SD Symposium 2018 : Digital for Circular Economy

คุณจาชชัว แพส กรรมการผู้จัดการ AddVentures โดยเอสซีจี


ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) คือระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ
การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่าน
การผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (re-material) และสนับสนุนการใช้ซ้ำ (reuse) ถือเป็นกุญแจสำคัญในการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม ควบคู่กับประสิทธิภาพของธุรกิจ

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน มีโมเดลธุรกิจทั้งหมด 5 แบบหลัก ได้แก่ 1.Circular Supplies พลังงานทดแทนและการจัดหาทรัพยากรเข้ากระบวนการจากรีไซเคิล 2.Resource Recovery นำกลับพลังงานและวัตถุดิบจากขยะ สินค้าใช้แล้ว และของเสียจากกระบวนการผลิต 3.Product Life-extension การทำให้อายุการใช้งานของสินค้ายาวนานขึ้นโดยใช้นวัตกรรมและการออกแบบสินค้า 4.Sharing Platform เชื่อมต่อผู้ใช้จำนวนมากเพื่อประสิทธิภาพในการใช้งานและเข้าถึงสินค้าและบริการ 5.Product as a service เปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจไปสู่การให้บริการแทนการขายสินค้า

ทั้ง 5 โมเดลธุรกิจนี้ สามารถเชื่อมโยงกับยุค Digital Transformation เพื่อสร้างให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนได้ ดังที่ระดับโลกเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว และสตาร์ทอัพคือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนผ่านทั้ง 5 โมเดลธุรกิจ แม้สตาร์ทอัพแต่ละรายอาจยังสร้างผลกระทบได้ในวงจำกัด แต่หากทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพที่ช่วยตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น จากจำนวนน้อยก็จะกลายเป็นจำนวนมหาศาลและสร้างผลกระทบที่ดีในวงกว้างได้

หากต้องการจะปรับธุรกิจของตัวเองให้เข้ากับระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ต้องคิดให้เหนือความคาดหมายของผู้บริโภค มีนวัตกรรมในการพัฒนาโมเดลธุรกิจ รวมถึงทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่อยู่ใน Ecosystem ของธุรกิจและอุตสาหกรรม

 

สิทธิศักดิ์ วงศ์สมนึก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง GIZTIX

GIZTIX คือ สตาร์ทอัพด้านการบริการขนส่ง ผ่านระบบตลาดขนส่งออนไลน์ ปัจจุบันมีบริการด้าน
โลจิสติกส์หลายบริการ เช่น ระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ มาร์เก็ตเพลส บริการจองโลจิสติกส์ บริการติดตามรถบรรทุก ถือเป็นระบบที่มีโมเดลธุรกิจแบบ Sharing Platform ซึ่งถือเป็นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจ
แบบหมุนเวียน
ปัจจุบัน ในระดับโลกมีสตาร์ทอัพหลายรายที่เข้ามาสร้างโมเดลธุรกิจตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจ
แบบหมุนเวียน เช่น Claim Di ที่ใช้ดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงกระบวนการของธุรกิจประกัน Skootar ที่เป็น Sharing Platform สำหรับพนักงานส่งเอกสาร
สำหรับสตาร์ทอัพที่จะเข้ามามีส่วนช่วยให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนได้ อาจไม่ใช่สตาร์ทอัพที่เพิ่งก่อตั้งมาในระยะเวลาไม่นาน แต่มักจะเป็นสตาร์ทอัพตั้งแต่ระดับ Series A ขึ้นไป เช่น ที่ทาง AddVentures ได้ให้ความสนใจในการลงทุน

ดร. มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง HG Robotics

HG Robotics ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 เชี่ยวชาญในการพัฒนาหุ่นยนต์และระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ ปัจจุบันกำลังพัฒนาหุ่นยนต์ที่ช่วยเหลือในหลากหลายธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงหุ่นยนต์เพื่อภาคธุรกิจเกษตรด้วย
แม้ว่าหุ่นยนต์อาจจะเป็นสิ่งที่นำไปรีไซเคิลได้ยาก แต่หุ่นยนต์ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นในกระบวนการต่างๆ เช่น การผลิต ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดการ reuse ในรูปแบบอื่นๆ เช่น การใช้ machine learning ทำให้ไม่ต้องมีกระบวนการใช้บางอย่างซ้ำ
สตาร์ทอัพยังถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในอนาคต โดยสตาร์ทอัพสามารถปรึกษาและรับคำแนะนำได้จากผู้นำในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เอสซีจี