ทำไม ‘ชาววีแกน’ ถึงเป็นกระแสสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารเกาหลีใต้?

ระบบห่วงโซ่อาหารของโลกถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงที่เกิด COVID-19 เพราะทำให้ประชาชนเกิดวิถีใหม่ด้วยการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น Vegan และ Plant–based Food จึงได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยหนึ่งในประเทศที่ตลาดอาหารวีแกน (Vegan) กำลังเติบโตโดดเด่น และน่าสนใจอย่างมากคือ เกาหลีใต้ เพราะในปัจจุบัน คนเกาหลีใต้เริ่มให้ความสนใจกับอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางด้านอาหาร ทำให้มีทางเลือกใหม่ๆ ในการรับประทาน เช่น เลือกที่จะงดเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ โดยมีกลุ่มผู้บริโภควีแกน ซึ่งก็คือ การไม่รับประทานอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ทุกชนิดและไม่มีขั้นตอนใดๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์รวมถึงไม่รับประทานไข่ นม และเครื่องปรุงรสต่างๆ โดยจะรับประทานอาหารที่ทำมาจากผัก ผลไม้และธัญพืชต่างๆ เท่านั้น

อีกทั้งไม่ซื้อหรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีการทดลองในสัตว์ (Cruelty-free) อีกด้วยวีแกนมีความแตกต่างกับมังสวิรัติ (Vegetarian) ที่จะงดเนื้อสัตว์แต่ยังรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์อย่างไข่และนมได้

โดยในช่วงที่ผ่านมาตลาดสินค้าอาหารสำหรับกลุ่มวีแกนเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในตลาดของเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ในช่วงกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวนของผู้บริโภควีแกนในประเทศเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านคนในปี 2564 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ดังนั้น อาหารสำหรับชาววีแกนจึงเป็นกระแสที่สำคัญในอุตสาหกรรมของอาหารของเกาหลี ณ ปัจจุบันโดยในปี 2564 มีสินค้าอาหารได้การรับรองถึง 286 ชนิดจาก Korea Agency of Vegan Certification and Services ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 114 ชนิดในปี 2563

นอกจากนี้ บริษัทอาหารหลายแห่งกำลังขยายการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Vegan Food เช่น อาหารวีแกนสำเร็จรูปพร้อมรับประทานผ่านร้านสะดวกซื้อ และคาดว่าขนาดตลาดจะขยายตัวในอนาคต เพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่หันมารับประทานอาหารประเภทนี้ในเกาหลีที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

เทรนด์ในตลาดสินค้าอาหารวีแกน (Vegan Food)
กระแสของการรับประทานอาหารแบบวีแกนได้รับการตอบรับที่ดีส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารวีแกนมีการพัฒนาทั้งในด้านของรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากเมนูอาหารที่ปรุงสดจากผัก ผลไม้ และธัญพืชแล้วยังมีการแปรรูปวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานเพื่อให้สะดวกต่อการทำอาหาร

และในปัจจุบัน เกาหลีใต้ได้เพิ่มความหลากหลายให้กับตลาดอาหารวีแกน โดยมีการผลิตสินค้าที่ทำจากพืช ซึ่งใช้วัตถุดิบจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว ข้าวโอ๊ต และอัลมอนด์โดยพัฒนารสชาติกลิ่น และสีให้ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ทดแทน เกี๊ยว กิมจิ หรือเครื่องดื่มอย่างนมโอ๊ต เป็นต้น

โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืช (Plant-Based Meat) ถือเป็น 1 ในสินค้าอาหารที่ผู้บริโภควีแกน สามารถรับประทานได้ จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ด้วยรสชาติและลักษณะที่เหมือนเนื้อสัตว์ สำหรับวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืชนั้น สามารถแบ่งได้เป็นถั่ว 62% รองลงมาคือผัก 29.3% และธัญพืช 8.7% ของตลาดทั้งหมด

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีชื่อเป็นครัวของโลกแล้ว การผลิตอาหารที่ตอบรับกับกระแสสุขภาพเหล่านี้ ถือว่าเป็นโอกาสอย่างมากที่จะส่งออก ผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนจากพืช (Plant-Based Food) และอาหารสำเร็จรูปวีแกนต่าง ๆ

ที่มา : Status of Detailed Market of Processed Food in 2022, Vegan Food, Food Information Statistics System ,สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน ,สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

เขียนและเรียบเรียง : พรรณรุ้ง คุ้มพงษ์พันธ์

ติดตาม Business+ ได้ที่ : https://www.thebusinessplus.com/
Line Business+ ได้ที่ : https://lin.ee/pbIHCuS
IG ได้ที่ : https://www.instagram.com/businessplus.newgen2021/

#Businessplus #Business+ #นิตยสารBusinessplus #VeganFood