crosslogisticweb

ขนส่งทางบก เส้นทางอาเซียนโอกาสเติบโตสูง ผู้เชี่ยวชาญชี้ยังไปได้อีกไกล “แม้โลกหมดโควิด” ตลาด E-commerce ปัจจัยสนับสนุนความแข็งแกร่ง

การเติบโตของตลาด E-commerce เป็นไปอย่างร้อนแรง เพราะนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 คนก็หันมาสั่งสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น นั่นทำให้การใช้บริการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นตาม

แต่การขนส่งทางอากาศ ซึ่งเป็นการขนส่งที่รวดเร็วที่สุด แต่ก็เป็นการขนส่งที่มีค่าบริการสูงที่สุดเช่นกัน ทำให้ไม่ได้รับความนิยมในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซามากนัก เพราะหลายๆ กิจการ รวมไปถึงตัวผู้บริโภคเอง ก็อยากจะลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายลง

ส่วนการขนส่งทางเรือ ที่มีการคิดบริการขนส่งต่ำมาก แต่ใช้ระยะเวลานาน เมื่อเจอกับการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ได้เพิ่มมาตรการ และเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าขึ้นฝั่งมากขึ้น ทำให้รอบการขนส่งช้าลง และต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์

ดังนั้น ค่าบริการทางเรือจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนีค่าระวางเรือ (BDI) ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกราคาการขนส่ง-ขนย้ายสินค้าทางทะเล พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ขึ้นมาอยู่ที่ 4,235 จุด ข้อมูล ณ วันที่ 30 สิงหาคม 2564 จากต้นปี 2564 อยู่แถวๆ 1,374 จุด เมื่อเดือนมกราคม คิดเป็นการปรับตัวขึ้นสูงถึง 2,861 จุด (+208%)

เมื่อการขนส่งทางอากาศ และทางเรือ ต่างมีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น การขนส่งทางถนนจึงเป็นตัวเลือกที่ถูกหันมาใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับประเทศในอาเซียน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการเติบโตอย่างรวดเร็วของ E-commerce ส่งผลให้การขนส่งทางถนนเพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับเวียดนามและประเทศในอาเซียน

โดยกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำของโลก อย่าง Deutsche Post DHL Group ระบุว่า E-commerce ในภูมิภาคอาเซียนถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโต 5.5% และการขนส่งทางถนนในภูมิภาคคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 8% ต่อปีในช่วงปี 2563-2568 (เติบโตยาวถึง 5 ปี เลยทีเดียว)

และได้ให้เหตุผลว่า การขนส่งทางบกมีราคาถูกและปล่อยมลพิษน้อยกว่าการขนส่งทางอากาศ แถมยังเพิ่มความปลอดภัยและลด ระยะเวลาการขนส่งสินค้าเมื่อเทียบกับการขนส่งสินค้าทางเรือ

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้คาดการณ์ว่า ราคาขนส่งทางเรือ จะยังคงเพิ่มขึ้น จนกว่าบริษัทเดินเรือจะเพิ่มจำนวนกองเรือด้วยเรือใหม่ นั่นทำให้การขนส่งทางบกเป็นทางเลือกที่ดีหรืออย่างน้อยก็เป็นการเยียวยาชั่วคราวสำหรับผู้ส่งออก

ประกอบกับมองว่า การขนส่งทางบกมีความสำคัญมากขึ้นในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในเอเชีย เนื่องจากเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าและยั่งยืน ซึ่งในปี 2563 อัตราค่าขนส่งทางอากาศและทางเรือมีการปรับสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะที่การขนส่งทางบกมีเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักให้การรขนส่งทางบกมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงแม้การระบาดของ COVID-19 จะหมดไปแล้วก็ตาม เพราะผู้ประกอบการสามารถคาดเดา และคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการขนส่งสินค้าได้มากกว่าการใช้บริการขนส่งรูปแบบอื่น

แถมต่อจากนี้ จะมีการผ่อนคลายข้อจำกัดทางการค้าและการดำเนินการตามการด้านกฎระเบียบใหม่ในภูมิภาค เช่น ระบบการขนส่งทางศุลกากรของอาเซียน และความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมระดับภูมิภาค

โดยความร่วมมือทางการค้าจะยังคงเสริมสร้างความแข็งแกร่งและส่งเสริมการค้าภายในเอเชีย ซึ่งส่งผลดีสำหรับประเทศอาเซียน เนื่องจากเป็นการเตรียมพร้อมที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

สำหรับประเทศไทย นั้น ภาพรวมการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม) มีมูลค่ารวม 591,051 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.88% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

โดยการส่งออกไปจีน เพิ่มขึ้น 126.64% , สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 59.85% ,มาเลเซีย เพิ่มขึ้น 17.95% , เมียนมา เพิ่มขึ้น 10.65% ,ลาว เพิ่มขึ้น 8.08% ,กัมพูชา เพิ่มขึ้น 5.12% และ เวียดนาม เพิ่มขึ้น 1.63%

การส่งออกที่เติบโตขึ้นของไทย โดยเฉพาะการค้าชายแดนที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการใช้บริการขนส่งทางบกเช่นเดียวกัน

ข้อมูล : tradingview.com ,ditp

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #พาณิชย์ #การค้าชายแดน #E-commerce #ขนส่งทางบก #โลจิสติกส์