อิ๊กดราซิล

Yggdrazil กับ MileStone ที่แข็งแกร่ง

Yggdrazil  ตัวอย่างความสำเร็จที่นับเป็นก้าวย่างที่น่าสนใจอย่างยิ่งของวงการ Digital Content กับการเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่กว่าจะมาถึง MileStone นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับธุรกิจเกิดใหม่ที่เริ่มต้นจากเจ้าของ 2 คนและพนักงานอีก 3 คน

Yggdrazil (อิ๊กดราซิล)คือ studio เล็ก ๆ ที่ก่อตั้งโดย ธนัช จุวิวัฒน์ และ ศรุต ทับลอย เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เพื่อทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับComputer Generated Imagery (CGI) โดยเริ่มจากรับงานตัดต่อโฆษณา ซึ่งในยุคนั้นงาน CGI เป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดโฆษณา ในขณะที่คนทำ CGI ในประเทศไทยหันไปรับงานต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

 

ดังนั้น นอกจากการรับงานเพื่อสร้างโปรไฟล์แล้ว โจทย์ท้าทายที่ 2 ผู้บริหารต้องขบคิดต่อคือ ทำยังไงถึงจะอัปสเกลเพื่อไปรับงานใหญ่ในต่างประเทศได้ นั่นคือการสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ในวงการจนผู้ว่าจ้างต้องบอกต่อกัน โดยงานทุกชิ้นของ อิ๊กดราซิลจะต้อง beyond และเหนือกว่าความคาดหมายของลูกค้า ด้วยวิธีการทำงานภายใต้แนวคิดดังกล่าว ทำให้ในเวลาเพียง 2 ปี อิ๊กดราซิล สามารถขยับขยายธุรกิจได้ทั้งในแง่ของบิสิเนสและกำลังคน

อิ๊กดราซิล

“หลังจาก Visual Effect โฆษณาหลาย ๆ ตัวที่เราทำเริ่มออนแอร์ เราเริ่มมีการขยายตัวมาทำในเรื่องของ Animation ซึ่งต้องใช้คนจำนวนมาก แต่เราก็มองเห็นว่ามันมีโอกาสโตเยอะมากในตลาดโลก เราจึงโฟกัสไปที่ตลาดต่างประเทศมากกว่าตลาดประเทศไทย ที่ตอนนั้น Animation ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็ก

 

ทำให้เราต้องเพิ่มคนขึ้นมาเป็น 100-150 นอกจากนั้น เราเริ่มที่จะเข้าตลาดเกม ก็ต้องมีการขยายทีมเพิ่ม ทำให้ตอนนี้ในบริษัทมีพนักงานประมาณ 200 คน แบ่งเป็น Visual effect 60 คน Animation 70 คน และ Game 30 คน ที่เหลือเป็น Center” ธนัช จุวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด กล่าว

อิ๊กดราซิล
ธุรกิจของ อิ๊กดราซิล แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ รับจ้างผลิตและผลิตโปรดักต์ของตัวเอง โดย 2 ผู้บริหารหนุ่มมองว่า การรับจ้างผลิตโดยเฉพาะลูกค้าต่างประเทศ นอกจากโอกาสทางธุรกิจแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือ Know how ของประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี โปรเซสในการทำงาน ข้อบังคับ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้

ในปัจุบันสัดส่วนรายได้ 90% ของ อิ๊กดราซิล มาจากการรับจ้างผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และสหรัฐฯ อีก 10% มาจากโปรดักต์ของบริษัทเอง

และผลงานชิ้นโบว์แดงที่ อิ๊กดราซิล พัฒนาขึ้นมาเองและประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำให้ชื่อของ อิ๊กดราซิล ยิ่งเป็นที่รู้จักและหลายคนให้การยอมรับในฝีมือคือ “โฮม สวีท โฮม” (Home Sweet Home)” เกมสามมิติผีสยองสายพันธุ์ไทย ที่สร้างขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว และถูกพูดถึงเป็นอย่างมากเพราะความแปลกใหม่ อีกทั้งยังถูกแปลไปแล้วกว่า 8 ภาษา คือ ไทย ญี่ปุ่น จีน สเปน โปรตุเกส ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย

โฮม สวีท โฮม

ด้วยลูกค้าและงานส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ทำให้ 2 หนุ่มมองเห็นโอกาสของตลาด บวกกับอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลกกำลังมุ่งเข้าสู่บิสิเนสที่เป็น Animation มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฮอลลิวูด หรือเน็ตฟลิกซ์ (Netfilx) ที่หลัง ๆ มาเริ่มมีภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่เป็น Visual Effect มากขึ้น ทำให้ขาดแรงงานด้าน CGI จำนวนมาก

ในขณะที่อุตสาหกรรมเกมเริ่มมีการพัฒนาเกมใหม่ ๆ ขึ้นมาตามการเติบโตของตลาดอีสปอร์ตโลก จุดนี้เองที่ทำให้ 2 หัวเรือใหญ่แห่ง อิ๊กดราซิล ต้องการปักธงในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่การรับจ้างผลิตเหมือนเช่นเคย แต่ต้องการตั้งสาขาในต่างประเทศเลยทีเดียว

แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น อิ๊กดราซิล จำเป็นต้องมีความพร้อมทั้งกำลังคน ศักยภาพในการรับงาน และที่สำคัญคือ เงินทุน และเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย 2 หนุ่มตัดสินใจดัน อิ๊กดราซิล เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุน

โฮม สวีท โฮม

ธนัชเปิดเผยต่อว่า “เราเคยเป็น small (s) แล้วเริ่มขยับขยายมาขึ้นเป็น medium ซึ่งผมมองว่า medium เป็นจุดที่อยู่ยาก เราต้องใหญ่เท่านั้น ทีนี้ถ้าเราจะหลุดจากการเป็นธุรกิจขนาดเล็ก นอกจากโอกาส สิ่งสำคัญก็คือ เงินทุน ถ้าต้องการเงินทุนก็ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง process ของตลาดหลักทรัพย์เข้มข้นมาก มีการคัดกรองตามกฎเกณฑ์ งานหลังบ้านจะเยอะมาก

แต่ข้อดีคือทำให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วบริษัทใหญ่ ๆ ที่อยู่ในตลาด หรือบริษัทที่มีมูลค่าพันล้านหรือแสนล้าน เขามีระบบ Security ยังไงบ้าง ซึ่งทำให้เราเรียนรู้ที่จะโต และเรียนรู้ที่จะป้องกันส่วนของความเสี่ยงต่าง ๆ ตอนแรกเราคาดว่าใช้เวลาประมาณ 2 ปีก็น่าจะทำได้ แต่กลายเป็นว่าเราใช้เวลาถึงวันนี้ประมาณ 5 ปีในการเข้าตลาดหลักทรัพย์”

โฮม สวีท โฮม

ทั้งนี้ อิ๊กดราซิล มีทุนจดทะเบียนประมาณ 70 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 90 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในช่วงพิจารณาตรวจสอบประมาณ 120 วันตามกฎของ Mai และคาดว่าจะสามารถเข้าเทรดได้ปลายปีนี้ โดยคาดหวังเม็ดเงินลงทุนหลังเข้าเทรดที่ราว ๆ 500 ล้านบาท

“ตอนนี้เราเห็นโอกาสงานในต่างประเทศเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราก็จะเอาทุนที่ได้จากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ ไปต่อยอดขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเริ่มจากแคนาดาและจีน เพราะผมมีความฝันว่าอยากมีโอกาสเอางานต่างประเทศเข้ามาให้คนไทยได้ทำ ซึ่งปัจุบันผมกำลังทำอยู่ และอีกฝันคือ ผมอยากเอาบริษัทไปปักธงต่างประเทศ เมื่อขยายสาขาได้ เราก็จะสามารถขยายฐานลูกค้าได้”

ส่วนขยาย

* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ 
** เขียน: กฤษฎาพร วงศ์ชัย  (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่