เปิดเส้นทาง Wongnai มุ่งสู่เป้าหมาย 1st Unicorn in Thailand

การที่ Wongnai ตั้งเป้าหมายในการเป็น Unicorn รายแรกในประเทศไทย สะกิดให้หลายคนหันมามอง Wongnai ให้ชัดขึ้น ว่าสตาร์ทอัพแห่งนี้มีของดีอะไรที่จะพาตัวเองก้าวไปสู่เป้าหมาย โดยสเตปที่เราได้เห็นล่าสุดก็คือการรวมพลังกับ LINE MAN ก็ทำให้ Wongnai เปิดเส้นทางใหม่ด้วยการเดินหน้าสู่การเป็น Food Platform อันดับหนึ่งด้วยการสร้าง End-to-end Food Ecosystem ที่แข็งแกร่งที่สุดของไทย ตั้งแต่ออนไลน์ไปถึงออฟไลน์ เพิ่มโอกาสมหาศาลจากการเป็นเพียงแพลตฟอร์มคอนเทนต์ Lifestyle ที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากประโยชน์ในการเลือกใช้บริการของผู้บริโภคยุคใหม่ซึ่งมีครบทุกมิติ

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน Wongnai เป็นเพียงสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดย คุณยอด ชินสุภัคกุล และเพื่อนนักศึกษาที่เริ่มต้นจากการเป็นแอปพลิเคชันรีวิวอาหาร ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการชอบใช้ Yelp.com

โดยธุรกิจเริ่มแรกล้มลุกคลุกฝุ่นเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วย Passion และไอเดียดีมาถูกทาง บวกกับช่วงเวลาอันเหมาะสมที่ผู้คนเข้าถึงสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลายมากขึ้น จนกลายเป็นว่า Wongnai ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ให้มีการศึกษาหาข้อมูล อ่านรีวิวก่อนทำการซื้อหาสินค้าและบริการต่าง ๆ

Wongnai เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนจะก้าวสู่เส้นทางของอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันนี้ โดยจับมือกับ FoodStory เปิดตัว Wongnai POS by FoodStory ระบบจัดการร้านอาหารที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้ประกอบการได้เชื่อมต่อกับผู้บริโภคผ่าน Wongnai รวมถึงแพลตฟอร์มอย่าง SCB Easy และ LINE MAN

ก่อนจะเดินหน้าสู่การเป็น O2O Platform เพื่อเชื่อมต่อบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันกับผู้บริโภคอย่างไร้รอยต่อ โดยได้คิดค้นและพัฒนาบริการ Online-to-Offline มากมาย ได้แก่ Wongnai x eatigo Reservations, Wongnai Massage at Home ฯลฯ โดยมุ่งมั่นที่จะเป็น ‘ซูเปอร์ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม’ ที่คนไทยสามารถใช้งานได้ทุกวัน

เข้าสู่เส้นทาง Food Platform : LINE MAN Wongnai

เดือนกรกฎาคม ปี 2020 LINE MAN และ Wongnai ได้รับเงินลงทุนมูลค่า 110 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3,300 ล้านบาท) จากบริษัท BRV Capital Management และประกาศควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการในชื่อ ‘LINE MAN Wongnai’ ในเดือนกันยายน 2020

และเดินหน้าสู่การเป็น Food Platform อันดับหนึ่งด้วยการสร้าง End-to-end Food Ecosystem ที่แข็งแกร่งที่สุดของไทย ตั้งแต่ออนไลน์ไปถึงออฟไลน์ ทั้งการค้นหาข้อมูลรีวิวร้านอาหาร การสั่งอาหารดีลิเวอรี บริการขนส่งออนดีมานด์อื่น ๆ รวมถึงโซลูชันสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร

โดยทลายกำแพงของ Corporate Identity (CI – การคิดแบบออกแบบเพื่อสร้างลักษณะเฉพาะของแบรนด์ เพื่อสร้างทิศทางของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำแก่ผู้บริโภค) โดยเป้าหมายหลักคือต้องการมอบ The Best Solution และ The Best Benefit แก่ลูกค้ารวมถึง Food Eco System ทั้งหมด

การเข้าสู่เส้นทาง Food Platform นี้เป็นบันไดให้ Wongnai ผลักดันตัวเองขึ้นไปให้ถึงเป้าหมายที่ลั่นวาจาไว้ คือการเป็น Unicorn รายแรกของประเทศไทย อีกทั้งยังติดอาวุธในการต่อสู้กับอุตสาหกรรม Food Delivery ในประเทศไทยที่เติบโตก้าวกระโดดเป็นอย่างมากจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา

ทุกแพลตฟอร์มต้องเร่งอัปเกรดตัวเองไปสู่การเป็น Super Application ที่ผู้ให้บริการแต่ละรายต้องเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม และคิดโปรโมชันให้ตรงใจผู้ใช้งานมากที่สุด เพื่อแย่งชิงรายได้รวมประมาณ 8,294 ล้านบาท ของอุตสาหกรรม Food Delivery ที่ Statista คาดการณ์ไว้ และประเมินว่าจะมีการเติบโตของรายได้ 13.5% ระหว่างปี 2020 – 2024 โดยประเมินว่ารายได้รวมของตลาดจะสูงถึง 13,722 ล้านบาท ในปี 2024

คลอดแพลตฟอร์มใหม่ จับตลาดสูงวัยเพิ่ม

ขณะที่แบรนด์คู่แข่งเร่งพัฒนาเติบโตและจ้องตะครุบส่วนแบ่งชิ้นเค้กในอุตสาหกรรม Food Delivery ให้ได้มากที่สุด LINE MAN Wongnai เองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ซ้ำยังคว้าเงินลงทุนกว่า 3,300 ล้านบาทจาก BRV Capital Management เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มโดยมีเป้าหมายในการขยายตลาด การควบรวมกับ Wongnai จึงเป็นสถานการณ์แบบ win-win มีแต่ได้กับได้

คลังข้อมูลของ Wongnai สามารถต่อยอดให้กับ LINE และ LINE MAN ในการให้บริการแก่ผู้บริโภค เช่น บริการสั่งซื้อสินค้าร้านสะดวกซื้อ การส่งพัสดุด่วน และแน่นอนว่าทำให้วงจร Food Delivery ของ LINE MAN เข้าถึงข้อมูลร้านอาหารได้มหาศาล

ล่าสุด LINE MAN สามารถให้บริการผู้บริโภคในส่วนร้านอาหารได้ถึงสองแสนร้านอาหารแล้ว และในอนาคตข้างหน้า คาดว่าจะสามารถเข้าถึงครบตามจำนวนร้านอาหารที่มีในแพลตฟอร์มของ Wongnai

และการเติบโตของอุตสาหกรรม Food Delivery ทำให้ LINE MAN Wongnai คลอดแพลตฟอร์มใหม่ ‘LINE MAN Mini App’ ขึ้นในแพลตฟอร์ม Chat App ของ LINE เพื่อนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้ผู้บริโภคสามารถสั่งอาหาร แชร์ร้านอาหาร ให้ระบบแนะนำร้านอาหาร รวมถึงเลือกร้านอาหารในพื้นที่ที่ใกล้ที่สุดเพื่อรองรับโปรโมชันค่าส่งศูนย์บาท

ทั้งหมดนี้ทำได้โดยไม่ต้องสลับแอปไปเปิดใช้งานในแอป LINE MAN เป็นการจูงใจลูกค้าด้วยความสะดวกสบาย โดยคุณวุฒิชัย น้ำใจประเสริฐ หรือคุณหยาง ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ LINE MAN Wongnai เปิดเผยว่า การยกระดับแพลตฟอร์มในครั้งนี้ทำได้เจาะถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ และได้ผลตอบรับอันเป็นที่น่าพอใจ

การทำให้สามารถเข้าถึงบริการได้ผ่าน Chat App นี่ถือเป็นจุดแข็งของ Wongnai ที่มีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง LINE Platform โดย LINE MAN Wongnai ได้พูดคุยกับ LINE Thailand เพื่อปรับแพลตฟอร์มให้ตอบรับความสะดวกสบายแก่ผู้บริโภคทั้ง Food Ecosystem จนเกิดเป็นโปรเจค LINE MAN Mini App ขึ้นมา

โดยผู้บริโภคสามารถกดสั่งอาหารได้เลยทาง LINE Application หรือจะเลือกออกมาสั่งใน LINE MAN Application ก็ได้ แต่ความสะดวกจริง ๆ ก็คือ มีแอปเดียวทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเข้าผ่าน Home Tap หรือ Wallet Tap ก็มีตัว Food Delivery อยู่ ทำให้สั่งอาหารได้ง่าย มอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะใช้แอป LINE MAN เหมือนเดิมหรือสั่งจาก LINE MAN Mini App ขึ้นอยู่กับการใช้ง่ายของผู้บริโภคและร้านอาหารต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ โดยทาง LINE MAN Wongmai ได้พิจารณาดูความเติบโตของการใช้งานของผู้บริโภคอยู่ตลอดเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม

แต่ทั้งนี้แล้วข้อมูลร้านอาหารทั้งหมดล้วนอยู่ในแพตลฟอร์มคือ Restaurant Solution ของ Wongnai ข้อมูลเหล่านั้นเชื่อมต่อกันอยู่แล้วโดยที่ร้านอาหารไม่ต้องอัปเดตหลายช่องทาง โดยที่ข้อมูลเหล่านั้นจะไม่รบกวนพื้นที่หน่วยความจำในสมาร์ทโฟน เนื่องจากเป็นเพียงการเชื่อมต่อ เป็น API Integration ที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลของ Database จาก Wongnai และ LINE MAN

คุณหยางอธิบายกับเราเพิ่มเติมว่า LINE MAN Mini App นี้ทำให้ LINE MAN Wongnai สามารถบุกตลาดพื้นที่ต่างจังหวัดได้อย่างลึกซึงและครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจาก LINE MAN Mini App จะช่วยแก้ Pain Point พฤติกรรมคนต่างจังหวัดที่ส่วนใหญ่มีพื้นที่ในสมาร์ทโฟนน้อย ไม่สะดวกจะโหลดแอปใหม่มาลงในเครื่อง ไม่เหมาะกับกลยุทธ์แบบที่ต้องโหลดอะไรเพิ่มเติมในสมาร์ทโฟนเหมือนผู้บริโภคในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่

และด้วยความที่ประเทศไทยมีจำนวน User ในการใช้ LINE เป็น Chat App หลักในจำนวนกว่า 47 ล้านคน ถือเป็นหนึ่งในการันตีที่ทำให้ผู้บริโภคในพื้นที่ต่างจังหวัดใช้บริการนี้เพิ่มขึ้น

“จากเดือนกันยายน 3 เดือนที่ผ่านมา กว่า 70% ของคนใช้ LINE MAN Mini App มีอายุมากกว่า 30 ปี แต่ในแง่ของ LINE MAN เรามีฐานข้อมูลผู้บริโภคที่ใช้งานแอปพลิเคชันนี้อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป กลายเป็นว่า LINE MAN Mini App ได้เข้าไปเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ มีตัวเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเซอร์วิสของ LINE MAN Wongnai ได้มากขึ้น

กลุ่มผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการ LINE MAN Mini App มียอดโตเร็วถึง 8 เท่า ซึ่งเราคาดการณ์ว่า Transection และยอดออร์เดอร์ต่าง ๆ ของ LINE MAN Mini App จะโตมากกว่า 10 เท่าเมื่อจบปี 2020” คุณหยางกล่าว

รับมือคู่แข่งด้วยการพัฒนาตัวเอง

หากเทียบพื้นที่ในการให้บริการ Foodpanda ย่อมนำมาเป็นอันดับหนึ่ง สำหรับการเจาะลึกถึงผู้บริโภคในพื้นที่ รายใหญ่บางรายอาจเพลียงพล้ำให้กับเจ้าเล็กเจ้าน้อยที่รู้พฤติกรรมคนท้องถิ่นมากกว่า ส่วนเจ้าของกิจการร้านอาหารอาจถูกใจแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Robinhood ที่ธนาคารไทยพาณิชย์สร้างมาดักเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ และเพื่อไม่ให้แพลตฟอร์มธนาคารตายจากไป แลกกับการไม่เก็บค่าส่วนแบ่งจากร้านอาหาร และยังเข้าถึงบริการเงินกู้ได้ง่ายขึ้น

กลยุทธ์เหล่านี้ทของทุกแพลตฟอร์มเป็นการงัดเอาไม้เด็ดที่ตนมีเพื่อรั้งผู้บริโภคไว้ให้มั่น นับเป็นการช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจร้านอาหาร และสำหรับธนาคารก็ได้ใจลูกค้าไปเต็ม ๆ ถือเป็นการสร้าง Customer Experience ให้กับลูกค้าที่มีต่อแพลตฟอร์มของตัวเอง การลงสนาม Food Delivery ของธนาคารจึงเป็นการทวงคืนผู้ใช้บริการให้กลับมาสู่อ้อมอกอีกครั้ง

ซึ่งธุรกิจนี้สุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดก็คือผู้บริโภค การพัฒนาทุกแพลตฟอร์มล้วนพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบาย ความง่าย ถูก เร็ว ดี เมื่อตอบสนองสิ่งเหล่านี้ได้แล้วจึงค่อยทุ่มเทไปยังด้านอื่นที่ตามมาคู่กัน เช่น คลาวด์คิทเช่น หรือ มาร์ทต่าง ๆ ที่ให้บริการเพิ่มเติมให้แพลตฟอร์ม อันจะเป็นการสร้างผลกำไรให้กับแพลตฟอร์มนี้ได้มากขึ้น หลังจากที่เผาเงินลงไปที่การทำโปรโมชันต่าง ๆ

การแข่งขันของ Food Delivery ในประเทศไทยจึงจะยังคงดุเดือดไปอีกพักใหญ่จนกว่าจะถึงจุดอิ่มตัว ซึ่งหากจะวัดกันว่าใครชนะ คงต้องดูกันในหลายมิติ ทั้งจำนวนพาร์เนอร์ จำนวนไรเดอร์ จำนวนผู้ใช้บริการ และที่สำคัญคือ ใครขาดทุนน้อยที่สุดในช่วงเวลานี้นั่นเอง โดยคุณหยางมองภาพการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ว่า จะยังคงสถานการณ์แบบนี้ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 – 3 ปี

“การรวมตัวกันของคู่แข่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ LINE MAN ถือกำเนิดดีลิเวอรีเป็นรายแรกในของประเทศไทยในปี 2016 ก็ได้ผ่านการแข่งขันทุกรูปแบบมาแล้ว โดยทุกการแข่งขันคือความท้าทาย ทีมของ LINE MAN Wongnai มี One Goal ทุกคนอยากสร้างอิมแพคให้กับตลาด อยาก Speed to Market ให้เร็วที่สุด มี Passion ที่จะเติมเต็มให้การให้บริการนี้แข็งแกร่งมากขึ้น และทำให้ทุกคนใน Ecosystem นี้ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ที่สุด ซึ่งก็คือ ผู้ใช้บริการ ร้านอาหาร และไรเดอร์

เราจะเป็นเซอร์วิสโพรไวเดอร์ที่คิดถึงกันอยู่เสมอ และเติบโตกับพาร์ทเนอร์ไปด้วยกัน สิ่งที่เราทำคือการสร้างอิมแพคให้กับตลาด และอย่างที่คุณยอดให้สัมภาษณ์อยู่เสมอคือ เราอยากเป็น First Unicorn ของประเทศไทย ทำให้เซอร์วิสนี้เป็นสิ่งที่คนไทยภูมิใจว่า LINE MAN กับ Wongnai สามารถมอบคุณค่าในการให้บริการที่ดีที่สุดให้กับคนไทย”

นี่คือสิ่งที่คุณหยางบอกเล่าให้เรารู้ถึงเป้าหมายที่ทาง Wongnai มุ่งเน้นก้าวเดินไปให้ถึง ซึ่งการได้ร่วมมือกับ LINE MAN จะทำให้ Goal ของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมาได้

แน่นอนว่าการแข่งขันที่รุนแรงและดุเดือดนี้อาจดูเหนื่อยยากสำหรับองค์กร แต่มองอีกทางก็ถือเป็นโอกาสเช่นกัน

เพราะเมื่อร้านอาหารเข้าถึงแพลตฟอร์มได้ง่ายขึ้น ก็จะเกิดการสร้างอาชีพอย่างคนส่งอาหาร หรือ ไรเดอร์

แน่นอนว่าสำหรับคนพัฒนาระบบหรือการคิดค้นวิธีที่จะสร้างประสบการณ์ใช้บริการที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค ก็มีเส้นทางให้เฉิดฉายเพิ่มเติมเหมือนกัน

โดยเราได้แอบรู้มาว่า LINE MAN Wongnai เองก็ต้องปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเหมือนกับการปรับระบบหลังบ้านเพื่อยกระดับแพลตฟอร์ม

โดยการที่ LINE MAN Wongnai เปิดกว้างให้กับทุกสายงานอาชีพ โดยหาคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆ ที่สุด

และไม่จำกัดเฉพาะคนที่ต้องเรียนจบตรงสายหรือมีประสบการณ์ตามตำแหน่งเท่านั้น จะทำให้ LINE MAN Wongnai กลายเป็นองค์กรที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจไม่แพ้นักลงทุนแน่นอน

สำหรับเส้นทางการเป็น Unicore ของ Wongnai นั้นเริ่มจะใกล้เข้าไปเรื่อย ๆ ตามที่คุณยอดผู้ก่อตั้งปักหมุดไว้

แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องรอดูว่าปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จนี้จะถูกเช็คลิสครบเมื่อไหร่

และต้องอย่าลืมว่าในส่วนของ Food Delivery ยังมีคู่แข่งสุดหินที่ประมาทไม่ได้รออยู่รอบด้าน

เช่น Foodpanda ที่เติบโต 10 เท่า จำนวนเรียกใช้บริการ Grab Food เพิ่มขึ้นเท่าตัว Grab Kitchen โต 3 เท่า Grab Mart มียอดสั่งซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตเพิ่ม 5 เท่า ซึ่งทั้งหมดเป็นโอกาสจากการระบาดของ COVID-19 ในปีที่ผ่านมา

เมื่อถามถึงสเตปต่อไป เราก็ได้คำตอบว่า Wongnai มีการตั้งเป้าหมายระยะสั้นด้วยการเน้นร่วมงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการขยายพื้นที่ให้บริการให้ครบทั่วทั้งประเทศภายในปี 2021 พัฒนาฟีเจอร์ให้บริการร้านอาหารเพิ่มเติมเพื่อเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อผู้ใช้งานเข้ากับร้านอาหาร

และในระยะยาว Wongnai ตั้งเป้าไปที่การเป็นแพลตฟอร์มอันดับ 1 ของประเทศไทย เนื่องจากมองว่าธุรกิจอาหารมีโอกาสสร้าง Unicorn ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ โดย Wongnai กับ LINE ก็จะจับมือกันก้าวไปสู่การเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญ หรือการเป็น Unicore รายแรกของประเทศไทยนั่นเอง

ซึ่งแม้จะยังไม่ชี้ชัดว่าจะต้องเป็นวิธีไหนที่ทำให้มุ่งไปสู่การเป็นยูนิคอร์น แต่เมื่อเทียบกับพฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ในอุตสาหกรรม Food Delivery ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 10 – 15% ทุกปี ในมูลค่าตลาดที่ Statista คาดการณ์ไว้ถึง 13,722 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับจำนวนสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมอื่นและมูลค่า

จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรม Food Delivery นั้นมีเส้นกราฟการเติบโตไม่ต่ำกว่า 3 ปี เป็นอย่างต่ำ นั่นพอจะทำให้เห็นภาพได้ว่า สิ่งที่ LINE MAN Wongnai คาดหวังกับการเป็นยูนิคอร์นรายแรกในเมืองไทยนั้นเป็นไปได้สูงมาก