เรื่องราวกว่าจะมาเป็น ‘ยาคูลท์’ กับเหตุผลที่ต้องเป็นขวดขนาดเล็ก และที่มาของ ‘สาวยาคูลท์’ ที่ใคร ๆ ก็เรียกหา

หนึ่งในผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยวที่อยู่ในใจของใครหลาย ๆ คน คงหนีไม่พ้น ‘ยาคูลท์’ นมเปรี้ยวขวดเล็กจิ๋วที่มีจำหน่ายเพียงขนาดเดียวมาอย่างช้านาน และก็ดูเหมือนจะยังไม่มีทีท่าว่าจะมีการปรับเพิ่มขนาดให้มีความหลากหลายเหมือนอย่างแบรนด์อื่น และด้วยสิ่งนี้ที่นอกจากจะเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ ‘ยาคูลท์’ มีความโดดเด่นไม่เหมือนใครแล้ว ยังสร้างคำถามคาใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยเช่นกันว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ ‘ยาคูลท์’ ยังคงมีเพียงแค่ผลิตภัณฑ์เดียวและขนาดเดียวมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

และในวันนี้ Business+ ได้นำเรื่องราวของ ‘ยาคูลท์’ ที่กว่าจะมาเป็นนมเปรี้ยวขวดจิ๋วที่ครองใจผู้บริโภคมาอย่างยาวนานเกือบ 9 ทศวรรษ รวมถึงเหตุผลที่ว่าทำไมถึงมีจำหน่ายเพียงแค่ขนาดเดียวเท่านั้น และที่มาของ ‘สาวยาคูลท์’ ตัวแทนขายอันเป็นเอกลักษณ์ที่ใคร ๆ ก็เรียกหา

สำหรับจุดเริ่มต้นของ ‘ยาคูลท์’ นั้น มาจากการที่ผู้ก่อตั้งอย่าง ‘ดร.มิโนรุ ชิโรตะ’ เล็งเห็นว่าในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ผู้คนในประเทศญี่ปุ่นจำนวนมากป่วยด้วยโรคติดเชื้อ เช่น อหิวาตกโรค และโรคบิด เนื่องจากสุขอนามัยและโภชนาการที่ไม่ดีในเวลานั้น จึงนำมาซึ่งแรงผลักดันให้ ‘ดร.มิโนรุ’ ประกอบอาชีพด้านการแพทย์และเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเกียวโตอิมพีเรียล (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเกียวโต) ในปี ค.ศ. 1921 จากนั้นจึงได้หันมาให้ความสนใจเกี่ยวกับยาเพื่อการป้องกันโรค ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงมุมมองความคิดที่อยากจะหาวิธีป้องกันผู้คนจากโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าการรักษาหลังจากเจ็บป่วยแล้ว

ด้วยแนวคิดนี้ทำให้ ‘ดร.มิโนรุ’ เริ่มเข้าสู่การวิจัยจุลินทรีย์ และในที่สุดจากความอุตสาหะทำให้ ‘ดร.มิโนรุ’ พบว่าแบคทีเรียกรดแลคติคสามารถช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่เป็นอันตรายในลำไส้ได้ และต่อมาในปี ค.ศ. 1930 ‘ดร.มิโนรุ’ ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียกรดแลคติกที่แข็งแรงพอที่จะอยู่รอดในน้ำย่อยและน้ำดีที่มีประสิทธิภาพในระบบย่อยอาหารสามารถเข้าถึงลำไส้ได้อย่างมีชีวิตและก่อเป็นผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ โดยแบคทีเรียกรดแลคติกชนิดนี้ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Lactobacillus casei สายพันธุ์ Shirota

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนสุขภาพของผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ‘ดร.ชิโรตะ’ พร้อมด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงาน ได้ใช้แบคทีเรียกรดแลคติกนี้เพื่อผลิตเครื่องดื่มนมหมักที่มีราคาย่อมเยาและมีรสชาติอร่อย ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 1935 ‘ยาคูลท์’ ขวดแรกได้ถูกผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายอย่างเป็นทางการ

ส่วนเหตุผลที่ค้างคาใจใครหลาย ๆ คนว่าทำไม ‘ยาคูลท์’ ถึงยังมีจำหน่ายเพียงแค่ขนาดเดียว นั่นเป็นเพราะว่าในแต่ละขวดจะมี Lactobacillus casei สายพันธุ์ Shirota ที่ยังมีชีวิตอยู่มากถึง 30 ล้านตัว ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายและระบบขับถ่ายของมนุษย์ ซึ่งถ้าหากร่างกายได้รับจุลินทรีย์ดังกล่าวมากเกินไปอาจส่งต่อผลเสียต่อร่างกาย เช่น ท้องเสีย เป็นต้น

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ‘ยาคูลท์’ มีวางจำหน่ายเฉพาะขวดเล็กเนื่องจากขนาดที่เล็กลงช่วยควบคุมในเรื่องของสุขอนามัยได้ดีกว่าขวดที่มีขนาดใหญ่ในแง่ของการเปิดและปิด โดยหากเป็นขวดขนาดใหญ่ ผู้บริโภคอาจต้องแบ่งการบริโภคเป็นหลายครั้ง ซึ่งอาจทําให้ผลิตภัณฑ์เกิดเชื้อแบคทีเรียได้ ในขณะที่ขวดขนาดเล็กจะปิดผนึกไว้จนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องการดื่ม และด้วยขนาดเล็กที่เหมาะสมสำหรับการดื่มเพียงครั้งเดียว ทำให้ไม่ต้องเปิดปิดหลายครั้ง จึงทำให้ขวดขนาดเล็กสามารถควบคุมสุขอนามัยได้ดีกว่าขวดขนาดใหญ่นั่นเอง

นอกจากเรื่องขนาดของผลิตภัณฑ์แล้ว เชื่อว่าอีกคำถามที่หลาย ๆ คนสงสัย คงเป็นเรื่องของ ‘สาวยาคูลท์’ ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ‘ยาคูลท์’ อันเป็นเอกลักษณ์ ว่าทำไมถึงต้องเป็นผู้หญิงนั้น นั่นก็เป็นเพราะว่า ‘ยาคูลท์’ มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตามบ้านมักจะเป็นกลุ่มแม่บ้านมากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นการใช้ตัวแทนจำหน่ายที่เป็นผู้หญิงจะช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้หญิงด้วยกันได้ง่ายกว่า เนื่องจาก ‘ยาคูลท์’ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในเรื่องของการขับถ่าย ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องที่ผู้หญิงมักจะต้องประสบพบเจออยู่บ่อยครั้ง ได้แก่ อาการท้องผูก ซึ่งเป็นเรื่องที่คงไม่สะดวกใจนักหากจะพูดคุยปรึกษากับเพศตรงข้าม ซึ่ง ‘สาวยาคูลท์’ สามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

โดย ‘ยาคูลท์’ เริ่มใช้กลยุทธ์การขายสินค้าผ่าน ‘สาวยาคูลท์’ ครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1963 ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เสมือน ‘เพื่อนบ้าน’ ให้แก่ลูกค้าอีกด้วย โดยกิจกรรมที่สำคัญของ ‘สาวยาคูลท์’ คือการไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ ‘สาวยาคูลท์’ ที่อาศัยอยู่ในเมืองโคริยามะ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ทราบข่าวเศร้าว่ามีผู้เสียชีวิตเพียงลำพังโดยไม่มีใครสังเกตเห็น จึงเริ่มทำหน้าที่ในการจัดหาผลิตภัณฑ์ ‘ยาคูลท์’ ให้กับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง โดยออกค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งจากความคิดริเริ่มนี้ของเธอได้จุดประกายให้กับบริษัท ‘ยาคูลท์’ และนักสังคมสงเคราะห์ในภูมิภาค รวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น จึงทำให้กิจกรรมการมาเยี่ยมเยียนบ้านผู้สูงอายุของ ‘สาวยาคูลท์’ เกิดการแพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมี ‘สาวยาคูลท์’ จำนวนกว่า 3,000 คน ที่เดินทางไปเยี่ยมผู้สูงอายุมากกว่า 37,000 คน เป็นประจำ เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง

ปัจจุบัน ‘ยาคูลท์’ มีวางจำหน่ายใน 40 ประเทศทั่วโลก โดยนอกจากการวางจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกแล้ว ยังมีบริการจัดส่งถึงบ้านซึ่งให้บริการโดย ‘สาวยาคูลท์’ กว่า 80,000 คน ทั่วโลก และมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 45% ของยอดขายเครื่องดื่มโปรไบโอติก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าแม้เวลาจะล่วงเลยมาเกือบศตวรรษแต่ ‘ยาคูลท์’ ก็ยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่ครองใจผู้คนทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน

ที่มา : yakult

เขียนและเรียบเรียง : เพชรรัตน์ แสงมณี

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/

Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS

IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.thailand/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #ยาคูลท์ #yakult #สาวยาคูลท์ #ประวัติยาคูลท์