รับน้องซีอีโอใหม่ ‘ดีแทค’ เมื่อ ‘เป้าหมายเบอร์ 2’ ยังไม่เครียดเท่าการเยียวยาคลื่น 850

ถือเป็น ‘การรับน้อง’ เลยก็คงไม่ผิด หลังจากดีแทคได้ ‘ซีอีโอหญิง’ คนแรกอย่าง          ‘อเล็กซานดรา ไรช์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เข้ามารับช่วงต่อจาก ลาร์ส นอร์ลิ่ง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ดังนั้น มาติดตามแนวทางขับเคลื่อนดีแทคหลังจากนี้ของไรช์ ผู้สร้างอนาคตอันสดใสให้แก่ดีแทคในอนาคตกันดีกว่า

 

แน่นอนว่าหลายคนอาจจะพุ่งเป้าไปที่ซีอีโอทุกราย ที่เข้ามาใหม่ว่าจะทำให้ดีแทคกลับไปรั้งเบอร์ 2 ได้อย่างไร แต่เนื่องจากสถานการณ์ในตอนนี้ของดีแทคเรียกว่าเจอศึกหนักรอบด้าน ดังต่อไปนี้

 

  1. กรณีการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่ผู้ชนะจะต้องไปติดตั้งฟิลเตอร์กรองสัญญาณรบกวนให้กับตนเองและโอเปอเรเตอร์รายอื่นเพื่อให้ไม่กระทบต่อคลื่นการเดินรถรางสาธารณะ
  2. ต้องรับมือกับคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่มีลูกค้าอยู่ในระบบประมาณ 4 แสนราย
  3. ดีแทคกำลังจะหมดสัมปทานคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในวันที่ 15 กันยายนนี้

 

เป้าหมายแบบไหน? ที่ผู้บริโภคอย่างเราจะได้เห็น

 

ดังนั้น แผนด้านยุทธศาสตร์หลักๆ ที่ ‘ไรซ์’ จะเริ่มต้นในยุคของเธอช่วง 6 เดือนแรกที่เธอใช้คำว่าเป็น “การทดลองงาน” ของเธอ จึงยังไม่ใช่การมองถึงเรื่องตำแหน่งเบอร์ 2 ของตลาดเป็นหลัก

 

โดยเน้นไปที่ เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ / การรับมือกับช่วงการเปลี่ยนผ่านที่มีปัญหาอุปสรรคในการทำงาน และการปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ของพนักงานในองค์กร

 

dtac

 

การเยียวยาจาก กสทช. คือทางออก?

 

เกี่ยวกับกรณีการเยียวยานั้น ไรซ์ มองว่า “ดีแทคควรได้รับการคุ้มครองชั่วคราวจากทางกสทช. เนื่องจากยังไม่มีการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซ และต่อให้มีการประมูล การย้ายคลื่นก็ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ส่วนคลื่น 1800 นั้น ดีแทคเชื่อต้องได้รับการเยียวยาโดยอัตโนมัติหลังจากที่บริษัทได้เข้าประมูลครั้งที่ผ่านมา”

 

ดีแทคยังอ้างถึงประกาศการเยียวยาเดิมที่กสทช. เคยระบุอีกว่า ผู้ให้บริการบนระบบสัมปทานเดิมจะสามารถได้รับการเยียวยาไปจนกว่าคลื่นจะมีผู้รับใบอนุญาตใหม่ หรือลูกค้าย้ายออกไปหมดแล้ว

 

ซึ่ง ดีแทคได้ยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดกับทรูมูฟ เอช คือ มีเวลาอีก 2 ปี 2 เดือน หลังระยะเวลาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ซสิ้นสุดลง ส่วนเอไอเอสได้รับเวลา 8 เดือน หลังระยะเวลาสัมปทานคลื่น 900 เมกะเฮิร์ซหมดลง และนั่นก็น่าจะเป็นเหตุผลให้ดีแทคได้รับการเยียวยาด้วยเช่นเดียวกัน

 

ก็ต้องรอตามดูว่าช่วงเวลา 6 เดือนที่เธอใช้ว่าเป็นช่วงทดลองงานนั้น จะพาดีแทคให้พ้นผ่านช่วงเวลาแห่งความท้าทายไปได้มากน้อยเพียงใด

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันดีแทคมี คลื่น 2300 MHz และ 2100 MHz อยู่แล้ว โดยมีแผนขยายเสาสัญญาณกว่า 7,000 – 8,000 แห่ง ทั้งนี้ ดีแทคมีแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 2562 อีกทั้งคลื่น 2300 MHz ยังเน้นการให้บริการ 4G และรองรับเทคโนโลยี 5G ในอนาคต ซึ่งลูกค้าดีแทคก็สามารถเปลี่ยนคลื่นความถี่สำหรับใช้งานได้ ซึ่งน่าจะตอบโจทย์ของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม คลื่นความถี่ที่กำลังหมดสัมปทานในเร็ว ๆ นี้ ลูกค้าดีแทคจะต้องรีบติดต่อเพื่อขอเปลี่ยนคลื่นความถี่ของดีแทคที่มีอยู่ในขณะนี้ หรืออาจย้ายค่ายไปใช้บริการค่ายอื่นแทน