The Success Story of The Month By ‘Business Plus’ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2568 จะพาผู้อ่านมาพบกับบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจาก คุณมล “ฐิภา นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG ถึงบทบาทของผู้สืบทอดธุรกิจ และมีส่วนร่วมในการเติบโตและความสำเร็จของ YLG Group ในฐานะผู้นำตลาดทองคำไทยยุคใหม่ ที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
To the New Golden Age
เปิดเส้นทางสายทองคำของ YLG GROUP
การเจริญเติบโตของ YLG GROUP หรือ YLG ทุกวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฐิภา นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเข้ารับช่วงต่อมาจากรุ่นพ่อ-แม่ ซึ่งเธอมีส่วนร่วมสร้างมากับมือในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา
ด้วยความที่เธอคลุกคลีกับธุรกิจค้าทองมาตั้งเล็ก ทำให้มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ เข้ามาเสมอ เรียกว่า YLG พยายามจะปรับปรุงพัฒนาบริการมาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง หรือแม้แต่การเป็นผู้ประกอบการค้าทองคำ จากประเทศไทยที่กล้าจะออกจาก Safe Zone ด้วยการเปิด YLG สาขาประเทศสิงคโปร์ และตอนนี้ได้ขยายธุรกิจไปถึงดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมกับเปิดช่องทางการขายสู่ช่องทางออนไลน์ ซึ่งเธอย้ำกับเราว่า “ถ้าธุรกิจไม่ได้เริ่มอะไรใหม่ ๆ ในวันนั้น ก็คงไม่ได้มี YLG ในตลาดโลกถึงวันนี้”
กับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณมล “ฐิภา นววัฒนทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLG ถึงบทบาทของผู้สืบทอดธุรกิจ และมีส่วนร่วมในการเติบโตและความสำเร็จของ YLG Group ที่มีความเข้าใจในภาพรวมทั้งธุรกิจของตัวเอง และอุตสาหกรรมทองคำในประเทศ ซึ่งเธอได้ให้เกียรติเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเราในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้แบบเจาะลึก ในฐานะผู้นำตลาดทองคำไทยยุคใหม่ ที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ก้าวแรกสู่สนามทองคำ
“ช่วงนั้นคุณแม่อยากจะขยายธุรกิจ ลองมองอะไรที่มันใกล้กับสายงานเดิมที่เราทําอยู่ จึงมาเริ่มขายทองคําแท่งเพราะไหน ๆ เราต้องซื้อเข้ามาใช้อยู่แล้ว เราก็ซื้อเข้ามามากหน่อยแล้ว ใช้เองด้วยผลิตส่งออกเองด้วย”
คุณมลเปิดประเด็นถึงที่มาเข้าสู่ธุรกิจค้าทองของ ยูหลิมโกลด์ แฟคตอรี่ จำกัด ที่เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อกว่าสามสิบปีที่แล้ว ในปี พ.ศ. 2536
“จุดเด่นของบริษัทเรา คือการพยายามมาเติมในสิ่งที่รู้สึกว่ายังขาด คือเวลาที่เราคุยกับลูกค้า เขาก็จะบอกว่า ชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไร อยากได้อะไรเพิ่ม แล้วก็ค่อยปรับไป ค่อย ๆ เติม พัฒนาในเรื่องการให้บริการมาเรื่อย เป็นการเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเป็นการพัฒนาไปเรื่อย ๆ”
ในยุคเริ่มต้นกลุ่มลูกค้าหลัก YLG จะเป็นกลุ่มร้านทองกับผู้ผลิตจิวเวลรี่ส่งออก แต่ในช่วงหลัง ประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา YLG หันมาขยายสู่ธุรกิจโบรกเกอร์ เริ่มนำเข้าและจำหน่ายทองคําแท่ง คือ YLG Bullion International Co.,ltd. ให้กับร้านทอง ตอนหลังยังขยายสู่ตลาด TFEX Gold Futures ในฐานะหนึ่งในผู้ประกอบการที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เชิญชวนให้เข้าร่วม ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือที่เรียกว่าตลาด TFEX (Thailand Futures Exchange)
“ตอนนั้นตลาดหลักทรัพย์เริ่มเปิดตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX แล้วอยากนำโกลด์ฟิวเจอร์สเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งเราเป็นหนึ่งใน 5 ร้านทองที่ทางตลาดหลักทรัพย์เชิญเข้าไปเป็นมาร์เก็ตเมกเกอร์และเป็นสมาชิก ที่ได้รับเชิญเข้าในตลาด เราจึงเริ่มเข้าไปสู่ตลาดการขายทองคำล่วงหน้า” เธอเปิดเผยต่อว่า
“ตอนหลังเราได้ Full License การลงทุนในตลาด CME ซึ่งเป็นตลาดการซื้อขายสินค้าอนุพันธ์รายใหญ่ที่สุดระดับโลก ที่มีความหลากหลายทั้งขนาดของสัญญา มีผลิตภัณฑ์การลงทุน (ทองคำ COMEX, น้ำมัน NYMEX, ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P500, Dow Jones, Nasdaq และสินค้า FX) เป็นช่องทางให้นักลงทุนชาวไทย ทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่กำลังมองหาช่องทางในการลงทุน”
“หลังจากนั้นอีกไม่นาน ทางรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ส่งทีมบินมาเชิญผู้ประกอบการแต่ละประเทศในภูมิภาคเพื่อเป็น Gold Trader ในสิงคโปร์ ซึ่งในประเทศไทยเอง ทาง YLG Bullion เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับโอกาสดังกล่าว” เธอเล่าถึงไมล์สโตนที่ผ่านมาของ YLG และจากการเชิญชวนครั้งนั้น ทางรัฐบาลสิงคโปร์จะมีสิทธิพิเศษให้มากมาย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ให้ YLG ได้เริ่มกับการเปิดตลาดนอกประเทศอย่างเต็มตัว นั่นคือประเทศสิงคโปร์
“เราเริ่มมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งวันนี้ เรายังเป็นหนึ่งในกรรมการของ Singapore Bullion Market Association (SBMA) ถือว่าเป็นหนึ่งใน Player หลักของสิงคโปร์ และเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมายังได้มีโอกาสไปเปิดตลาดสำคัญ นั่นคือตะวันออกกลาง ที่ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” คุณมลเผย
“ผลตอบรับถือว่าค่อนข้างดี แต่ว่าก็มองยังเป็นช่วงเพิ่งเริ่ม ซึ่งครั้งนี้เราได้มีโอกาสร่วมกับรัฐบาลดูไบด้วยเหมือนกัน ซึ่งกลุ่มลูกค้าจะเป็นคนละกลุ่มกับทางสิงคโปร์ เนื่องจาก YLG Bullion เราโฟกัสเฉพาะในเมืองไทย ส่วน YLG สิงคโปร์เราขายให้กับลูกค้าผู้ประกอบการจากทุกประเทศในอาเซียน ที่ไม่ใช่เมืองไทย และสำหรับที่ดูไบกลุ่มลูกค้าจะเป็นตะวันออกกลาง แต่หลัก ๆ คือเป็นร้านทองรายใหญ่ทั้งหมด แต่จะเป็นแต่ละประเทศในโซนตะวันออกกลาง รวมถึงยุโรป”
“ก้าว” ก่อนหนึ่งก้าวเสมอ
คุณมลฉายภาพ YLG ในยุคแรกเริ่มว่า ขณะที่การซื้อขายทองคําในยุคนั้น ร้านต่าง ๆ ยังเป็นลักษณะของการเดินทางมาซื้อทองที่ร้านค้าด้วยตัวเอง หรือหากเป็นลูกค้ารายประจำอาจมีการยกหูโทรหาร้านค้าเพื่อซื้อขาย
ซึ่งในเวลานั้นเอง YLG หรือในชื่อเดิมคือ บริษัทยูหลิมโกลด์ แฟคตอรี่ จำกัด กลับเป็นรายแรก ๆ ที่เลือกจะเพิ่มบริการเชิงรุก ด้วยการเสนอซื้อขายทองคำแก่ลูกค้าผ่านโทรศัพท์ ที่ถือว่าสะดวกสบายที่สุดในยุคนั้น ด้วยว่าลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปซื้อทองคำที่ร้านเอง แต่สามารถยกหูโทรศัพท์เข้ามาได้ ซึ่งผลตอบรับที่ดีทำให้มีลูกค้าของ YLG ซื้อขายผ่านช่องทางนี้ถึงกว่า 90%
“ต่อมาเราเริ่มพัฒนาระบบโปรแกรมซื้อขาย ด้วยระบบ Online Trading เข้ามา ซึ่งที่จริงแล้วเราเริ่มมาเกือบ 20 ปีแล้ว เรียกได้ว่าเป็นบริษัทแรก ๆ ที่บุกเบิกในยุคนั้นเช่นกัน”
จุดเด่นดังกล่าวเป็นข้อได้เปรียบ เพราะทำให้ YLG สามารถต่อยอดสู่โมเดลธุรกิจใหม่ คือ การเป็นตัวกลางในการซื้อขายทองคำในราคาทองคำโลกให้กับผู้บริโภคคนไทยได้
“ในอดีตเราจะขายให้เฉพาะกับที่เป็น B2B แต่ช่วงหลังยังเริ่มกระจายไปสู่กลุ่มลูกค้า B2C รวมถึงเริ่มมีการขายให้กับนักลงทุน และค้าปลีกเพิ่มขึ้น ซึ่งการขยายกลุ่มลูกค้า ยังเป็นการพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านนวัตกรรมของการให้บริการ หรือการสรรหาผลิตภัณฑ์และโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ”
นอกเหนือจากนั้น YLG ยังเป็นรายแรกที่นำทองคำ 99.99% ที่เป็นมาตรฐานโลกเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบว่า ในการซื้อทองคำนั้น ถึงจะเป็นทองคำ 99.99% เหมือนกัน แต่ก็มีมาตรฐานต่างกัน
“ทองคำเราจะมีมาตรฐานระดับโลก ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมทองคำแห่งลอนดอน (London Bullion Market Association : LBMA) ซึ่งเป็น World Standard ที่ทั่วโลกมีอยู่เพียง 30 กว่าโรงงานเท่านั้น ในแง่ของผู้ผลิตเขาสบายใจได้ว่า มาซื้อทองที่นี่ได้กลับไป 99.99% แน่นอน ซึ่งเรามองว่า การมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ยังแสดงให้เห็นว่า ทองคำที่ลูกค้าซื้อไปทุกแท่งจะมีมาตรฐานเดียวกัน ทำให้ลูกค้าเรา ซึ่งส่วนใหญ่คือผู้ประกอบการ ผู้ผลิตจิวเวลรี่ส่งออกรายสำคัญ เขามั่นใจได้ว่า ทองคำที่ซื้อไปมีความบริสุทธิ์อยู่จริง ๆ ตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นสีที่ไม่เปลี่ยนและเท่ากันทุกแท่ง หรือความอ่อนแข็งของทองคำ”
ผสานสองเจนฯ ยกระดับ “ก้าวกระโดด”
การเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจทองคำของครอบครัว ของเจนเนอเรชันใหม่นั้น คุณมลมองว่าเป็นความได้เปรียบ เพราะถือเป็นการผสมผสานจุดเด่น ระหว่างประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านทองคำของครอบครัวที่เป็นทุนซึ่งมีมาแต่เดิม ผนวกรวมกับความคิดสร้างสรรค์และความเข้าใจเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคีย์ซักเซสที่ทำให้ YLG Group สามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งได้ในยุคดิจิทัล
คุณมลเล่าว่า หลังจบการศึกษาเธอเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนธุรกิจของครอบครัวตั้งแต่กว่า 20 ปีที่แล้ว ผลพวงจากการคลุกคลีกับธุรกิจครอบครัวอย่างยาวนาน สั่งสมประสบการณ์ทำงานในธุรกิจนี้ จึงทำให้มีความเข้าใจในภาพรวมทั้งธุรกิจของตัวเองและอุตสาหกรรมทองคำในประเทศ ซึ่งสำหรับเธอเอ่ยว่า “เป็นการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย ในแต่ละรุ่น”
นอกจากมีความโดดเด่นด้านการปรับตัวตามเทรนด์โลก YLG ยังเป็นองค์กรที่ให้ค่านิยมแบบธุรกิจยุคใหม่ นั่นคือการมองการณ์ไกลและการมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เข้ามาเสริมความพึงพอใจลูกค้าอย่างไม่หยุดยั้ง จึงทำให้ YLG ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าอยู่เสมอ
คุณมลเอ่ยเคล็ดลับสำคัญในการเฟ้นหาไอเดียใหม่ ๆ ได้ต่อเนื่อง นั่นคือการศึกษาต้นแบบกลยุทธ์ การทำธุรกิจของธุรกิจอื่น ๆ หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งเสมือนการสกัดเอาบทเรียนความสำเร็จแบบ Short Cut ทำให้ไอเดียหรือแนวคิดสดใหม่เสมอ โดยที่ไม่ต้องมาเริ่มต้นจากศูนย์ ทั้งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา
“เราจะลองดูโมเดลจากทั้งในธุรกิจเดียวกัน หรือไม่ก็โมเดลธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไปเลย ว่าเขาทำอย่างไรบ้าง เช่น ธนาคารทําอย่างไร ธุรกิจโรงแรมทําอย่างไร อันไหนที่เราสามารถเอามาใช้กับธุรกิจเราได้ก็ค่อยเอามาปรับ แล้วก็ลองดูจากฟีดแบ็กลูกค้า ซึ่งถ้าทำแบบนี้ลูกค้าไม่ชอบ เราก็ค่อยกลับไปใช้แบบเก่าได้”
แต่สำหรับการทำตลาดในต่างประเทศ เธอยอมรับว่า การเป็นรายใหม่ทำให้ต้องทําการบ้านในเรื่องการทำตลาดมากขึ้น เพราะแต่ละตลาดก็จะมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน มีธรรมเนียมหรือวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกัน
“การทำตลาดในประเทศและต่างประเทศมีความแตกต่างกันสิ้นเชิง แน่นอนว่าแต่ละที่ที่เราไป เราก็อยากจะเป็นผู้เล่นที่เป็นรายใหญ่ แต่การจะไปถึงตรงนั้นได้ สิ่งสำคัญคือลูกค้า เราจะต้องดูว่าลูกค้าอยากได้ ซึ่งเราจะใช้บิสิเนสโมเดลในเมืองไทยไปทําเริ่มธุรกิจในสิงคโปร์หรือดูไบไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศมีบิสิเนสโมเดล ในการทํางานที่แตกต่างกัน กลุ่มลูกค้าก็คนละกลุ่มกัน” คุณมลกล่าว
“ปรับ” เพื่อทันความต้องการของผู้บริโภค
ในฐานะคนรุ่นใหม่ คุณมลเห็นด้วยว่า การปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคนี้
“ถ้าพูดถึงเรื่องการซื้อขายทุกอย่างตอนนี้แทบจะเป็นออนไลน์ทั้งหมด จะเห็นว่าจริง ๆ แล้ว ผู้บริโภคเองก็มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 20 กว่าปี”
คุณมลให้มุมมองเพิ่มเติมว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะอุตสาหกรรมทองคํา หากแต่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทสําคัญ และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกอุตสาหกรรม ทำให้ไม่อาจนิ่งนอนใจและต้องลุกขึ้นมา “ปรับตัว” อย่างต่อเนื่อง
“ถ้าเราไปดูในฝั่งของธนาคารเองก็เปลี่ยนเหมือนกัน จากลักษณะที่เป็นการใช้บริการผ่านสาขาเริ่มมาเป็นออนไลน์มากขึ้น หรือแม้กระทั่งร้านอาหาร ทุกอย่างก็เริ่มเข้าสู่ช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะ 5-6 ปีที่ผ่านมา หรือหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง”
ปัจจุบันแม้ว่าการพัฒนาโดยหลัก ๆ จะยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาการบริการหรือการขยายช่องทางออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้นวัตกรรมการบริการในธุรกิจทองคำมีวิวัฒนาการด้านการบริการต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาไปสู่แอปพลิเคชันซื้อขายทองคำสำหรับลูกค้า ผู้ประกอบการ และลูกค้ารายย่อย
การปรับดังกล่าว ยังเกิดขึ้นแม้กระทั่งรูปแบบของตัวผลิตภัณฑ์ทองคํา ที่ในอดีตเราได้เห็นเพียงรูปแบบเดิม ๆ แต่ปัจจุบันเริ่มมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปลักษณ์ทันสมัย โดนใจผู้บริโภคมากขึ้น
รวมถึงเรื่องของ “ขนาด” ทองคำ ที่วางจำหน่าย เพราะใครเลยจะคิดว่า วันนี้เราจะสามารถซื้อทองคำในขนาด “1 กรัม” ได้
จากที่ผ่านมาเมื่อเราจะซื้อทองคำ เราอาจต้องเก็บเงินก้อนจำนวนไม่น้อยเอาไว้ซื้อทองคำ ที่มักขายน้ำหนักต่ำสุด คือ 1 บาท 50 สตางค์ หรือ 25 สตางค์ ซึ่งโดยเฉลี่ยทองคำ 1 บาท ในทองคำแท่ง น้ำหนักจะอยู่ที่ 15.24 กรัม
แต่ปัจจุบัน YLG ยังได้พัฒนาทองคำแท่งให้มีขนาดเล็กลง ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 1 กรัม 2 กรัม 5 กรัม 10 กรัม 20 กรัม 50 กรัม 100 กรัม และ 1 กิโลกรัม เพื่อให้ผู้บริโภครายย่อยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงทองคำที่นับวันราคากำลังพุ่งสูงมากขึ้น ซึ่งทำให้นักลงทุนหรือลูกค้ารายย่อยที่ต้องการซื้อทองเพื่อการเก็บสะสม สามารถใช้เงินลงทุนแค่ 1,000-2,000 บาท ก็สามารถซื้อหากลับไปเก็บที่บ้านได้
โฟกัสที่กลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้น
พฤติกรรมของของผู้บริโภคเปลี่ยนไปในปัจจุบัน ซึ่งเน้นการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้มองว่าการซื้อขายทองเองก็สามารถที่จะทำผ่านช่องทางนี้ได้เช่นเดียวกัน
“อย่างปีที่ผ่านมา เราได้เห็นลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งทองคําแท่งหรือฝั่งโกลด์ฟิวเจอร์เป็นกลุ่มออนไลน์เกือบทั้งนั้น” คุณมลเล่าถึงอินไซต์ที่เกิดขึ้น
“พอเราเห็นว่าพฤติกรรมเขาเปลี่ยน เราก็จะพยายามปรับ Product ให้เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกขึ้น ซึ่งเหมาะกับผู้บริโภครุ่นใหม่และลูกค้ากลุ่มที่ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ อยู่ต่างจังหวัด เรามองว่าพอเป็นการซื้อขายผ่านออนไลน์ ค่อนข้างจะช่วยให้นักลงทุนมีความสะดวกมากขึ้น”
หลังจากการเปิดช่องทางออนไลน์ไปแล้วสักปีกว่า ก็เริ่มมีพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งนอกจากการทำร่วมกับแอปพลิเคชันเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย ตอนหลัง YLG ยังได้ก่อตั้งบริษัทเพื่อสรรหาพันธมิตรเพื่อเสริมบริการใหม่ ๆ โดยเฉพาะ
ซึ่งนำมาสู่ความหลากหลายในการบริการที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน เช่นการให้บริการซื้อขายทองคำด้วยสกุลเงินยูเอสดอลลาร์ ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังโดยที่ลูกค้าสามารถกดรับทองที่ YLG หรือจะกดขายต่อได้เลย รับเงินผ่านบัญชีกรุงไทยที่ผูกไว้ และยังมีการร่วมเป็นพันธมิตรกับ Dime! Application
“แอปพลิเคชันของ Dime! จะเป็นฐานลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ไซส์เล็กลงมา คือลูกค้าสามารถเริ่มต้นซื้อทองได้ตั้งแต่ 100 – 200 บาท เน้นเป็นกลุ่มที่เป็นวัยทํางานหรือนักเรียนที่เพิ่งจบใหม่ แต่ว่าอยากจะลงทุน”
และจากการเริ่มมาเจาะช่องทางนี้ ทำให้ YLG เลยต้องปรับ Product ให้มีไซส์ในการรับทองเล็กลงไปอีก จากในตอนเเรกที่มีขนาด 10 บาททอง ลดลงมาเหลือไซส์เล็ก ๆ ขนาด 1 กรัม ก็สามารถซื้อทองเเละส่งคำสั่งถอนทองได้ มาพร้อมแพคเกจจิ้งที่สามารถส่งมอบเป็นของขวัญสุดพิเศษให้คนที่รักได้ ในเเอปพลิเคชัน GET GOLD by YLG พร้อมระบบจัดส่งทางไปรษณีย์ เเละตรวจสอบข้อมูลที่อยู่สินค้าได้เรียลไทม์
“แต่วันนี้ จากสถานการณ์ทองบาทหนึ่งคือพุ่งไป 40,000 กว่าบาทแล้ว เราเข้าใจว่าผู้บริโภคอาจมีความยากลำบากในการเก็บเงิน เราเลยยิ่งทําให้มันเล็กลงไปอีก ตอนนี้ YLG เลยมีทองจำหน่ายอยู่ในขนาดประมาณสักหนึ่งกรัม ก็ตกประมาณ 2,000 กว่าบาท ลูกค้าสามารถซื้อแล้วรับกลับไปเก็บ โดยเรามีแอปพลิเคชันของเราเองคือ Get Gold by YLG สามารถซื้อขายทองเริ่มต้นด้วยเงินเพียง 100 บาท ซึ่งตอนนี้เรายังพัฒนาให้การรับทองสะดวกง่ายยิ่งขึ้น นั่นคือพอลูกค้ากดซื้อกดขายเสร็จ สามารถเลือกลายและรับทองได้ที่บ้านเลย เพราะสามารถส่งให้ทางไปรษณีย์ไทย โดยจะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปคอนเฟิร์ม พร้อมการประกัน อีกทั้งลูกค้าสามารถเช็กสถานะสินค้าที่ส่งไปได้ตลอดว่าอยู่ตรงจุดไหน” คุณมลกล่าว
ความสะดวกของผู้บริโภคต้องมาก่อน
อีกหนึ่งปัจจัยที่ทําให้ตลาดทองคําในเมืองไทยเติบโตและขยายตัวขึ้นมากมายจากอดีต คุณมลวิเคราะห์ว่า เกิดจากการที่ผู้บริโภคปัจจุบันมี “ข้อมูล” ตลอดจนมี “ความรู้ความเข้าใจ” เกี่ยวกับการลงทุนทองคำที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคและนักลงทุน
“มองเป็นเรื่องของการได้รับ Educate เป็นโลกยุคที่ความรู้เข้าถึงง่ายขึ้น จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้ เราได้รับข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องทองคําผ่านทั้งทางสื่อ ทางออนไลน์ ซึ่งแตกต่างอย่างมากกับเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ซึ่งเราจะได้ทราบแค่ประกาศว่า วันนี้ทองราคาเท่าไหร่ แต่วันนี้ผู้บริโภคเข้าใจมากขึ้นว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ทองราคาขึ้นหรือลง เช่น การที่ทรัมป์รับตําแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ปัญหาความขัดแย้งของรัสเซียและยูเครน สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้เขาเข้าใจได้ว่ามีผลต่อราคาทองคำทั้งสิ้น คือเดี๋ยวนี้โลกมันใกล้กันมาก เกิดอะไรขึ้นฝั่งหนึ่ง อีกหนึ่งนาทีอีกฝั่งโลกหนึ่งก็รู้ข่าวแล้ว ทำให้นักลงทุนที่สนใจเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น การเข้ามาลงทุนทองคําจึงเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นสําหรับเขา”
ต่อคำถามที่ว่าในยุคปัจจุบันนี้ ทองคำนั้นยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนเหมือนที่ผ่านมาอีกหรือไม่ เธอเฉลยด้วยข้อมูลด้านล่างนี้
“ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งสมาพันธ์ทองคําโลกบอกเสมอว่า สัดส่วนที่ดีของพอร์ตที่เหมาะสมนั้น ใน 100% ของการลงทุน ควรจะมีทองคําเป็นสัดส่วนสัก 10% ไม่ว่าทองคำจริงหรือเป็นโกลด์ฟิวเจอร์ก็ได้ เพื่อกระจายความเสี่ยง หรือใน 10% คุณจะลงทุนเป็นทองหรือเป็นเงิน (Silver) ก็ได้ แต่ด้วยความที่ในบ้านเราการลงทุนในแร่เงินมันจะมีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ทองคำจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า ทั้งมีความสะดวกกว่าในหลายประการ อีกทั้งเข้าถึงและซื้อหาง่ายกว่า”
ซึ่งสำหรับประเทศในเอเชียแล้ว ไม่ว่าผ่านไปกี่ยุคสมัย ทองคําเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงในภูมิภาคนี้ และไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทย
“ถือว่าเป็นอะไรที่อยู่คู่กันมานาน อย่างเมืองไทยเราได้รับการปลูกฝังมาหลายรุ่นว่า หากมีเงินให้ซื้อทองคํา ซื้อที่ดิน ซึ่งในฝั่งเอเชียจะเป็นแบบนี้ทั้งหมด จะต่างกันกับในฝั่งของทางตะวันตก”
แต่สิ่งที่เธอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ จากแนวโน้มในช่วงหลัง ยังสะท้อนสัญญาณให้เห็นว่า ทองคำบริสุทธิ์เองกำลังเริ่มได้รับความนิยมในโซนประเทศตะวันตกมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
“เราจะเห็นข่าวในฝั่งสหรัฐฯ เองคนก็เข้าซื้อทองเยอะขึ้น ตอนหลังในสหรัฐอเมริกาที่เป็นเหรียญมีการกระจายขายอยู่ใน Costco แล้ว ซึ่งถ้าจําได้ ปีที่แล้วมีข่าวว่าทองคําที่เป็นเหรียญขนาดเล็กจำหน่ายหมดทุกสาขา เนื่องจากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนมีความวิตกและมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์โลก ทั้งโควิด-19 รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ดี เลยมองหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ทองคําเลยเป็นหนึ่งใน Asset ที่น่าสนใจ ด้วยความที่เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องได้”
โอกาสของทองคำปี 2568
ในเวลาที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติ ทองคํายังคงเป็น Asset ที่ควรถือไว้ และความต้องการดังกล่าวทำให้ปีที่แล้ว ตัวเลข Demand ในช่วงปีที่แล้วสูงขึ้นประมาณ 5% จากทั่วโลก คุณมลให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า
“โดยส่วนตัวเชื่อว่าตลาดทองมีวัฏจักรเหมือนกับตลาดหุ้น คือมีทั้งขึ้นและลง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าเศรษฐกิจขาลง หลายคนอาจเลือกขายสินทรัพย์ต่าง ๆ แล้ว โยกมาพักไว้ที่ทองคํา แต่ถ้าเมื่อไหร่สินทรัพย์ตัวไหนให้ผลตอบแทนได้ดีกว่า ก็จะเลือกขายทองไปลงในสินทรัพย์อื่น ข้อดีของทองคําจะเหมือนหุ้นพื้นฐานดี คือเรารู้แน่นอนว่ามันมีขึ้นลง คือจะขึ้นหรือลงอย่างเดียวมันไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ว่าจะลงมาอย่างไร”
“สำหรับปีนี้เชื่อว่า หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เราอาจเห็นได้นโยบายใหม่ ๆ ที่คาดไม่ถึงจากทรัมป์ จึงคาดว่าเราน่าจะได้เห็นการขึ้นและการเหวี่ยงของราคาทองคําในปีนี้ เพราะหลายคนมองว่าทรัมป์เอาแน่เอานอนไม่ได้ เขามักจะมีแนวคิดใหม่ ๆ ออกมา ทำให้เชื่อว่าทองคำอาจยังไปได้ต่อ แต่เราอาจจะได้เห็นอาการแบบดิ่งขึ้นดิ่งลงตลอดทั้งปี แต่ปีนี้ไม่น่าจะลงแรง คือถ้าลงมา อาจจะเห็นสัก 30,000 กลาง ๆ ด้านบนเรามองว่าน่าจะใกล้ 50,000 ขึ้นอยู่กับว่าเงินบาทอ่อนค่าแค่ไหน”
ปรับเพื่อความอยู่รอด ต้องตอบโจทย์ลูกค้า
ท่ามกลางยุคเศรษฐกิจขาลง เป็นยุคที่ผู้ประกอบการร้านทองได้รับผลกระทบไม่น้อย ทั้งจากปัจจัย ค่าเงินบาทแข็งและเศรษฐกิจชะลอตัว รวมถึงจากสถานการณ์ราคาทองคำที่ขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และมีแต่แรงเทขายมากกว่ากำลังซื้อ ถือเป็นอีกช่วงเวลาท้าทายของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย คุณมลให้ความเห็นว่า
“โดยส่วนตัวมองว่าเป็นการปรับตัวมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่หรือรายเล็ก ซึ่งในความเป็นจริงเชื่อว่าทุกธุรกิจต้องปรับตัวหมด ขึ้นอยู่กับว่าเทรนด์ในช่วงนั้นผู้บริโภคไปในทิศทางไหน เราก็ต้องปรับตัวตาม เพราะถ้าไม่ปรับอย่างไรก็ยาก แต่การปรับตัวของผู้ประกอบการอาจต้องเร็วขึ้น เพราะปัจจุบันโลกการสื่อสารที่รวดเร็วทำให้คนเรามีความอดทนน้อยลง เราชินกับการได้อะไรเร็ว ๆ ผู้บริโภคต้องการอะไรที่เร็วขึ้นสะดวกขึ้นและมีทางเลือกมากขึ้น ดังนั้นในแง่ของผู้ประกอบการทุกธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้สอดรับกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ”
เธอเสริมต่อว่า อย่าง YLG ที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นการปรับโดยมีพื้นฐานจาก Pain Point ของลูกค้า และการนำเทรนด์โลกที่มองเห็นว่าน่าสนใจมาผสมผสานกัน
“คือหากเราเล็งเห็นว่าสิ่งไหนน่าจะดีหรือเป็นสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ เราก็จะนำมาปรับใช้ แต่ไม่ได้มีสูตรตายตัวว่าต้องเป็นแบบไหน เพราะว่าเราจะค่อย ๆ ปรับ หากเหมาะสมแล้วก็ใช้ต่อ ถ้าแบบไหนไม่เหมาะเราก็เปลี่ยน และหนึ่งในกลยุทธ์ ที่ YLG พยายามที่จะปรับปรุงพัฒนามาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ แผนเชิงรุกสู่ช่องทางออนไลน์ เราปรับมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะมีวิกฤตหรือไม่ก็ตาม ซึ่งถือว่าเรามาได้ถูกทาง รวมถึงการปรับ Mindset ใหม่กับการเป็นผู้ประกอบการค้าทองคำคนไทยที่กล้าจะออกจาก Safe Zone ด้วยการขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งถือป็นอีกหนึ่งโอกาสหรือช่องทาง การที่เราได้ไปเปิด YLG สาขาประเทศสิงคโปร์ และตอนนี้เราขยายไปถึง YLG ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งมองว่าถ้าเราไม่ได้เริ่มในวันนั้น ก็คงไม่ได้มีวันนี้”
แผนบุกปีงูทอง
เมื่อถามถึงเป้าหมายและแผนการทำตลาด YLG ในเมืองไทย สำหรับปี 2568 นี้ คุณมลยืนยันว่า ยังคงเป็นเรื่องของการหาพันธมิตรเพิ่ม เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ และการสร้างการเข้าถึง
“ปีนี้น่าจะเป็นการขยายช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงการซื้อขายได้มากขึ้น ตอนนี้ที่เราทํากับแอปพลิเคชัน Dime! แล้ว และเรายังมีพันธมิตรอีก 2-3 รายที่กำลังพูดคุยอยู่ด้วย นอกเหนือจากนี้ก็น่าจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้ามากขึ้น”
ปีที่แล้ว YLG ยังมีความร่วมมือกับ TradingView ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้นักลงทุนสามารถซื้อขายสินค้าอนุพันธ์ตลาดต่างประเทศ (CME Group) ผ่านแพลตฟอร์มของ TradingView อีกด้วย
“เราพยายามปรับเพิ่ม Product เข้ามา และเพิ่มนวัตกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการเพิ่มแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่หลากหลายสำหรับกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มใหม่สําหรับเรา ซึ่งที่ผ่านมาเราเองมีประสบการณ์ทําแต่กับร้านทองและลูกค้าธุรกิจ พอมาทํารายย่อย เราจึงร่วมกับพันธมิตรเพิ่มขึ้น เหมือนที่จับมือกับกรุงไทยและ Dime! ซึ่งก็ถือว่าเราได้ฐานลูกค้าใหม่ ๆ หรือจากการที่เราขยายไปตลาดต่างประเทศ ก็ทำให้เราได้กลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่ม”
ขณะที่เรื่องการสร้าง Branding คุณมลยอมรับว่ามีความสำคัญจริงสำหรับการทำธุรกิจ แต่การปั้นแบรนด์ในสไตล์ YLG นั้น ขอเลือกที่จะมุ่งเน้นการนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีที่สุดเป็นหลัก จนสามารถสร้าง Words of Mouth ในกลุ่มลูกค้า ซึ่งเธอเชื่อว่าเป็นกลยุทธ์ที่ยั่งยืนกว่า
“เราคงไม่ใช่ธุรกิจที่ทุ่มการโหมกระหน่ำโปรโมทแบรนด์ แต่เราพยายามทำให้ดี ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพราะธุรกิจนี้สิ่งสำคัญคือ ลูกค้าต้องมีความเชื่อมั่น ดังนั้นคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเป็นสิ่งสําคัญ”
ซึ่งอีกหนึ่งแรงหนุนสำคัญ คือการคัดสรร “มืออาชีพ” ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญ และความสามารถในแต่ละด้านเข้ามาเสริมทัพ
“พอเราขยายมากขึ้น เราก็มีทีมงานที่เรียกว่าเป็นมืออาชีพเข้ามาอยู่ในแต่ละจุด ก็จะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาเพิ่ม แต่ที่นี่เรามีทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า เพราะมองว่าคนรุ่นใหม่มีความเก่งในด้านหนึ่ง เช่นเขามีความเก่งด้านการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ แต่เราเองก็ยังฟังคำแนะนำจากคนรุ่นเก่า เพราะมองว่าเขาอาบน้ำร้อนมาก่อน และมีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญและมุมมองที่คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเทียบเท่าได้”
ท้ายสุดเธอเอ่ยว่า YLG ยังคงมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำด้านการลงทุนทองคำในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน โดยมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนั่นเอง
เขียนและเรียบเรียง : Nutty
ติดตาม Business+ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/
Youtube : https://www.youtube.com/@thebusinessplus7829
#TheBusinessPlus #Businessplus #BusinessPlus #นิตยสารBusinessplus #Business