ฉีดวัคซีนเยอะไม่ช่วย!! ไทยพาณิชย์ ปรับ เศรษฐกิจไทย โตเหลือ 0.7% ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน แรงกดดันสำคัญ

แม้ว่าในช่วงเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมาทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ปล่อยประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2021 ออกมา โดยพวกเขาคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8 ถึง 1.8) เมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนเมษายน 2021 ที่ร้อยละ 2. 3 ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
.
แต่ล่าสุดรายงานจากทางฝั่งภาคเอกชนอย่าง ศูนย์วิจัยข้อมูลธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2021 ที่เหลือการเติบโตของเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 0.7% เท่านั้นจากเดิมอยู่ที่ 0.9% สาเหตุจากการระบาดในประเทศระลอกที่สามที่รุนแรงและยืดเยื้อ ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าคาด แม้จะมีโครงการ ภูเก็ตแซนด์บ็อก เข้ามาช่วยก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี เพราะ อัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น
.
แต่แม้จะมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ภายใต้แรงกดดันจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ได้ไปทำให้เกิด Supply disruption ในหลายห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมของไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในอาเซียน นั้นทำให้เศรษฐกิจไทยน่าจะชะลอการเติบโตออกไปอีกจากปัจจัยนี้
.
ด้านภาครัฐยังคงมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าเศรษฐกิจต่อเนื่องทั้งจากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาครัฐ เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาล่าสุดยังไม่เพียงพอทั้งในมิติเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และจำนวนเงิน โดย EIC คาดว่าภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมในปีนี้อีก โดยจะเป็นการใช้เม็ดเงินในส่วนที่เหลือจาก พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาท จาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
.
ส่วนในปี 2022 EIC คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตที่ 3.4% โดยจะเป็นการฟื้นตัวจากทั้งอุปสงค์ภายในและนอกประเทศ เริ่มจากการส่งออกสินค้ายังมีแนวโน้มขยายตัวแม้ในอัตราที่ชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก พร้อมคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยราว 6.3 ล้านคน นอกจากนี้ การใช้จ่ายในประเทศก็จะฟื้นตัวเช่นกันจากกิจกรรมเศรษฐกิจที่จะกลับมาดำเนินการได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติอีกครั้ง แต่การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จากระดับนักท่องเที่ยวที่ยังต่ำกว่าช่วงปกติมาก และผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกจากผลกระทบในช่วงสองปีที่ผ่านมา
.
นั้นทำให้กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในระดับปี 2019 จะต้องรอถึงช่วงกลางปี 2023 ดังนั้น ภาครัฐจึงควรพิจารณากู้เงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยแม้ระดับหนี้สาธารณะจะปรับสูงขึ้นกว่าเพดานหนี้ที่ 60% ต่อ GDP แต่ยังอยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะสามารถบริหารจัดการได้ในภาวะดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง
.
ฝากนโยบายการเงิน ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดปี 2021 และน่าจะปี 2022 ด้วย เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมให้น้ำหนักกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านมาตรการทางการเงินต่าง ๆ เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ให้มากขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น
.
ซึ่งทาง EIC สรุปปิดท้ายว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงอยู่ 3 ด้าน 1) การระบาด COVID-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศที่อาจกลับมารุนแรงอีกครั้ง 2) ปัญหาด้าน Supply chain disruption ที่อาจเกิดขึ้นจากทั้งการปิดโรงงานในประเทศ และการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน และ 3) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่อาจมีมากกว่าคาด
.
ที่มา : EIC
.
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
.
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #เศรษฐกิจ #EIC #SME