เมื่อสถานการณ์ระหว่าง ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ยังคงตึงเครียดจึงมีหลายประเทศได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่เพียงแค่สินค้าประเภทพลังงานอย่างน้ำมัน และก๊าซ แต่ยังมีผลกระทบโดยตรงสู่ตลาดข้าวสาลีโลก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการทำขนมปัง (อาหารหลักของหลายประเทศ โดยเฉพาะฝั่งยุโรป)
ซึ่งตลาดข้าวสาลีโลกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสงครามนี้ สาเหตุเป็นเพราะ 3 ประเทศหลักที่ส่งออกข้าวสาลี คือ รัสเซีย ยูเครน และโรมาเนีย (ผลิตข้าวสาลีได้หนึ่งในสามของโลก) โดยอียิปต์นำเข้าผ่านทะเลดำ และเข้าสู่ท่าเรือเมืองอเล็กซานเดรีย ดังนั้น เมื่อเกิดสงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน จึงทำให้เกิดความกังวลว่าจะเกิดความขาดแคลนในห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารทั่วโลก
โดยมีการคาดการณ์ว่า ข้าวสาลีคงคลังทั่วโลกจะหดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี หากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนรุนแรงขึ้น นั่นเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงเพราะทำให้ความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์จะตึงตัวมากขึ้น และปัจจุบันได้เห็นราคาข้าวสาลีทั่วโลกที่สูงขึ้น
และยิ่งเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงมากที่สุดต่อประเทศผู้นำเข้าข้าวสาลีอย่าง ‘อียิปต์’ เพราะอียิปต์เป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก
ลองมาดูตัวเลขการนำเข้าข้าวสาลีของอียิปต์ในปีที่ผ่านมากันสักหน่อย โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา อียิปต์นำเข้าข้าวสาลี 90% (จากรัสเซียและยูเครน นำเข้าจากรัสเซียในสัดส่วน 60% จากยูเครนเกือบ 30%) โดยนำเข้าข้าวสาลี 10 ล้านตันจากทั้งสองประเทศ (จาก 13 ล้านตันของข้าวสาลีที่นำเข้าทั้งหมด)
ในปี 2564 อียิปต์นำเข้าข้าวสาลีทั้งหมด 13 ล้านตัน และมีผลผลิตในประเทศ 3.5 ล้านตัน โดยนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ร้านเบเกอรี่ในเขตเทศบาลที่ผลิตขนมปังอุดหนุนโดยรัฐ กับภาคเอกชนที่ผลิตมักกะโรนีของหวาน และร้านเบเกอรี่อื่น ๆ ที่ผลิตขนมปังโดยไม่ได้รับเงินอุดหนุน
ถึงแม้ว่าจะมีแหล่งนำเข้าข้าวสาลีจากประเทศอื่น เช่น ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอาร์เจนตินา แต่ต้นทุนข้าวสาลีจากแหล่งดังกล่าวมีราคาสูงกว่านำเข้าจารัสเซีย และยูเครนมาก
เหตุผลสำคัญที่ทำให้อียิปต์นำเข้าข้าวสาลีจากรัสเซียและยูเครน ได้แก่
1) ข้าวสาลีจากทั้งสองประเทศมีราคาต่ำกว่าราคาโลกราว 10%
2) รัสเซียและยูเครนเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กับอียิปต์มากกว่าประเทศอื่น ทำให้มีความได้เปรียบในด้านต้นทุนค่าขนส่ง โดยการขนส่งใช้เวลาเพียงสิบวันเพื่อไปถึงชายฝั่งอียิปต์ซึ่งใช้ระยะเวลาน้อยกว่ามากหากเปรียบเทียบกับการส่งออกที่มาจากสหรัฐอเมริกาที่ต้องใช้เวลาถึง 24 วัน และจากอาร์เจนตินาที่ต้องใช้เวลา 28 วัน
ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังส่งผลต่อราคาน้ำมันทั่วโลก ทำให้ต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะสินค้าอาหารที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากทั้ง 2 ประเทศมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากพลังงานคิดเป็น 33% ของต้นทุนการผลิตทางการเกษตร
นอกจากนี้ สำหรับผู้ประกอบการในอียิปต์ยังมีต้นทุนที่ต้องจัดทำประกันภัยสำหรับสินค้าที่จะต้องขนส่งผ่านใกล้ยูเครน-รัสเซีย โดยรัฐบาลอียิปต์ประเมินว่า จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมถึง 1,000 ล้านปอนด์อียิปต์ (ประมาณ 2,000 ล้านบาท) สำหรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการนำเข้าข้าวสาลี ข้าวโพดเหลือง และน้ำมันปรุงอาหาร ในกรณีที่วิกฤตในยูเครนยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องออกไป
ดังนั้น เมื่อราคาข้าวสาลีทั่วโลกสูงขึ้นประกอบกับต้นทุนขนส่งและการทำประกันภัยสินค้าเพิ่มขึ้น อียิปต์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับราคาขนมปังเพิ่มเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่สูงขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลอียิปต์ได้ใช้เงินอุดหนุนขนมปังมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เมื่อราคาขนมปังเพิ่มสูงขึ้นรัฐจึงต้องทบทวนราคาที่อุดหนุนขนมปังในประเทศ ซึ่งอาจมีการปรับราคาเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น (ก่อนหน้านี้ราคาขนมปังในอียิปต์ไม่ได้รับการปรับมาตั้งแต่ปี 2531) หรือ 34 ปีที่แล้ว
นอกจากการปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนแล้วยังต้องแก้ปัญหาอีกด้านด้วยการหาแหล่งนำเข้าที่ถูกลง ซึ่ง ‘กรมการค้าระหว่างประเทศ’ ประเมินว่า อียิปต์มีความจำเป็นจะต้องหาทางเลือกในการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากแหล่งอื่นที่มีความได้เปรียบในด้านต้นทุนและค่าขนส่งเพื่อใช้ทดแทนแหล่งนำเข้าเดิมจากรัสเซียและยูเครนที่กำลังประสบปัญหากันอยู่
จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งหนึ่งในประเทศตัวเต็งที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ครั้งนี้คือ ฝรั่งเศส และสหรัฐ ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์การสั่งซื้อข้าวสาลีทดแทนมากกว่าออสเตรเลีย และอินเดีย
และอียิปต์ได้ประกวดราคาระหว่างประเทศเพื่อจัดซื้อข้าวสาลีจำนวนมากในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการที่นำมาใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวสาลีในต่างประเทศ โดยมีการสั่งซื้อจากโรมาเนีย ยูเครน รัสเซีย และฝรั่งเศส ซึ่งทำสัญญากับ Supply Commodities Authority เอาไว้จำนวน 420,000 ตัน
ถึงแม้อียิปต์จะเปิดเผยว่ามีสต็อกข้าวสาลีสำรองไว้ใช้ได้นานถึง 4.2 เดือน และอียิปต์ได้ประกวดราคาระหว่างประเทศเพื่อจัดซื้อข้าวสาลีจำนวนมากในช่วงเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา
แต่ขนมปังเป็นอาหารหลักของคนอียิปต์ ดังนั้นเมื่อราคาต้นทุนสินค้าประเภทขนมปังปรับตัวสูงขึ้น และมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือ ร้านค้าและผู้บริโภคอาจจะเริ่มกักตุนสินค้าเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคจนกว่าจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไม่สงบดังกล่าว ซึ่งหากสถานการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้น จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์มากขึ้น
เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์
ที่มา : DITP
ติดตาม Business+ ได้ที่ thebusinessplus.com
Line Business+ ได้ที่ https://lin.ee/pbIHCuS
#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #สงคราม #รัสเซียยูเครน #ข้าวสาลี #DITP