เครื่องประดับ

เจาะตลาดเครื่องประดับ Gen Z (Centennials) รุกตรงจุดอะไรๆก็ปัง ตอนที่.2

รุกตลาดเครื่องประดับ Gen Z อย่างไรให้ปังไม่มีพัง

Gen Z คือเด็กที่เกิดในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง เติบโตและรู้ความมาพร้อมๆ กับระบบอินเทอร์เน็ต และอุปกรณ์ ดิจิทัลต่างๆ บวกกับเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ยอมรับและเปิดกว้างทั้งเรื่องของเพศ การเมือง ความเป็นนานาชาติ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม Gen Z จึงให้ความสนใจในด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก รวมทั้งสร้างและสานต่อความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Tumblr, Instagram, Facebook และ Whisper ดังนั้นเด็กGen Z จึงรับข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ฉับไวแล้วก็หมดความสนใจได้เร็วพอกัน

แล้วจะสร้างเงินจากเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร ??

คำตอบนั้นง่ายมากแต่ก็ทำไม่ง่ายเช่นกัน เครื่องประดับที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้จะต้องไม่เป็นเพียงแค่เครื่องประดับที่สวมใส่แต่ต้องมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ผสมผสานเข้ากับเครื่องประดับ หรือที่เรียกว่า ‘Smart Jewelry’ เช่นเครื่องประดับที่ติดตั้งระบบ GPS ติดตามได้ เครื่องประดับที่เก็บข้อมูลการทำกิจกรรมใน ชีวิตประจำวันของผู้สวมใส่ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย การนอน ซึ่งเก็บข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจหรือนับจำนวนก้าวเดินได้ ไปจนถึงสามารถรับการแจ้งเตือนหรือรับข้อความโดย เชื่อมต่อจากสมาร์ทโฟนด้วยการเปลี่ยนสี กะพริบไฟ หรือสั่น เตือนได้ เป็นต้น

นอกจากโปรดักซ์ที่ต้องว้าวแล้ว การสื่อสารกับคนรุ่น Gen Z แบบฉับพลัน ก็สำคัญเพราะคนกลุ่มนี้ต้องการฟังการเสนอขายสินค้าด้วยคำเพียงไม่กี่คำหรือภายในไม่กี่วินาที กลยุทธ์การทำตลาด สินค้าจึงต้องชัดเจน โดดเด่น และตรงใจ ไม่อย่างนั้นก็จะถูกชาว Gen Z เมินในทันที

แต่ที่น่าตกใจก็คือ คนกลุ่มนี้โตมาพร้อมเทคโนโลยี และใช้ดิจิทัลจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ชาว Gen Z มากกว่าร้อยละ 74 ใช้เวลาว่างอยู่บนโลกออนไลน์ แต่คนกลุ่มนี้เกือบร้อยละ 98 กลับชื่นชอบการซื้อสินค้าในร้านค้ามากกว่าการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้แต่ ตามรายงานเรื่อง “Uniquely Generation Z” พบว่าส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าในร้านก็เพื่อหลีกเลี่ยงค่าขนส่ง สินค้า เพราะชาว Gen Z ส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน มีวงเงินในการใช้จ่ายจำกัด หรือมักใช้ลูกอ้อนให้พ่อแม่ซื้อสินค้า ในร้านให้มากกว่า

และที่สำคัญเด็กกลุ่มนี้ยังขาดความอดทนและต้องการความสะดวกสบายเป็นอันดับหนึ่ง ฉะนั้น กระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการสั่งซื้อ การส่งมอบ และจัดส่งสินค้า รวมทั้งการรับคืนสินค้าผ่านทางระบบ ออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งสำหรับคนรุ่นนี้

เมื่อสินค้าปังๆอย่างเดียว สูบเงินจาก Gen Z ไม่ได้

อีกประเด็นที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ในการตัดสินใจซื้อเครื่องประดับ เด็กรุ่นใหม่กลุ่มนี้กลับให้ความสำคัญกับประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและ ความยั่งยืนของธุรกิจมากขึ้นนอกเหนือจากโพรดักซ์ที่โดนใจ โดยสนใจว่าบริษัทดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้บริษัท ซึ่งนำเสนอเครื่องประดับผ่านการค้าที่เป็นธรรมและถูกต้องตามหลักจริยธรรมจึงมีคะแนนสูงขึ้นมาทันทีในสายตา ของคน Gen Z ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่อุตสาหกรรมเครื่องประดับโดยรวมควรให้ความสนใจ เหตุผลก็คือ Gen Z เติบโตมาพร้อมความคาดหวังว่าแบรนด์ที่พวกเขาซื้อสินค้าจะมีความโปร่งใส มีความตั้งใจที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่าแค่สร้างยอดขาย และคนกลุ่มนี้ก็มีสำนึกเรื่องความเท่าเทียมและความยุติธรรมที่สูงยิ่งกว่าชาว Gen Y ซึ่ง กลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ตัวตนของแบรนด์เครื่องประดับนั้นต้องไม่เพียงแค่พูดแต่เรื่องจริยธรรมและการค้าที่ เป็นธรรม แต่ยังต้องแสดงให้เห็นผ่านวิดีโอ รูปถ่าย และเรื่องราวต่างๆ ว่าประเด็นนี้เป็นหลักการสำคัญที่บริษัทหรือ แบรนด์ยึดถือด้วย

แม้การเข้าถึงชาว Gen Z อาจดูเป็นเรื่องยาก แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ แต่แบรนด์ต้องพัฒนาสินค้าให้ถูกตาต้องใจและทำตลาดอย่างต่อเนื่องในสื่อสังคมออนไลน์ควบคู่กับการเปิดหน้าร้านสร้างความสัมพันธ์ที่ดีผ่านกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆแบบสองทางกับลูกค้า หรือเพิ่มกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ที่ดึงดูดความสนใจจากคนกลุ่มนี้ซึ่งมากกว่าแค่การผลิตสินค้าตามความต้องการหรือการปรับแต่งสินค้าให้เหมาะกับแต่ละบุคคล แต่ต้องดึง Gen Z เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับนักออกแบบ ให้ลูกค้าได้มี ส่วนร่วมแสดงแนวทางด้านจริยธรรม

และที่จะมองข้ามไม่ได้คือ อย่าลืมทำการตลาดกับพ่อแม่หรือคนในครอบครัวของคนกลุ่มนี้ด้วย ดังนั้น เมื่อธุรกิจเครื่องประดับสามารถ พัฒนากลยุทธ์การตลาดได้อย่างเหมาะสมและโดนใจคนกลุ่มนี้แล้วแบรนด์ของคุณจะพร้อมรับมือกับลูกค้ารุ่นใหม่ซึ่ง เติบโตมากับโลกดิจิทัลได้อย่างแน่นอน

ฟังดูอาจดูยุ่งยากแต่ผู้บริโภคคนรุ่นนี้จะมีความภักดีในสินค้าและบริการต่ำกว่าคนรุ่น Gen Y ลงไปอีก ฉะนั้น กุญแจสู่การรักษาความภักดีของ Gen Z ในโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งดึงดูดความสนใจก็คือการสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ เป็นประจำ ไม่ใช่แค่ส่งข่าวไปหา แต่เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าในโลกดิจิทัล โดยเน้นการสื่อสารสองทาง หรือแม้กระทั่งการสื่อสารเป็นกลุ่ม แทนที่จะเน้นแต่นำเสนอโฆษณา ข่าวการลดราคา หรือสินค้าใหม่ๆ ให้คนกลุ่มนี้

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
กุมภาพันธ์ 2561