ซื้อเวลา ยื้ออายุสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์เพื่อโลก ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใครต้องผิดชอบ!? ไทยใช้ Bioplastic เพียง 1% คาดอุตสาหกรรมพลาสติกปี 64 มีมูลค่า 1.043 ล้านล้านบาท

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมกันอย่างเข้มข้นและจริงจังมากขึ้น โดยที่ด้วยแรงสนับสนุนภาครัฐฯ และความร่วมมือจากประชาชน ทั้งในฐานะผู้ผลิตและผู้บริโภค ทำให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมี่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

.

แต่ภาพรวมที่สวยงามของการรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้น เบื้องหลังภาระต้นทุนที่เกิดขึ้น
สุดท้ายแล้วใครจะได้เป็นคนแบกรับ?

.

มาเริ่มดูกันที่เยอรมัน ประเทศที่มีอัตราการรีไซเคิลขยะมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 51.6% (ข้อมูลจาก Eunomia ปี 2016) แสดงให้เห็นถึงความจริงจังของทุกภาคส่วนที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม

.

 “การเปลี่ยนแปลง เป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้ทุนมหาศาล”
คำให้สัมภาษณ์ กับนสพ. Handelsblatt  ของ Mr. Hans-Peter Wild เจ้าของบริษัท Capri Sun 

source : capri-sun

.

Capri Sun เป็นบริษัทน้ำผลไม้แบบซองจากเยอรมัน ซึ่งถึงแม้จะยังไม่สามารถปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ 100% เนื่องด้วยถุงบรรจุน้ำผลไม้ต้องทนต่อแสง อากาศ และกรดของน้ำผลไม้ จึงต้องใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาอีกมาก

.

แต่ทางแบรนด์ก็ไม่ยิ่งเฉย ได้มีการหันมาพัฒนาและผลิตหลอดกระดาษ แทนการใช้หลอดพลาสติก โดยมีความพิเศษที่หลอดกระดาษจะไม่มีเศษกระดาษเปื่อยยุ่ยติดออกมาให้เสียอรรถรส พร้อมทั้งยังแสดงความรับผิดชอบด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มตามจำนวนที่นำไปผลิตกระดาษอีกด้วย

.

.

“แม้ว่าการเปลี่ยนแปลง จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ”
คำกล่าวของ Mr. Felix Ahlers ผู้บริหารและเจ้าของ Frosta

.

Source: Frosta

.

Frosta บริษัทผลิตอาหารแช่แข็ง ได้นำวัสดุจากระดาษมาเป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแช่แข็ง โดยได้ลงทุนกว่า 2 ล้านยูโร (หรือราว 2.3 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) เพื่อเอาชนะข้อจำกัดของกระดาษที่อาจมีความชื้น หรือเปื่อยยุ่ยได้ง่าย แม้จะมีการเปลี่ยนไปได้เพียง 4 รายการจากทั้งหมด 50 รายการแต่คือว่าก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในความท้าทายนี้

.

แต่สิ่งที่ตามนี้ก็น่ากังวลเช่นกัน เพราะด้วยต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผลอาจมาตกอยู่ที่มือของผู้บริโภคที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มที่ 20 ยูโรต่อสินค้า (ประมาณ 785.06 บาท)

.

.

.

“ยังมีนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์อีกมากมาย ที่ไม่ใช้ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างจริงจัง
เพราะด้วยราคาที่สูง รวมถึงมีการแข่งขันด้านราคาอย่างหนักในธุรกิจค้าปลีก”
คำกล่าวของ Mr. Sven Sängerlaub ศาสตราจารย์ด้านเทคนิคบรรจุภัณฑ์ มหาวิทยาลัย มิวนิค

.

รวมถึงได้ให้ข้อมูลว่า กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ มีการผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกในเยอรมนี อยู่ที่ 4.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งสมาคมวิจัยตลาดบรรจุภัณฑ์ คาดว่าไม่ถึงครึ่งของบรรจุภัณฑ์ที่ถูกผลิต จะสามารถนำไปรีไซเคิลได้

.

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทางด้านสหภาพยุโรป (EU) ออกมากดดันด้วยการเก็บภาษีสำหรับขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้กับรัฐบาลเยอรมัน (รวมถึงผู้ผลิตต้องรับผิดชอบในอนาคต) ทำให้มีการคาดการณ์ว่า วัตถุดิบที่ต้องนำมาใช้สำหรับสินค้ารีไซเคิลได้ จะมีความต้องการมากขึ้น และแน่นอนว่าต้นทุนราคาสินค้าก็เพิ่มมากขึ้นตามไปเช่นกัน

.

อย่างไรก็ตามจากแบบสอบถามของ Inverto บริษัทให้คำปรึกษา รายงานว่า ผู้บริโภคร้อยละ 72 พร้อมที่จ่ายเงินซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 10% ของราคาสินค้า และมีอีกร้อยละ 30 ของผู้บริโภค พร้อมจ่ายเงินที่เพิ่มขึ้น 20% ของราคาสินค้า (ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามอายุน้อยเท่าใด ระดับการยอมรับก็มาสูงขึ้นเท่านั้น)

.

.

.

ทางด้านประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ เรา อย่างอินโดนีเซีย ก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้ไม่แพ้กัน โดยรัฐบาลได้ประกาศเข้มงวดในการสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวในบางพื้นที่

.

“ราคาของถุงพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ ใกล้เคียงกับราคาถุงพลาสติกธรรมดา
จึงสามารถแข่งขันด้านราคาได้”
คำกล่าว Mr. Kevin Susanto ผู้ก่อตั้งบริษัท Envigo 

.

source : envigo.id
source : envigo.id

 

EnviGo บริษัทซัพพลายเออร์บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ธุรกิจของบริษัทเติบโต 2-3 เท่า ในช่วงปี 2019-2020 ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการบริษัทคู่ค้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่าง Kopi Kenangan  Tokopedia, JD.ID และ Blibli ที่เป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซ รวมถึงบริษัทขนส่งพัสดุอย่าง Ninja Express และ AnterAja 

.

ในทางกลับกัน ไม่ใช่ว่าผู้บริโภคทุกคนจะสามารถมีกำลังทรัพย์มากพอที่จะรับส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นได้ 

.

“ลูกค้าบางรายต่อต้านการเปลี่ยนไปใช้ถุงผ้าสปันบอนด์
เนื่องจากมีค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น”

คำกล่าว Mr. Randy Julius Kartadinata CEO บริษัท Mangkokku ประเทศอินโดนีเซีย

.

source : mangkokku_id

.

Mangkokku ผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร เปลี่ยนมาเลื่อกใช้บรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืนเพิ่มคิดร้อยละ 90 ของคำสั่งซื้อทั้งหมด โดยนำถุงผ้าสปันบอนด์แบบใช้ซ้ำแทนการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวซึ่งลูกค้าจะต้องจ่ายเพิ่มที่ถุง 2,000 รูเปียห์ หรือประมาณ 4.62 บาท

.

source : plepah_id

.

รวมถึง Plepah ผู้ผลิตจานจากทะลายปาล์มที่สามารถย่อยสลายได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ อาจต้องพบกับปัญหาลูกค้าบางรายที่เบือนหน้าหนี เพราะราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ชิ้นละประมาณ 5,000 รูเปียห์ (หรือประมาณ11.54 บาท) เมื่อเทียบกับภาชนะโฟมที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 1 ล้านปี แต่มีราคาต้นทุนอยู่ที่ 300 รูเปียห์ (หรือประมาณ 0.69 บาท)

.

.

.

ในส่วนของประเทศไทย
.

“ประเทศไทยมีการใช้ ‘Bioplastic’ น้อยเพียง 1% เมื่อเทียบกับพลาสติกทั่วไป
ที่ใช้กันอยู่ประมาณ 2,000 ล้านตัน  เพราะด้วยต้นทุนในการผลิตสูง”
คำกล่าวของ คุณวิบูลย์ พึงประเสริฐ นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBIA)

.

source : SCG
source : chula.ac.th

.

ซึ่งถึงแม้บริษัทเจ้าใหญ่ ๆ จะนำร่องไปบ้างแล้ว และรายเล็ก รายย่อยเริ่มตามมาติด ๆ แต่ด้วยสถานกาณ์โรคระบาดที่ยืดเยื้อทำให้บางส่วนกลับไปเลือกใช้โฟม และพลาสติกที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า

.

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ข้อมูลและวิจัยตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก สถาบันพลาสติก ได้เปิดเผยข้อมูล แนวโน้มมูลค่าของอุตสาหกรรมพลาสติกประเทศไทย อยู่ที่ 1.043 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% (YoY) 

.

ซึ่งตลาดบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมหรือที่ย่อยสลายได้ จากปีที่ผ่านมาตลาดมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 25% มีมูลค่า 2,000-2,400 ล้านบาท และมีแนวโน้มอัตราการเติบโตชะลอตัวในปีนี้

.

ในส่วนของ มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรของสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ปี 2020 อยู่ที่ 3 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ คาดว่า ภายในปี 2027 อาจมีมูลค่าพุ่งสูง 4.7 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ และอัตราเฉลี่ยเติบโตต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 10.3% ในช่วงปี 2021-2027

.

ที่มา : https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php? filename=contents_attach/743810/743810.pdf&title=743810&cate=414&d=0 
https://www.ditp.go.th/contents_attach/747018/747018.pdf 
https://www.inverto.com/en/publikationen/sustained-confusion-sustainable-packaging-study/ 
https://www.globenewswire.com/en/news-release/2021/06/25/2253076/0/en/Sustainable-Packaging-Market-to-reach-USD-470-3-billion-by-2027-Report-by-Market-Research-Future-MRFR.html 
Cover Photo by : cottonbro