ทางออก Travel Bubble ไทย-จีน ธุรกิจท่องเที่ยวคืนชีพด้วยวิธีไหน?

ในปีนี้การท่องเที่ยวที่น่าจับตามองมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นรูปแบบการท่องเที่ยวแบบ ‘Travel Bubble’ ซึ่งไม่นานมานี้ทางด้านรัฐบาลไทย-จีน ได้มีการประกาศความคืบหน้าเร่งพัฒนาปรับนโยบายการท่องเที่ยวไทยเพื่อให้เป็นรูปแบบ Travel Bubble

โดยล่าสุดได้วางแผนเตรียมพิจารณาร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน แบบ ‘Travel Bubble’  รวมไปถึงการร่วมมือกันกับทางประเทศมาเลเซียอีกด้วย

 

การท่องเที่ยวแบบ ‘Travel Bubble’ เป็นการท่องเที่ยวแบบไม่ต้องกักตัว แต่จะถูกกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกของการท่องเที่ยว ที่จะมาช่วยลดขั้นตอนที่ซับซ้อน และเพิ่มความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว

 

มีข้อมูลจาก MOTS หรือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานเกี่ยวกับตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยว และมูลค่าจากรายได้ที่เกิดขึ้นภายในประเทศที่ผ่านมา

 

โดยปี 2021 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด 4.27 แสนคน ลดลง 93.62% จากปี 2020 จำนวน 6.70 ล้านคน ซึ่งสาเหตุมาจากโรคระบาด Covid-19 ที่ยังคงมีผลต่อการตัดสินใจท่องเที่ยวจากผู้คนทั่วโลก

 

อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาก็สามารถทำรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไปได้กว่า 2.49 หมื่นล้านบาท ลดลง 91.95% จากปี 2020 ที่มีมูลค่ากว่า 3.10 แสนล้านบาท

 

ซึ่ง ‘จีน’ ถือเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทยมากที่สุดในเอเชีย ด้วยจำนวนกว่า 13,043 คนในปี 2021 ลดลง 98.96% จากปี 2020 ที่มีจำนวนราว 1.24 ล้านคน

 

ซึ่งในปีที่ผ่านมานั้น เราต่างก็ทราบกันดีว่า ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต่างก็พยายามผลักดันให้ธุรกิจท่องเที่ยวอยู่รอดต่อไปได้ โดยสร้างการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นโมเดล Sandbox ที่ได้นำมาใช้ในหลาย ๆ จังหวัด โปรแกรม Test and Go หรือ Quarantine facilities การกักตัวก่อนออกท่องเที่ยวตามระยะเวลาที่กำหนด

 

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของความพยายามที่ร่วมแรงร่วมใจกันมาทั้งปี ก็เห็นได้ว่ายังมีหลาย ๆ ปัจจัยที่สร้างผลกระทบที่ทำให้การท่องเที่ยวไม่เป็นไปเป้าหมายที่ทาง ททท. คาดไว้ ที่จำนวน 700,000 คนในปี 2021

 

ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจต่อมา คือ แล้วการกลับมาสู้ในครั้งนี้ จะมีแววดีขึ้นอย่างไร? และธุรกิจต้องเตรียมรับอะไรต่อไปบ้าง?

 

หากจะตอบในแบบของ Business+ ก่อนอื่นเราขอพามาดูตัวเลขรายได้การท่องเที่ยวไทยในปี 2019 ปีก่อนเกิดโรคระบาด ซึ่งในปีนั้นประเทศไทยทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากถึง 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศ แบ่งออกเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท  โดยรายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้นอยู่ที่ 5.31 แสนล้านบาท คิดเป็น 26.55%

 

หมายความว่า หากเราต้องการผลักดันการท่องเที่ยวให้คงอยู่ได้ ความหวังที่ต้องการพึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากสัดส่วนที่ได้ออกมายังไม่ถึง 50%

 

รวมถึงยังมีปัจจัยเกี่ยวกับการตัดสินใจหลากหลายด้านที่อาจฉุดรั้งให้การท่องเที่ยวชะลอตัวลงได้ ทั้งความน่าสนใจของสถานที่ท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวที่มีต่อประเทศไทย  หรือแม้แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องของปากท้องมาเป็นอันดับแรก ยังไม่นับรวมกับการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องของไวรัส ที่อาจเป็นอุปสรรคในการตัดใจออกท่องเที่ยวอีกด้วย

 

แล้วธุรกิจต้องปรับอย่างไร?

ยกตัวอย่างกรณีเมื่อปลายปี 2021 หากจำได้ว่าในช่วงไตรมาส 4/2021 กำลังเป็นช่วงโอกาสการท่องเที่ยวไทยด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ลดลง มีการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ กลับเป็นช่วงที่มีไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาเยี่ยมเยียนประเทศไทยด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่กำลังรอรับนักท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลง แสดงให้เห็นว่า ‘ไม่มีความแน่นอนในโลกธุรกิจ’ และธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนสำรอง พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงเสมอ

 

สิ่งที่ต้องปรับต่อมา คือ การตั้ง Mindset ที่ว่า ‘เราจะให้อะไรกับนักท่องเที่ยว มากกว่านักท่องเที่ยวจะจ่ายเท่าไหร่’

อ้างอิงข้อมูลจาก traveldailynews.asia ที่ได้คาดการณ์ถึงเทรนด์ของนักท่องเที่ยวจีน ปี 2022 ไว้ โดยได้ระบุว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเทรนด์การท่องเที่ยวของชาวจีน มักจะเน้นไปในทางเที่ยวแบบ Local Experience หรือการท่องเที่ยวแบบท้องถิ่น ที่เน้นเข้าร้านค้า หรือสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความเป็นท้องถิ่นมากกว่าความหรูหรา ซึ่งสำหรับในปีนี้ ก็ยังคงเป็นการการท่องเที่ยวแบบท้องถิ่น และแน่นอนว่าต้องควบคู่ไปกับความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้น รวมไปถึงความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มองหาโรงแรม หรือสถานที่พักอาศัยแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco-friendly or green hotels) มากขึ้น

 

และที่สำคัญ คือ ‘สร้างความสะดวกสบายในการใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยว’

โดยปกติแล้ว สังคมการใช้จ่ายในประเทศจีนแทบจะเรียกได้เต็มปากว่าเป็นสังคมไร้เงินสด แม้ในประเทศไทยหลายธุรกิจได้ปรับรูปแบบการชำระเงิน ให้ทันสมัยและสะดวกมากขึ้น แต่ก็มีรูปแบบการชำระเงินที่ชาวจีนนิยมใช้มากที่สุด คือ WeChat โซเชียลแอปพลิเคชันที่ชาวจีนนิยมมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันแอปฯ ดังกล่าวครอบคลุมไปถึงระบบการชำระเงิน ทำให้ WeChat ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางการสร้างประสบการณ์ใช้จ่ายให้กับนักท่องเที่ยวที่ธุรกิจไม่ควรมองข้าม

 

ทั้งนี้อีกหนึ่งแนวทางการตลาดที่ควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ แบรนด์จำเป็นที่จะต้องมีการร่วมงานกับ KOLs หรือเหล่าคนดังที่มีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มตลาด Niche Market หรือตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการในลักษณะที่พิเศษและแตกต่าง โดยเป็นการใช้ Niche Nano Influencers ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถึงแม้กลุ่มนี้จะไม่ได้ขนาดใหญ่เท่ากลุ่ม Mass หรือ Micro แต่ข้อดีคือสามารถครองใจกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวได้ กลุ่มนี้จะค่อนข้างมีความเหนียวแน่น และเกิด Brand loyalty หรือความจงรักภักดีที่มีต่อแบรนด์ได้ดีกว่า

 

ท้ายที่สุดแล้วธุรกิจการท่องเที่ยวก็ยังคงต้องใช้เวลาหล่อเลี้ยง เพื่อเยียวยาบาดแผลขนาดใหญ่ด้วยผลกระทบจากโรคระบาด Covid-19 แม้ว่าขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการประกาศให้ Covid-19 กลายเป็นไข้หวัดประจำถิ่น แต่ก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่าเรื่องของความมั่นใจจากตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเองจะมีมุมมองต่อการท่องเที่ยวในอนาคตอย่างไรต่อไป

 

เขียน ธนัญญา มุ่งสันติ

ข้อมูลอ้างอิง MOTS