อินเดีย
กราฟแสดงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ โดยในปีค.ศ. 2015 เป็นตัวเลขจริง ขณะที่ตัวเลขปี 2016-17 เป็นตัวเลขคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ ผลิตและเผยแพร่โดยเว็บไซต์ Business-standard.com

อินเดีย ดาวจรัสแสงแซงหน้าจีน…?

ราคาน้ำมันโลกที่อยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มจะไม่ขึ้นสูงเหมือนในอดีตไปอีกนาน บวกกับแนวทางสนับสนุนการค้าการลงทุนเต็มที่ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวอย่างรวดเร็วจนแซงหน้าจีนไปแล้วในปีที่แล้ว


ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียปีนี้ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเกิดจากนายกรัฐมนตรีอินเดีย Narendra Modi สนับสนุนการค้าและเปิดประเทศรับการลงทุนเต็มที่ และผลจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชิงรุก ส่งผลให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของอินเดียในปีที่แล้วขยายตัวมากกว่าจีนเป็นครั้งแรก
GDP อินเดียขยายตัวที่ 7.3% ขณะที่จีนขยายตัว 6.9% ต่ำสุดในรอบ 25 ปี และในปีนี้คาดว่า GDP อินเดียจะขยายตัว 7.6% ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า GDP ของจีนจะขยายตัว 6.5-7% ส่วนปีพ.ศ. 2560 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า GDP อินเดียจะขยายตัวที่ 7.5% ส่วนจีนมีแนวโน้มขยายตัวไม่ถึง 7%

 

ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียและจีนในปี 2558 และการคาดการณ์ในปี 2559-2560 ทำให้นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกจำนวนหนึ่งเชื่อว่า เศรษฐกิจอินเดียกำลังจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทนที่จีน ขณะที่มีนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งที่เชื่อว่า อินเดียไม่มีทางแทนที่จีนได้

 

หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน จากแดนผู้ดีอังกฤษ รายงานเมื่อช่วงต้นปีนี้ว่า เศรษฐกิจของอินเดียกำลังจะฉายแสงและมีโอกาสที่จะแผ่รัศมีบดบังเศรษฐกิจของจีนได้ ด้วยปัจจัย 2 ประการ คือ ราคาน้ำมันโลก และนโยบายเชิงรุกของนายกรัฐมนตรีอินเดีย

 

เดอะ การ์เดียนระบุว่า ราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำในขณะนี้และมีแนวโน้มจะไม่ขึ้นสูงเหมือนในอดีตไปอีกนานทีเดียวจะช่วยทำให้เงินเฟ้อและราคาอาหารในอินเดียลดลง ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นคือปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวอย่างรวดเร็ว

 

ก่อนหน้านี้ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดียประกาศปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูประบบภาษีสำคัญ อาทิ ภาษีสินค้าและการค้า ซึ่งเคยเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ และนั่นทำให้นักลงทุนต่างประเทศเริ่มหันมาสนใจอินเดียมากขึ้น

 

Christine Lagarde ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนช่วงต้นปีว่า ‘การลงมือปฏิรูปประเทศของ Narendra Modi กำลังกลายเป็นพลังสำคัญที่ทำให้อินเดียมีศักยภาพในการเติบโต’

 

ขณะที่ Prasanna Ananthasubramanian นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์ ICICI Securities ให้สัมภาษณ์ลงเดอะ การ์เดียนว่า ‘ตัวเลข GDP ชี้ให้เห็นว่า พลังขับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียคือการลงทุนภาครัฐและการบริโภค’

 

“จุดแข็งของอินเดียคือ ประชากรที่มีคนอยู่ในวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก รวมถึงการปฏิรูปธนาคารกลางและนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ทางการจีนกำลังวุ่นวายอยู่กับการบริหารเศรษฐกิจขาลงยังไม่เห็นแนวโน้มที่กลับมาเป็นขาขึ้น”

 

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ด้วยระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียที่เกิดขึ้น ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียจะแซงหน้าญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกันภายในปีพ.ศ. 2562

 

อินเดียเป็นนิวไชน่าในโลกของพลังงาน
ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก มีรายงานข่าวในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ในโลกของพลังงานนั้น ขณะนี้อินเดียได้กลายเป็น New China ไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากอินเดียกำลังทำในสิ่งที่จีนทำมาในช่วง 10 ปีก่อน คือการกว้านซื้อน้ำมันและลงทุนในสินทรัพย์พลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสำรองน้ำมัน ป้อนความต้องการที่เกิดจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

 

สิ่งที่อินเดียได้เปรียบจีนคือ ตอนที่จีนออกไปกว้านซื้อน้ำมันและสินทรัพย์พลังงานเมื่อ 10 ปีก่อน เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันเป็นช่วงขาขึ้น เคยไต่ขึ้นไปสูงสุดที่ราคา 147.27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีพ.ศ. 2551 ขณะที่อินเดียมีความต้องการน้ำมันในช่วงที่ราคาน้ำมันตกต่ำที่สุด โดยปีที่แล้วอินเดียจ่ายค่าน้ำมันน้อยลงไป 60,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.16 ล้านล้านบาท) เมื่อเทียบกับปี 2557 ทั้งที่ปริมาณนำเข้าเพิ่มขึ้น 4 %

 

บลูมเบิร์กระบุว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในช่วง 17 ปี ตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันทำให้ยอดขายรถยนต์และน้ำมันเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว และนั่นมีผลให้ประเทศจีนกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอันดับ 1 ของโลกแซงหน้าสหรัฐอเมริกา โดยอินเดียกำลังเจริญรอยตามและกำลังมีความต้องการซื้อน้ำมันและสินทรัพย์พลังงานเช่นเดียวกัน

 

ผลพวงจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ทำให้จีนต้องออกไปกว้านซื้อพลังงานและแหล่งพลังงานทั่วโลกทุกทวีป โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนใช้เงินซื้อสินทรัพย์ทางด้านพลังงานในต่างประเทศมีมูลค่าถึง 169,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.084 ล้านล้านบาท)

แต่อินเดียอยู่ในฐานะการต่อรองที่ดีกว่าจีนในสมัยก่อนมาก เนื่องจากมีการยกเลิกการแซงค์ชันประเทศอิหร่าน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันที่อยู่ใกล้กับอินเดีย

 

และเมื่อมองท่าทีของนายกรัฐมนตรีอินเดียก็ต้องยอมรับว่า สมกับที่เป็นลูกพ่อค้าใบชาเก่า ขยับตัวอย่างรวดเร็วหลังจากที่อิหร่านขายน้ำมันได้อีกครั้งหนึ่ง โดยสั่งให้รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอินเดียนำคณะไปเยือนอิหร่านในช่วงปลายเดือนเมษายน 2559 เพื่อหาทางร่วมมือกันในเรื่องน้ำมันและก๊าซ

 

รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอินเดียกลับจากอิหร่านพร้อมด้วยโครงการความร่วมมือระหว่างอินเดียและอิหร่าน 2 โครงการใหญ่ คือ โครงการพัฒนาท่าเรือ Chabahar ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศปากีสถานและอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของอินเดียเพียง 800 กิโลเมตร และโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยโรงงานผลิตปุ๋ยและปิโตรเคมีที่ 2 ฝ่ายจะร่วมมือกัน

 

บลูมเบิร์กชี้ว่าขณะนี้ความต้องการน้ำมันของอินเดียอยู่ในระดับเดียวกับช่วงที่เศรษฐกิจจีนเริ่มทะยาน โดยมีรายงานจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ ระบุว่าในปีที่แล้วอินเดียบริโภคน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และในปี 2559 นี้คาดว่ายอดการบริโภคน้ำมันของอินเดียจะแซงประเทศญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่มีอัตราขยายตัวของการบริโภคน้ำมันที่เร็วที่สุดในโลก โดยคาดว่าในปีพ.ศ. 2583 อินเดียจะบริโภคน้ำมัน 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่จีนจะบริโภค 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

ความต้องการบริโภคน้ำมันของอินเดียที่กำลังพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากเหตุผลเดียวกับที่จีนเคยมีความต้องการบริโภคน้ำมันอย่างพุ่งทะยานในอดีต คือการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากนายกรัฐมนตรี Modi ประกาศนโยบาย ‘Made in India’

นโยบาย ‘Made in India’ เน้นการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม มีเป้าหมายสร้างโรงงานใหม่ 100 ล้านโรง เพื่อสร้างงานและทำให้สัดส่วนของภาคอุตสาหกรรมในเศรษฐกิจของอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 18% ไปเป็น 25 % ภายในปี 2565
การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินเดียมีความต้องการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะนอกจากจะมีการใช้น้ำมันสำหรับภาคอุตสาหกรรมแล้ว การขนส่งสินค้าจากโรงงานด้วยรถและเรือจะต้องเพิ่มขึ้น และเมื่อถึงระดับหนึ่ง คนงานจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น มีรายได้ดี และซื้อรถขับ โดยมีรายงานว่าในปี 2558 คนอินเดียซื้อรถใหม่เพิ่มเป็นประวัติการณ์ถึง 24 ล้านคัน

 

B. Ashok ประธานบริษัท Indian Oil Corporation ซึ่งมีโรงกลั่นน้ำมันของรัฐใหญ่ที่สุดในประเทศ ให้สัมภาษณ์บลูมเบิร์กว่า ‘นโยบายที่เน้นภาคอุตสาหกรรมและมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัว จะทำให้เกิดการจ้างงาน การลงทุน การเคลื่อนไหวของสินค้าบริการและการขนส่งผู้คน’

 

ขณะนี้อินเดียนำเข้าน้ำมันถึง 80% ของความต้องการบริโภค เมื่อมีแนวโน้มการบริโภคน้ำมันเพิ่มขึ้นที่ชัดเจนเช่นนี้ ทำให้บริษัทน้ำมันของอินเดียเริ่มเลียนแบบจีน คือการออกไปทุ่มซื้อสินทรัพย์ทางด้านพลังงานนอกประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันในเรื่องของอุปทานน้ำมันในอนาคต โดยมีรายงานว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีพ.ศ. 2558 บริษัทของอินเดียทำสัญญาซื้อสินทรัพย์พลังงานนอกประเทศมูลค่าถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 108,000 ล้านบาท) สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจากปี 2555

 

บลูมเบิร์กระบุว่า มีบริษัทอินเดียซุ่มเงียบไปเสนอขอเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าของแหล่งน้ำมันและก๊าซที่ไซบีเรียของรัสเซีย โดยพร้อมที่จะจ่ายเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 180,000 ล้านบาท) เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะได้รับการส่งมอบน้ำมัน จากแหล่งในไซบีเรีย 250,000 บาร์เรลต่อวัน

 

นอกจากออกไปกว้านซื้อสินทรัพย์น้ำมันและก๊าซนอกประเทศแล้ว บริษัทสำรวจขุดเจาะน้ำมันของรัฐ Oil and Natural Gas Corp หรือ ONGC ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลอินเดียให้ลงทุนเพิ่ม 5,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งทะเลตะวันออก สวนทางกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซทั่วโลกที่กำลังชะลอการลงทุนสำรวจขุดเจาะจากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ

 

อินเดียไม่มีทางแทนที่จีน
ทันทีที่สื่อมวลชนตะวันตกชี้ว่าอินเดียกำลังแซงจีน ก็มีรายงานข่าวจากจีนโดยการเผยแพร่ในเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ NDTV ของอินเดียว่า สื่อของรัฐบาลจีนชี้ว่า การคาดการณ์ของสื่อตะวันตกดังกล่าวเป็นภาพลวงตา โดยสื่อมวลชนในจีนหลายแหล่งชี้ว่า ขนาดของ GDP ของอินเดียยังห่างไกลจากจีนมาก

 

บทความใน Global Times ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของหนังสือพิมพ์ People’s Daily ซึ่งเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์จีนชี้ว่า ‘เห็นได้ชัดว่าโอกาสที่เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวใหญ่กว่าจีนอย่างที่สื่อตะวันตกเล่นข่าวนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ง่าย เนื่องจากขนาด GDP ของอินเดียยังเล็กกว่าจีนมาก โดยในปีพ.ศ. 2558 มูลค่า GDP ของจีนอยู่ที่ประมาณ 10.42 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็น 5 เท่าของ GDP อินเดีย ซึ่งมีมูลค่า 2.18 ล้านล้านดอลลาร์’

 

หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของจีนระบุว่า แม้ในอนาคตเศรษฐกิจของจีนจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่ยังสามารถเติบโตได้และไม่มีทางติดลบ ดังนั้นจึงเป็นไม่ได้ว่า เศรษฐกิจของอินเดียจะแทนที่จีนได้

สื่อของจีนชี้ว่า สถาบันการเงินนานาชาติ ทั้ง Goldman Sachs, Morgan Stanley และ IMF แม้จะพยายามชี้ความได้เปรียบของอินเดีย (เหนือจีน) แต่อินเดียก็ยังไม่สามารถยกระดับขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจในระดับโลกได้ เนื่องจากยังมีปัญหาที่ฝังแน่นอยู่ อาทิ การขาดแคลนไฟฟ้า น้ำประปา ระบบขนส่งสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ

สื่อจีนชี้ว่า ‘ช่องว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างอินเดียและจีน ยิ่งนับวันก็ยิ่งขยายกว้างมากขึ้น จากระดับการพัฒนาที่ใช้เวลาหลายปีมาก ตัวชี้วัดต่าง ๆ ของอินเดียไม่ว่าจะเป็นอัตราการเกิด การอ่านออกเขียนได้ การบริโภคพลังงาน สัดส่วนพื้นที่ภูมิภาค และประชากรที่ยากจน ยังเท่ากับประเทศจีนเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 20 เท่านั้น’

 

รายงานอีกชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า อินเดียไม่มีทางแทนที่จีนในฐานะเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก เป็นบทความที่เขียนโดย Hoang Nghiem นักเขียนชาวเวียดนามซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ Quora โดยระบุว่า มีอุปสรรคมากมายที่สามารถบั่นทอนหรือแม้กระทั่งหยุดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียได้ อาทิ ปัญหาการแบ่งชนชั้น ความเชื่อทางศาสนา ภาษาที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละปัจจัยมีผลทำให้นักลงทุนต้องคิดหนักก่อนจะควักเงินลงทุนในประเทศอินเดียทั้งสิ้น

 

นอกจากนี้แล้ว Hoang Nghiem ยังชี้ว่า อินเดียจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ นอกจากจะต้องแก้ปัญหาทางด้านวัฒนธรรมและสังคมที่ต่อต้านความเจริญทางด้านวัตถุแล้ว ยังจะต้องมีการผลักดันให้ผู้หญิงอินเดียเข้าสู่ระบบแรงงาน กลุ่มประชากรหนุ่มสาวซึ่งมีจำนวนมากกว่าจีนนั้นก็มีปัญหาในเรื่องระดับการอ่านออกเขียนได้

นั่นทำให้ต้องมีการลงทุนทางด้านการศึกษาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสมองไหล และเศรษฐกิจจะต้องขยายตัวให้เร็วกว่าการเพิ่มของประชากร ไม่เช่นนั้นก็จะทำให้ประชากรยากจนเพิ่มจำนวนขึ้น กลับกลายเป็นตัวถ่วงความเจริญมากกว่าความได้เปรียบ

สุดท้ายแล้ว คงต้องดูฝีมือนายกรัฐมนตรี Narendra Modi และคนอินเดียเองว่าจะสามารถเอาชนะจีนได้อย่างที่สื่อตะวันตกพยายามเชียร์ได้หรือไม่…?