Cpanal

“ซีแพนเนล” กระแสแรง! จนต้องจับตามอง พร้อมลงสังเวียนเทรด 30 กันยายนนี้ ธุรกิจน่าลุ้นต่อ โอกาสเติบโตสูงในภาวะขาดแคลนแรงงาน!!

ในช่วงวันที่ 21 – 23 กันยายน ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ ‘บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL’ ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพื้นและผนังคอนกรีตสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ “CPANEL” ได้เสนอขายหุ้น IPO จำนวน 39.50 ล้านหุ้น ในราคา 6 บาท ซึ่งได้รับกระแสตอบรับล้นหลามขายหมดตั้งแต่วันแรก จึงทำให้การเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น mai กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 30 กันยายน นี้ ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก

และเมื่อหันมาดูข้อมูลด้านผลประกอบการก็เห็นถึงความน่าสนใจในหลาย ๆ ด้าน เริ่มที่รายได้ปี 2561 รายได้จากการขายและบริการรวมอยู่ที่ 233.50 ล้านบาท และปี 2562 รายได้เติบโต 35.72% ขึ้นมาอยู่ที่ 316.91 ล้านบาท ส่วนปี 2563 (ได้รับผลกระทบจากโควิด-19) รายได้ลดลงมาที่ 220.35 ล้านบาท

ในส่วนของกำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 31.39 ล้านบาท ปี 2562 อยู่ที่ 36.61 ล้านบาท และปี 2563 อยู่ที่ 13.13 ล้านบาท

ขณะที่ล่าสุด รายได้ไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 156.72 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 16.78 ล้านบาท

ในด้านของ Performance ถือว่าทำได้ดีมาตลอด ถึงแม้ปี 2563 อาจต้องเผชิญกับภาวะอุปสงค์หดตัวในช่วงที่ประเทศไทยใช้มาตรการคุมเข้มโควิด-19 ซึ่งทำให้ธุรกิจก่อสร้างโครงการต่าง ๆ หยุดชะงัก

และเมื่อดูที่อัตรากำไรขั้นต้นเราจะเห็นว่า ซีแพนเนล เป็นบริษัทที่มีมาร์จิ้นสิ้นไตรมาส 2 ปี 2564 สูงถึง 37.34% นั่นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการบริหารจัดการต้นทุนที่ทำได้ดีเยี่ยมเลยทีเดียว

ถึงแม้ในช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบันจะเผชิญกับภาวะต้นทุนสูงขึ้น อ้างอิงข้อมูล ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นจากกระทรวงพาณิชย์ (วัสดุก่อสร้างเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบหลักของ ซีแพนเนล) แต่บริษัทยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ในระดับสูงได้

ทีนี้มาดูในส่วนของอัตราส่วนหนี้สิน ในส่วนของอัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio) ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ใช้บ่งบอกความสามารถของบริษัทที่จะใช้คืนหนี้ระยะสั้นอยู่ที่ 0.46 เท่า ถือว่าค่อนข้างต่ำ (ถ้าอัตราส่วนนี้มีค่าต่ำ แสดงว่าบริษัทมีความคล่องตัวน้อย)

รวมไปถึงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ที่ใช้แสดงโครงสร้างของเงินทุนของบริษัทว่ามีสัดส่วนของหนี้สินรวมของบริษัทเมื่อเทียบกับส่วนของทุนหรือส่วนของเจ้าของอยู่ที่ 2.78 เท่า ถือยังค่อนข้างสูง (อัตราส่วนหนี้สูงก็แสดงว่าบริษัทมีความเสี่ยงสูง เพราะเงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนที่มีภาระดอกเบี้ยจ่าย)

อย่างไรก็ตาม หลังจากระดมทุนบริษัทจะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ทั้งหมด 237 ล้านบาท และบริษัทจะนำเงินจำนวนนี้มาลงทุนก่อสร้างโรงงานเพิ่มเติมอีก 1 โรงงาน รวมค่าก่อสร้างโรงงาน ค่าเครื่องจักรการผลิตระบบ Fully Automated และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักร และการทดสอบระบบการทำงาน (Commissioning Tests) จำนวน 100 – 150 ล้านบาท

ขณะที่จะนำมาชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน 50 – 100 ล้านบาท (ตรงนี้จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทดีขึ้น) ส่วนที่เหลือราว 20.40 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

นอกจากนี้ อีกจุดแข็งของ ‘ซีแพนเนล’ เป็นเรื่องของลูกค้าที่ใช้บริการผลิตภัณฑ์ของบริษัทมายาวนาน จนถึงปัจจุบัน ซึ่งพบว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ,บริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) ,บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ไปจนถึงบริษัท บริทาเนีย จำกัด ,บริษัทในเครือ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าเช่นเดียวกัน

อีกจุดที่น่าสนใจคือแนวโน้มตลาด “แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป” หรือ Precast มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมีความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผู้รับเหมา เพราะต้องการลดต้นทุนแรงงาน ลดระยะเวลาและขั้นตอนในการก่อสร้าง (รวมงาน Finishing) ซึ่งในส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุนก่อสร้างได้เป็นอย่างดี

และในภาวะขาดแคลนแรงงาน (แรงงานต่างด้าวกลับประเทศไปเป็นจำนวนมา) ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน ก็เป็นอีกปัจจัยที่หนุนดีมานด์ Precast เช่นเดียวกัน เพราะกระบวนการผลิตควบคุมโดยหุ่นยนต์และระบบคอมพิวเตอร์ และสามารถปรับ Line การผลิตให้ผลิตสินค้าตามแผนของลูกค้าแต่ละเจ้าได้ทันที

จึงอาจพูดได้ว่า ‘ซีแพนเนล’ ถือเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอสังหาริมทรัพย์ที่ผลิตสินค้าเหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ และยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี และน่าจับตามองว่า ช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทจะยังสามารถทำผลงานได้อย่างโดดเด่นหรือไม่

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ข้อมูล : CPANEL,ก.ล.ต.

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #CPANEL