ต่อสายป่าน 500 TukTuks กองที่ 2 ใครได้ประโยชน์

500 TukTuks คือกองทุนที่รวบรวมเงินจากนักลงทุนมาบริหารและลงทุนในสตาร์ทอัพที่อยู่ในไทยหรือเข้ามาขยายกิจการในเมืองไทย โดยมี 3 ผู้จัดการกองทุน 500 TukTuks อย่าง กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล หรือที่หลายคนยกให้เป็นGod Fatherแห่งวงการ Startup เมืองไทย , หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ เจ้าของอีบุ๊คแพลตฟอร์มสัญชาติไทยในชื่อ Ookbee และปารดา ทรัพย์ประเสริฐ

ย้อนไปเมื่อประมาณ 2 ปีเศษๆ 500 TukTuks ได้รับเงินลงทุนประมาณ 15.4 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 500 กว่าล้านบาท จากDave Mcclure แห่งกลุ่มPaypal Mafia ซึ่งเป็นเงินกองแรกที่นำมาบริหารเพื่อแบ่งให้สตาร์ทอัพที่น่าสนใจเจ้าละ 3-5 ล้านบาท โดยตอนนี้ลงทุนไปแล้วกว่า 50 บริษัท ใน 5 Batch ตก Batch ละ 10 ราย ใช้เงินไปแล้วประมาณ 400 ล้านบาท ก็เรียกว่าใกล้จะหมดแล้ว

 

ความน่าสนใจของการจัดการเงินกองแรกของ 500 TukTuks อยู่ที่จำนวนสตาร์ทอัพที่ตัวเองผลักดันตั้งแต่ Day 1 ทั้งเงินและไอเดียประสบความสำเร็จในแบบที่ว่า ครั้งหนึ่งยังไม่ตายและสามารถเติบโตได้อีก ส่วนอีกครึ่งหนึ่งสามารถระดมทุนในรอบถัดไปได้ด้วยตัวเองแบบก้าวกระโดด เช่น วอชบ็อกซ์, โอมิเสะ และ เคลมดิ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากมองตัวเลขที่สวยหรูจากกลุ่มสตาร์ทอัพในร่มของ500 TukTuks จะพบว่ามีการไปต่อยอดเงินลงทุนรวมๆ ได้กว่า 7 พันล้านบาท หลังได้เงินก้อนแรกจาก 500 TukTuks และส่งผลให้เกิดการสร้างงานทั้งทางตรงและอ้อมได้กว่า 1 หมื่นตำแหน่ง

 

ตัวเลขในการจัดการที่น่าสนใจอีกส่วน คือ ในจำนวน 50 สตาร์ทอัพมีเพียง 2% ของสตาร์ทอัพในมือ 500 TukTuk s เท่านั้นที่ล้มเหลว ขณะที่สตาร์ทอัพทั่วโลกมีอัตราล้มเหลวเฉลี่ยอยู่ที่ 43%

 

มาถึงตอนนี้อายุของ 500 TukTuks กำลังจะครบ 3 ปี และเงินจากกองแรกก็กำลังจะหมด แต่เงินทุนกองใหม่ หรือ กองที่ 2 ก็ไหลเข้ามาก่อนอายุของกอง 1 จะหมด ซึ่งตรงนี้ก็คงชี้ชัดถึงความสำเร็จของ 500 TukTuksหลังจากผลงานค่อนข้างเข้าตานักลงทุนหลัก และถึงแม้จะไม่ทราบจำนวนมูลค่าเงินลงทุนระลอกใหม่ แต่ก็เชื่อได้ว่าต้องมากกว่า 500 ล้านบาทในกองแรกอยู่หลายเท่าตัว เพื่อผลักดันสตาร์ทอัพหลายๆ ตัวที่มีแววให้ไปก้าวอยู่ในระดับอาเชียนและระดับเอเชีย

นายกระทิง พูนผล ผู้จัดการการกองทุน 500 TukTuks 2

โดยเป้าหมายของกอง 2 นี้ กระทิง ก็ยอมรับว่าจะไม่ได้มุ่งเน้นแต่เรื่องของ Tech Startup แต่เพียงอย่างเดียว แต่พร้อมที่จะลงเงินไปกับ Deep Techหรือ ก็คือ เทคโนโลยีระดับสูงที่มีความซับซ้อน ผ่านการค้นคว้าวิจัย และคิดค้นขึ้นมาใหม่จากนวัตกรรมเชิงวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ (ลักษณะของ Deep Tech จะเป็นเทคโนโลยีที่มาแก้ไขปัญหาที่เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันยังแก้ไม่ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือที่ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่, รถยนต์ที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน, การใส่เลนส์ที่ดวงตาโดยสามารถซูมเข้าออกได้ เป็นต้น)

 

ข่าวการประกาศเปิดกองทุนกอง 2 ของ 500 TukTuksสร้างความสนใจต่อกลุ่มทุนไทยรายใหญ่ที่อาจจะยังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพขึ้นมาซัพพอร์ตธุรกิจของตน หรือเป็นธุรกิจใหม่ให้ตอบโจทย์เทรนด์ของโลกโดยทันที

 

เพราะผลงานการบริหารกองเงินกองแรก น่าจะชี้ชัดถึงความฉกาจของ 500 TukTuks จนทำให้ตอนนี้มี กลุ่มเซ็นทรัล, กลุ่มธุรกิจ TCP, บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท วัชรพล จำกัด ในเครือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด มาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งบริษัทเหล่านี้ย่อมมีความคาดหวังในเม็ดเงินที่ตนโยนลงไป ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้งผลงานของสตาร์ทอัพบางรายที่มีโซลูชั่นใหม่ๆ สอดรับกับธุรกิจของตน รวมถึงอาจจะเทคโอเว่อร์กิจการไปบริหารต่อในอนาคตต่อไป

สำหรับกองทุน 500 TukTuks กอง2 นี้ จะสนับสนุนสตาร์ทอัพใหม่ๆ ประมาณ 150 ราย และไม่จำกัดแค่ในประเทศไทยด้วย แต่ข้ามขยายไปในกลุ่มประเทศ CLMV และรวมถึงสตาร์ทอัพจากประเทศอื่นๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

รู้หรือเปล่าว่าตลาดสตาร์ทอัพอาเชียนกำลังยั่วยวนนักลงทุนทั่วโลก?

ตอนนี้ถือเป็นโอกาสอันดีของบรรดาสตาร์ทอัพในไทย เนื่องจากแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนทั่วโลกตอนนี้ เริ่มมองสตาร์ทอัพในโซนตะวันออกเฉียงใต้เป็น “The Next Frontier” แห่งการลงทุน จึงทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องสวนกระแสเงินลงทุนในซีกโลกอื่น และคาดกันว่ามูลค่าสตาร์ทอัพในโซนนี้จะเติบโตขึ้นถึง 2 แสนล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐในปี 2025 (ผลวิจัยจาก Google และ เทมาเส็ก)

 

สังเกตได้จากเงินลงทุนที่เติบโตอย่างน่าสนใจ ดังนี้
1.1 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2014
1.6 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2015
2.6 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ในปี 2016

 

เหตุผลเพราะนักลงทุนต่างมองเห็นการเติบโตและการปรับตัวของนักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่จากอาเชียนที่สามารถพัฒนาโมเดลธุรกิจของตนจนก้าวไปสู่ระดับยูนิคอร์นอย่างรวดเร็ว เช่น ล่าสุดกับ Grab ที่ได้รับการลงทุนจากโตโยต้าถึง 1 พันล้านดอลล่าร์ และทำให้มูลค่าของบริษัทกลายเป็น10 พันล้านดอลล่าร์ไปแล้ว ซึ่งในโซนนี้ยังคงมีการพัฒนาโมเดลสตาร์ทอัพในกลุ่มe-Commerce, FinTech, Travel, Food, Property, Energy, Education, Agri Techที่มีระดับการลงทุนทั้ง Seed และ Series A