สิ่งที่นักธุรกิจต้องรู้ ก่อนทำตลาดที่เมียนมา

เมื่อพฤติกรรมการบริโภคของคนเมียนมามีการเปิดรับไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และใช้สินค้าตอบสนอง emotional มากขึ้นก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายมากกว่าเดิม แต่ไม่ใช่ทุกแบรนด์จะประสบความสำเร็จ จึงควรมีการศึกษาตลาดและผู้บริโภคให้ดี เพื่อเข้าไปขายสินค้าอย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกกลุ่ม และวางกลยุทธ์ได้ถูกทาง ไม่ต้องเสียเวลาและการลงทุนไปอย่างสูญเปล่า

เอ็นไวโรเซล (ไทยแลนด์) บริษัทวิจัยตลาดระดับโลกได้เผยผลการสำรวจเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคเมียนที่นักธุรกิจควนรู้ดังนี้

1. ตลาดโมเดิร์นรีเทล (Modern Retail) เติบโตสูง เมียนมาเป็นตลาดที่ดึงดูด Retailer จากหลายประเทศให้เข้ามาลงทุน เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการขยายธุรกิจรีเทลมาที่เมียนมา อาทิ Aeon, Miniso หรือ Daiso รวมถึงมีแผนการขยาย Fashion Retail แบรนด์ต่างๆ ทำให้พื้นที่รีเทลในเมียนมาเติบโตสูงถึง 28 % และมีการขยายตัวของพื้นที่ให้เช่าจาก 150,000 ตารางเมตร เป็น 250,000 ตารางเมตร

ส่วนตลาดค้าปลีกในเมียนมาก็มีการขยับขยายกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะการเปิดสาขาเพิ่มในเมืองรอง เช่น เมืองย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเนย์ปิดอว์ จากงานวิจัยความเชื่อมั่นของผู้บริโภค พบว่า 54 % ของคนเมียนมาไม่มีความกังวล และมีความตั้งใจจะใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมที่จะทำให้ตลาดค้าปลีกเติบโตอย่างคึกคักในปี 2018

2. มองหาสินค้าที่สนองไลฟ์สไตล์มากกว่าแค่ปัจจัยสี่ ปัจจุบันคนเมียนมาซื้อสิ่งของที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์มากขึ้น ไม่เพียงแค่ซื้อสินค้าที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันเท่านั้น เช่น มีการใช้น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น น้ำยาปรับผ้านุ่ม ครีมนวดผม สบู่เหลว มากขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนจัดเป็นสินค้าที่ไม่จำเป็น และสิ้นเปลือง โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 14 % ต่อปี ในขณะที่อัตราการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบาย เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ก็เติบโตสูงเช่นเดียวกัน แม้แต่คอนเทนต์โฆษณาในเมียนมาก็มีการปรับเปลี่ยนอย่างชัดเจนจากโฆษณาที่เน้น Hard Sale ขาย Functional Product ความยาว 3 นาที ก็เปลี่ยนมาเน้น Soft Sale คือ ขาย Emotional เป็นไลฟ์สไตล์คอนเทนต์มากขึ้น

ที่สำคัญคือ ชาวเมียนมาหันมานิยมเข้าร้านกาแฟที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่มากขึ้น จากเดิมที่นั่งยองตามตั่งเก้าอี้ จิบชากาแฟริมถนน ทำให้แบรนด์กาแฟต่างๆ ทยอยเข้ามาเปิดตัวในเมียนมามากขึ้น เช่น Gloria Jean’s, True Coffee ,Black Canyon และCoffee Bean & Tea Leaf เป็นต้น ปัจจุบันร้านกาแฟในเมียนมามีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจาก 6 % ในปี 2013 เป็น 45 % ในปี 2016 เช่นเดียวกับธุรกิจที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นสกายบาร์ โยคะ หรือฟิตเนส ที่จัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงในเมียนมา

ขณะที่ผู้ร่วมงานแฟร์อย่างงาน Myanmar Build & Décor งานแต่งบ้าน ไลฟ์สไตล์ดีไซน์ก็มีผู้ร่วมงานมากขึ้น โดยมีจำนวน 5,119 คนในปี 2017 จาก 2,879 คนในปี 2014 เติบโต 80 %  (ข้อมูลจากบริษัท ไอซีเว็กซ์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการจัดงานแฟร์ และเอ็กซิบิชั่นทุกครบวงจร บริษัทในเครือของบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน))

3. โกอินเตอร์ จากงานผลการสำรวจ พบว่า คนเมียนมาเริ่มหันมาใส่ใจภาพลักษณ์ และ Status Symbol มากขึ้น มีการใช้สินค้าอิมพอร์ตมากขึ้น เช่น บิสกิต ชาอังกฤษ สปาเกตตี้ ซุปฝรั่ง และซีเรียล ขณะเดียวกัน 47 % ของคนเมียนมาที่ใช้ ‘อินเทอร์เน็ต’ เปิดรับสื่ออินเตอร์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะVDO Streaming ส่งผลให้ Netflix รวมถึงพันธมิตรอย่าง Ooredoo และ Iflix เตรียมขยายธุรกิจมายังเมียนมามากขึ้น

นอกจากนี้ชาวนเมียนมาเริ่มมีความนิยมเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น ถึง 3 ล้านคน ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางออกนอกประเทศสูงที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉลี่ย 10.6 % โดยเฉพาะกลุ่มรายได้ A และ B ในย่างกุ้ง และมัณฑเลย์

ที่ผ่านมา เเศรษฐกิจของเมียนมาฟื้นตัวจากปี 2016 โดยมี GDP ที่ 7.7 % และคาดว่าปีนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 8 % เพราะเมียนมากำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมากมายในอนาคตเพื่อให้เมียนมาสามารถเชื่อมต่อกับนานาประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน อินเดีย บังคลาเทศ หรือไทยได้

นี้อาจเป็นโอกาสของนักธุรกิจไทยในการเริ่มทำธุรกิจกับเมียนมา และถ้าคุณให้บริการและจำหน่ายสินค้าที่ตรงใจผู้บริโภค ธุรกิจของคุณก็อาจจะทำกำไรให้คุณอย่างมหาศาล