ซึ่งกรณีนี้ คุณทอมมี่ เตชะอุบล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CGH เผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการเงินการลงทุนมีการพัฒนาไปในรูปแบบที่หลากหลาย บริษัทฯ จึงได้เร่งศึกษาข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเก่า และขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ให้มากขึ้น และตัดสินใจปรับเปลี่ยนธุรกิจบริการทางการเงินครั้งใหญ่เพื่อไปสู่ระบบเทคโนโลยีดิจิทัล

เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ใหม่ในการเข้าสู่โลกการเงินดิจิทัล CGS จึงได้เปิดแผนการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท จาก “บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” หรือ CGS เป็น “บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน)” (Pi Securities Public Company Limited) โดยมีชื่อย่อว่า ‘Pi’ “พาย”

โดยการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้เพื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ ที่เราเล่าให้ฟังตั้งแต่ต้น นั่นคือ ภายใต้แบรนด์ ‘Pi’ ซึ่งจะเป็นแอปพลิเคชันที่รวบรวมนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางการเงินจากทั่วโลก มีกำหนดเปิดตัวในเดือน มี.ค. 2565 ทั้งในระบบ Android และ iOS

บทบาทของแอปพลิเคชันนี้จะเป็นโซลูชันด้านการซื้อขายหลักทรัพย์และการลงทุนส่วนบุคคลชั้นนำของไทย แอปพลิเคชัน ‘Pi’ ได้ถูกสร้างและออกแบบใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ตรงกับไลฟ์สไตล์อันทันสมัยของนักลงทุนที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว พร้อมมอบบริการซื้อขายหลักทรัพย์แบบเรียลไทม์ให้กับลูกค้าในหลากหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งทั้งหมดจะสามารถทำการซื้อขายได้ภายในแอปพลิเคชันเดียว โดยมีระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล “Wallet” เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ

ซึ่งแอปฯ นี้ถูกวางแผนในการพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่นี้มากว่า 1 ปี โดยทีมงานชั้นนำด้านเทคโนโลยี ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่า ‘Pi’ (พาย) จะเป็นแอปพลิเคชันด้านการเงินที่ใช้งานได้ง่ายและก่อประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นผู้เริ่มต้นลงทุน หรือนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แอปพลิเคชัน ‘Pi’ จะเป็นแอปพลิเคชันด้านการเงินแอปฯ แรกในประเทศไทยที่สามารถเทรดทุกผลิตภัณฑ์ในแอปฯ เดียว ไม่ต้องคอยสลับโปรแกรมเวลาเทรดอีกต่อไป

ทั้งนี้แอปพลิเคชัน ‘Pi’ ถูกสร้างขึ้นบนระบบ API และโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ที่ทันสมัย ซึ่งจะเป็นตัวส่งเสริมให้แพลตฟอร์มนี้สามารถขยายตัวได้อย่างไร้ขีดจำกัด สามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการไปในโลกการเงินดิจิทัล ตัวอย่างเช่น บริการด้าน Social Trading ที่คาดว่าจะเกิดภายในปีนี้อีกด้วย

ภายหลังจากเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘Pi’ บริษัทฯ ได้วางแผนในการพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้ล้ำหน้าที่สุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าแอปพลิเคชัน ‘Pi’ จะเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำทางด้านการเงิน ที่ดีและมีความหลากหลายที่สุดในตลาด

ดังนั้น ‘Business+’ มองว่าการที่นักลงทุนจะได้ใช้แอปพลิเคชันที่ครบวงจร นอกจากจะได้ใช้บริการที่ครอบคลุม แล้วยังสร้างโอกาสในการลงทุนให้กับนักลงทุนรายย่อย และเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนให้กับนักลงทุนรุ่นใหม่ได้อีกด้วย เพราะสำหรับการลงทุนแล้ว ความคล่องตัว และรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ที่มา: CSH

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #คันทรี่กรุ๊ป #Pi #พาย