กุ้ง “เวียดนาม” แซงไทยไม่เห็นฝุ่น!! คู่แข่งคนสำคัญ ส่งออกสูงกว่าไทย 5 เท่า ไทยต้องเร่งปรับตัว-รัฐต้องช่วยหนุน เพิ่มความได้เปรียบ

หลายคนคงเคยได้อ่านบทความหลายๆ สำนักเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามที่พุ่งขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนว่ากันว่า เศรษฐกิจเวียดนามมีโอกาสแซงประเทศไทยในไม่ช้า

ในวันนี้เราจะมาพูดถึงอุตสาหกรรมการส่งออกกุ้ง ที่เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมของเวียดนามที่มีการเติบโตค่อนข้างน่ากลัว และเป็นอุตสาหกรรมที่แซงหน้าไทยไปแบบ “ไม่เห็นฝุ่น”

และในปีนี้เวียดนาม ก็ไม่หยุดพัฒนา เพราะได้มีการเปิดแผนบุกตลาดส่งออกกุ้งในปี 2564 ด้วยการตั้งเป้ามูลค่าส่งออกกุ้งกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 132,000 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ)

โดยภาคการเกษตรของเวียดนามได้รวมพลังมุ่งเน้นไปที่การส่งออก และหวังสร้างรายได้จากอุตสาหกรรมกุ้งเป็นกอบเป็นกำ

เห็นได้จากช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกกุ้งของเวียดนามปาเข้าไปกว่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (56,100 ล้านบาท) ปรับตัวขึ้น 13%

และอีกจุดที่ทำให้เวียดนามน่ากลัว มาจากตัวเลขการส่งออกกุ้งของเวียดนามไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 45% ต่อเดือน ส่งออกไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 17% ส่งออกไปเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น 10% และประเทศในโซนยุโรปขึ้นราว 15-60%

ซึ่งอัตราการเติบโตที่น่าตกใจนี้ต้องทำให้เราหันกลับมามองศักยภาพการส่งออกกุ้งของประเทศไทยที่เดินไปในทิศทางตรงกันข้าม

#ไทยส่งออกกุ้งถดถอย
มูลค่าการส่งออกกุ้งของไทยไปยังตลาดโลก ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 11,418.27 ล้านบาท ถึงแม้จะดีขึ้นกว่าช่วง 6 เดือนของปี 2563 เล็กน้อย (โต 2.13%) แต่เมื่อเทียบตั้งแต่ช่วงปี 2562 เป็นต้นมามูลค่าก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปี 2562 มูลค่าการส่งออกกุ้งไปทั่วโลกสูงเกือบ 30,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เมื่อเจาะดูข้อมูลส่งออกรายประเทศ พบว่า การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยส่งออกกุ้งมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศจีน มีมูลค่าลดลงถึง 18.36% (ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564) สวนทางกับเวียดนามที่เราได้บอกไปแล้วในตอนต้นว่า ส่งออกไปสหรัฐเติบโตขึ้น 45% ต่อเดือน

โดยในอดีต (ก่อนหน้านี้ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา) ไทยเคยส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ มูลค่าเฉลี่ยกว่า 1,280 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (42,240 ล้านบาท) ต่อปี แต่ความต้องการกุ้งในสหรัฐเพิ่มมากขึ้นทุกปี และปริมาณการผลิตกุ้งทั่วโลกเริ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ทำให้ราคากุ้งทั่วโลกต่ำลง ทำให้ อินเดีย และอินโดนีเซีย ได้เปรียบในการผลิต จากการที่ประเทศมีพื้นที่สำหรับเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่สร้างผลผลิตได้มาก จนกลายเป็นเจ้าตลาดสหรัฐฯ

เมื่อไม่สามารถแข่งขันได้ ไทยจึงได้ลดการส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐลง เพื่อไม่ให้ราคากุ้งตกต่ำ และเปลี่ยนเป้าหมายไปยังประเทศอื่น เช่นประเทศจีน เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการตลาด

ขณะที่ต่อมาช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ไทยประสบปัญหาโรคตายด่วน (EMS) ในกุ้ง เป็นโอกาสให้เวียดนามได้เข้ามาตีตลาดแทน โดยศึกษารูปแบบจาก ไทย

ประกอบกับพื้นที่เลี้ยงกุ้งเวียดนามมีค่อนข้างสูงจากการสนับสนุนของรัฐบาลเวียดนาม ให้ขยายพื้นที่เลี้ยงกุ้ง จากนโยบาย “เปลี่ยนนาข้าวให้เป็นนากุ้ง” ประกอบกับเวียดนามมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย จึงทำให้สามารถชิงตลาดไปจากไทยได้ในช่วงปี 2560

นอกจากนี้ช่วงปี 2562 ไทยยังถูกสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิภาษี (GSP) สินค้าส่งออกของไทย และส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมกุ้ง เพราะไทยส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก มูลค่าการส่งออกในช่วงนั้นสูงถึง 40% ของสินค้าส่งออกทั้งประเทศ (ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี)

แน่นอนว่าการตัดสิทธิภาษีครั้งนั้น ทำให้สินค้าจากไทยไปสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น (ภาษีสูงขึ้น เท่ากับผู้ส่งออกต้องปรับราคาสินค้าให้สะท้อนต้นทุน และราคาสินค้าก่อนถึงมือผู้บริโภคต้องปรับตัวขึ้นตาม) ทำให้ไทยเสียเปรียบการแข่งขันกับเวียดนามทันที นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ตอนนี้การส่งออกอุตสาหกรรมกุ้งเวียดนามทิ้งไทยไปแบบไม่เห็นฝุ่น

นอกจากนี้เวียดนามปัจจุบันก็ยังมีความได้เปรียบจากข้อตกลงการค้าเสรี ที่เป็นแรงผลักดันการส่งออกกุ้งฟื้นตัว เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และมี GSP กับยุโรป และข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) และข้อตกลงการค้าเสรีสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA)

สำหรับอุตสาหกรรมกุ้งไทยในตอนนี้ดูเหมือนจะถูกชิงความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) ไปเสียแล้ว ถึงแม้ก่อนหน้านี้ไทยจะได้เปรียบเพราะกุ้งไทยมีคุณภาพสูง และราคาถูก แต่เมื่อถูกตัดสิทธิทางภาษี

ประกอบกับต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงาน ภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน หรือแม้กระทั่งภาพลักษณ์เชิงลบที่เกี่ยวกับการใช้แรงงาน และการทำลายทรัพยากร และระบบนิเวศ ก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้าทั้งนั้น

ถึงแม้คุณภาพกุ้งเวียดนามไม่ได้แตกต่างจากไทยมากนัก แต่ความได้เปรียบหลักๆ มาจากต้นทุนผลิตที่ต่ำกว่าไทย และการสนับสนุนจากภาครัฐที่ทำให้พวกเค้าได้ขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกกุ้งอันดับต้นๆ ของโลก

โดยความสามารถในการแข่งขันของแต่ละอุตสาหกรรมนั้น ขึ้นอยู่กับราคาของวัตถุดิบในประเทศ อำนาจต่อรองกับประเทศคู่ค้า และที่ขาดไม่ได้เลยคือ การสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น ภาษี เป็นสิ่งสำคัญที่เพิ่มความสามารถให้กับผู้ส่งออก

#การปรับตัวเพื่อทวงคืนตลาด
และสิ่งที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกุ้งไทย ต้องทำคือ การลดต้นทุนการผลิต และพัฒนาระบบฟาร์มกุ้งให้ได้ประสิทธิภาพทั้ฝขนาดและคุณภาพให้ตอบโจทย์ตลาดที่ต้องการ หรืออาจจะมองหาตลาดใหม่เพื่อรองรับ

นอกจากนี้ การช่วยเหลือจากทางภาครัฐก็เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้สถานภาพของการส่งออกกุ้งไทยกลับมาฟื้นตัว เพื่อทวงคืนตลาดใหญ่อีกครั้ง

ตบท้ายด้วยรายชื่อของ ผู้ส่งออกกุ้งรายสำคัญของไทย 5 อันดับแรก มีดังนี้
1. บจก.เคเอฟฟู้ดส์
2. บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร
3. บจก.ไทยรอแยลฟรอเซนฟู๊ด
4. บมจ.มารีนโกลด์โปรดักส์
5. บจก.ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่นโปรดักส์

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ที่มา : https://www.mard.gov.vn/en/Pages/vietnam-shrimp-exports-reach-1-7-billion-usd-in-the-first-half-of-2021.aspx

http://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx

สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กรุงฮานอย

Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHC

#Businessplus #อุตสาหกรรมกุ้ง #กุ้งไทย #เวียดนามจะแซงไทย #economy #ธุรกิจ #ไทยเวียดนาม #Business+